svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เผย"ส้มไทย"เกินครึ่งไม่ผ่านมาตรฐาน เสี่ยงสารเคมีตกค้างเพียบ

เนชั่นออนไลน์ เว็ปไซต์ข่าว ทันทุกสถานการณ์แบบนาทีต่อนาที เสนอครบทุกข่าว เจาะลึกวิเคราะห์ทุกประเด็น เพราะทุกสนามข่าวเราคือตัวจริง" | เนชั่นออนไลน์

นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดงาน "คืนความสุขคนไทย ส้มปลอดภัย คนไทยยิ้มได้" ว่า ภาพรวมผลการตรวจวิเคราะห์สารเคมีตกค้างในส้ม ทั้งส่วนที่ด่านนำเข้าสินค้า และตามปลายทางคือท้องตลาด พบว่า มีสารเคมีตกค้างเกินปริมาณที่กฎหมายกำหนดประมาณ 3-5% ที่น่าห่วงคือบางครั้งไม่สามารถตรวจเช็กย้อนกลับไปได้ว่าส้มดังกล่าวมีที่มาจากแหล่งใดหรือฟาร์มใด จึงร่วมกับกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ห้างค้าปลีก จัดทำระบบมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัย เพื่อตรวจสอบย้อนกลับไปยังต้นทางได้ โดยให้เกษตรกรผู้ปลูกส้มเข้าสู่ระบบการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ส่วนห้างค้าส่ง ค้าปลีก รวมไปจนถึงร้านค้าก็คัดเลือกส้มที่ผ่านมาตรฐาน GAP มาจำหน่าย โดยขณะนี้มีห้างค้าปลีกนำร่อง 5 แห่งคือ เทสโก้โลตัส แม็คโคร ท็อปส์/เซ็นทรัลฟู้ดฮอลล์ บิ๊กซี และเดอะมอลล์

นายวัชรินทร์ อุปนิสาคร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า ขณะนี้พื้นที่ในการปลูกส้มน้อยลงเรื่อยๆ จากปี 2547 ที่มีพื้นที่ประมาณ 466,000 ไร่ ปัจจุบันเหลือเพียง 102,000 ไร่ ผลผลิตประมาณ 180,000 ตัน จำนวนนี้เข้าสู่ระบบมาตรฐาน GAP เพียง 700 กว่าฟาร์ม เฉลี่ยประมาณฟาร์มละ 50 ไร่ ซึ่งรวมแล้วยังไม่ถึง 50% ของพื้นที่ปลูกส้มทั้งหมด สาเหตุที่เกษตรกรส่วนมากไม่เข้าสู่ระบบนั้น เพราะต้องผลิตส้มให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนด ปริมาณสารเคมีตกค้างต้องไม่เกิน ซึ่งเขากังวลว่าจะทำไม่ได้ อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯจะเร่งดำเนินการให้เกษตรกรผู้ปลูกส้มเข้าสู่ระบบ ทั้งนี้ ส้มที่ผ่านมาตรฐานส่วนใหญ่จะเป็นส้มส่งออก ขณะที่ส้มส่วนที่เหลือที่ไม่ผ่านมาตรฐานนั้นมักจะจำหน่ายในประเทศ

"ส้มถือเป็นพืชชั้นครู การปลูกให้งอกงามจึงยาก จำเป็นต้องมีความรู้ และมีโรคก่อกวนมาก ต้องใช้ยาในการดูแลเยอะ ทำให้คนเลิกปลูกส้มกันมาก อย่างพื้นที่บางมดก็ไม่มีแล้ว รังสิต ปทุมธานีก็หันมาปลูกปาล์มแทน ส่วนใหญ่ฟาร์มส้มขณะนี้จะอยู่ทางแทบพื้นที่ 3 จังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ เชียงราย และน่าน ทำให้ส้มที่ผลิตในประเทศไม่เพียงพอต่อการบริโภคของคนไทย ประกอบกับการส่งออก ส้มแมนดารินจากจีนเข้ามาตีตลาด โดยจะเข้ามามากในช่วง ต.ค.-มี.ค. ประมาณ 30,000-50,000 ตัน ซึ่งทางกระทรวงเกษตรฯ ก็จะมีการตรวจสอบการนำเข้าเช่นกัน เช่น ส้มต้องไม่มีใบติดมา เพราะอาจนำแมลงศัตรูพืชเข้ามาในประเทศ การตรวจสารเคมีตกค้าง" นายวัชรินทร์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) เปิดเผยข้อมูลพบการนำยาปฏิชีวนะที่ใช้ในคนมาใช้ในการดูแลสวนส้ม จนอาจทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา นายวัชรินทร์ กล่าวว่า ส้มจะมีโรคชนิดหนึ่งคอยก่อกวนนั่นคือ โรคกรีนนิ่ง ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่มาจากเพลี้ยไก่แจ้ ปัจจุบันยังไม่มีทางในการรักษา จึงมีการวิจัยทดลองโดยใช้ยาปฏิชีวนะมาใช้ในการรักษา และตรวจหาสารตกค้างจากยาปฏิชีวนะในผลส้ม อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้น่าเป็นห่วงมาก เพราะเขาไปขอใช้พื้นที่ทดลองในฟาร์มจริงๆ ทั้งที่ควรทดลองในระดับห้องปฏิบัติการก่อน ซึ่งการไปทดลองในฟาร์มเช่นนี้ อาจทำให้เพลี้ยไก่แจ้ระบาดไปสู่ต้นส้มส่วนอื่นๆ และอาจทำให้คนอื่นเข้าใจผิดว่าสามารถใช้ยาปฏิชีวนะรักษาโรคกรีนนิ่งได้