ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากรณีปริมาณน้ำสะสมในเขื่อนใหญ่ 2 เขื่อนหลักของประเทศได้แก่ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก และเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ช่วงฤดูฝนมีปริมาณกักเก็บน้ำน้อยที่สุดในรอบ 10 ปี ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ทั้งภาวะภัยแล้งรุนแรงและมีผลต่อการใช้น้ำในภาคการเกษตร กระทั่งรัฐบาลประกาศห้ามทำนาปรัง 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยจะชดเชยจ่ายให้ชาวนาไร่ละ 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 15 ไร่ และจะจ้างเป็นแรงงานจ่ายวันละ 300 บาท ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวทุกพื้นที่
เกี่ยวกับรื่องนี้ นายกิตติศักดิ์ รัตนะวราหะ ประธานเครือข่ายชาวนาภาคเหนือ เปิดเผยว่า ได้มีการระดมประชาสัมพันธ์ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวทุกจังหวัดในภาคเหนือ ในการงดทำนาปรังในปีนี้ โดยเฉพาะพื้นที่นาที่ไม่มีบ่อบาดาลและไม่ได้อยู่ริมแม่น้ำ ไม่ควรทำนาปรังอย่างเด็ดขาด รวมทั้งการงดส่งน้ำชลประทาน ตั้งแต่ที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดวิกฤติภัยแล้ง ซึ่งก็มีชาวนาบางส่วนที่ไม่ติดตามข่าวสารและยังฝืนทำนา อาจจะเกิดความเดือดร้อนในภายหลัง
ส่วนเกษตรกรในพื้นที่ชลประทานก็จำเป็นต้องยอมรับเงื่อนไข ตามที่รัฐบาลกำหนดและดิ้นรนกันต่อไป ข้อดีก็คือจะไม่มีการแย่งน้ำกันเกิดขึ้น เพราะไม่มีน้ำปล่อยมายังชลประทานเลย ส่วนพื้นที่นาที่อยู่ริมแม่น้ำอาจจะพออยู่ได้เพราะสามารถสูบน้ำจากแม่น้ำขึ้นมา และไม่สามารถห้ามได้เพราะเป็นน้ำสาธารณะ แต่ก็มีเพียงส่วนน้อยจากพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมดในประเทศ