svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

จัดตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยานที่สนามบินโคราช

ภายหลังจากที่กระทรวงคมนาคม ได้นำโครงการจัดตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยานครบวงจร มาปัดฝุ่นใหม่ เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของธุรกิจอากาศยานในอนาคต และชิงความได้เปรียบช่วงเปิดเขตเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC โดยเล็งพื้นที่ของท่าอากาศยานนครราชสีมา เป็นที่ตั้งของศูนย์ฯ เนื่องจากมีความพร้อมในหลายๆ ด้าน

ท่าอากาศยานนครราชสีมา อยู่ในความดูแลของกรมการบินพลเรือน ซึ่งมีพื้นที่ขนาดใหญ่ประมาณ 4,625 ไร่ ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา อยู่ห่างจากตัวเมืองนครราชสีมา ประมาณ 26 กิโลเมตร สภาพในปัจจุบันมีตัวอาคารผู้โดยสาร 2 ชั้น พื้นที่ใช้สอยของอาคารประมาณ 5,500 ตารางเมตร ซึ่งจะมีเครื่องอำนวยความสะดวกสำหรับผู้โดยสารอย่างครบครัน ทั้ง ห้องผู้โดยสารขาเข้า-ขาออก สามารถรองรับผู้โดยสารได้วันละประมาณ 4,000 คน, ห้องอำนวยการ ห้องน้ำ และจุดตั้งอุปกรณ์ตรวจอาวุธ ซึ่งภาพโดยรวมของอาคารผู้โดยสาร ยังสามารถใช้งานได้เป็นอย่างดี

ขณะเดียวกันลานบิน และรันเวย์ มีพื้นที่จอดเครื่องบินขนาดใหญ่ กว้าง 85 เมตร ยาว 323 เมตร ซึ่งสามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ โบอิ้ง 737 ได้ถึง 4 ลำ ส่วนรันเวย์นั้น มีความกว้าง 45 เมตร ยาวถึง 2,100 เมตร และมีทางขับขนาน หรือแทกซี่เวย์ (Taxi Way) ขนาดกว้าง 23 เมตร ยาว 320 เมตร อยู่ 2 สาย ซึ่งจะมีเครื่องช่วยเดินอากาศยานแบบทัศนะวิสัยติดตั้งพร้อมที่สามารถใช้งานได้เลย 
สำหรับพื้นที่ 2 ฝั่งของตัวอาคารผู้โดยสารนั้น มีพื้นที่ทั้งหมด 1,333 ไร่ โดยแบ่งออกเป็นฝั่งซ้ายอาคาร จำนวน 605 ไร่ ฝั่งขวา 728 ไร่ ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ป่ารกร้าง ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร และช่วงหน้าแล้งมักจะประสบปัญหาไฟป่าเกิดขึ้นประจำ หาก กนอ.สามารถดึงบริษัทเอกชน ให้มาลงทุนทำศูนย์ซ่อมอากาศยานครบวงจรได้ ก็จะทำให้พื้นที่ดังกล่าวได้รับการพัฒนาเป็นโรงงานอุตสาหกรรมอากาศยานขนาดใหญ่ ที่มีศักยภาพมากที่สุดในอาเซียน อีกทั้งยังสามารถประหยัดการลงทุนมหาศาล เนื่องจากมีสนามบินนครราชสีมา ที่มีความพร้อมทุกด้านอยู่แล้ว