svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

"มลพิษโซเชียลฯ" กระแสดิสเครดิตทางการเมืองท่ามกลางวิกฤต "โควิด-19"

13 พฤษภาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทย ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างขวางบนโลกออนไลน์ โดยมีจำนวนไม่น้อยที่พุ่งเป้าหวังผลทางการเมือง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสารมองว่า นี่คือ "มลพิษโซเชียลฯ" ที่ใช้สื่อโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือโจมตีฝ่ายตรงข้าม แทนที่จะร่วมมือร่วมใจกันฝ่าวิกฤต

นายพันธ์ศักดิ์ อาภาขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสารให้มุมมองจากสถานการณ์นี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยระบุว่า...
1. นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ตั้งแต่เดือน เม.ย.เป็นต้นมา กระแสบนสื่อสังคมออนไลน์ที่ขาดการสร้างสรรค์ปรากฎขึ้นมากจนผิดสังเกต โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเกี่ยวกับโควิดบนสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งแหล่งที่พอเชื่อถือได้ และไม่ทราบแหล่งที่มา ได้สร้างความสับสนต่อผู้รับข่าวสารเป็นอย่างยิ่ง
แม้แต่บุคลากรทางการแพทย์บางรายได้ออกมาให้ข้อมูลซึ่งตรงกันข้ามกับภาครัฐอย่างสิ้นเชิง โดยใช้โซเชียลมีเดียเกาะกระแสโควิด จนทำให้เกิดความสับสนและต้นสังกัดต้องออกมาแถลงข่าวว่าเป็นความเห็นส่วนตัว
ยิ่งพิสูจน์ให้เห็นถึงโลกของโซเชียลมีเดียที่ทุกคนสามารถเป็น "ผู้ผลิตสื่อ" ( producer) ได้โดยไม่ต้องผ่านการกลั่นกรองจากผู้ใด นอกจากการนำเสนอความเห็นของตัวเองหรือส่งต่อความเห็นที่ตัวเองคิดว่าเป็นประโยชน์และถูกจริตของตนเอง จนทำให้ผู้คนไม่แน่ใจว่าจะเชื่อข้อมูลจากแหล่งใด และกลายเป็นสภาวะการเกิดพอลลูชั่น (มลพิษ) ของข้อมูลบนแพลตฟอร์มต่างๆ อย่างเห็นได้ชัด
สังคมไทยจึงอยู่ในภาวะที่เรียกว่า "ความเห็นและความเชื่อส่วนตัว มีอิทธิพลเหนือกว่าความจริง" (Posttruth)
2. เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงการระบาดระลอกที่ 3 ของโควิด-19 มีผู้มีชื่อเสียงหลายคนทั้งนักการเมือง ดารานักร้อง และศิลปินตลก ติดโควิดกันถ้วนหน้า และเมื่อศิลปินตลกได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา ได้เกิดกระแสในโซเชียลมีเดียหลากหลาย ทั้งให้กำลังใจอย่างล้นหลาม แต่แปลกที่กลับมีผู้คนบางส่วนใช้สถานการณ์ป่วยไข้ของ "ค่อม ชวนชื่น" ถากถาง เยาะเย้ย หรือบางรายถึงขั้นสาปแช่งก็มี
แสดงให้เห็นว่าโซเชียลมีเดียเต็มไปด้วยข้อมูลทั้งสร้างสรรค์และเป็นพิษคละเคล้าอยู่บนแพลตฟอร์มเดียวกัน

"มลพิษโซเชียลฯ" กระแสดิสเครดิตทางการเมืองท่ามกลางวิกฤต "โควิด-19"





3. ข้อมูลต่างๆ ที่เผยแพร่กันอยู่บนสื่อโซเชียลฯในช่วงเวลาเดือนเศษที่ผ่านมา อาจแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มได้แก่

  • ข้อมูลทั่วไปของโควิดที่มาจากทั้งบุคลากรทางการแพทย์ นักการเมือง นักวิชาการ สื่อ และบุคคลทั่วไป ทั้งที่เป็นความจริงและความเห็น
  • ข้อมูลที่มีการโจมตีซึ่งกันและกันอย่างตรงไปตรงมา
  • ข้อมูลหลอกลวง ปั้นน้ำเป็นตัวเพื่อให้ผู้คนเกิดความสับสน
  • ข้อมูลเหน็บแนม เยาะเย้ย ประชดประชัน
  • ข้อมูลที่ปั่นหัวผู้คนเพื่อหวังผลในทางใดทางหนึ่ง

  • 4. เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดกระแสบนสื่อโซเชียลฯในช่วงเดือน เม.ย.จนถึงปัจจุบัน พบว่ามี 4 เหตุการณ์ ที่ผู้คนให้ความสนใจเป็นพิเศษ เป็นต้นว่า
    4.1 การถกเถียงกันเรื่องวัคซีน เนื่องจากวัคซีนโควิดเป็นวัคซีนชนิดใหม่ แม้ว่าจะมีการยืนยันและให้ความเห็นจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญว่าสามารถฉีดได้และมีผลข้างเคียงน้อยเมื่อเทียบกับผลจากการติดเชื้อ แต่ก็มีกระแสบนสื่อโซเชียลฯถกเถียงกันถึงทั้งข้อดีข้อเสียของวัคซีนแต่ละยี่ห้อ ผลกระทบที่ได้รับหลังจากการฉีดวัคซีน การเปรียบเทียบมาตรการรับมือกับโควิดของประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ ซึ่งเป็นไปในทางตำหนิติเตียนภาครัฐและบุคลากรทางการแพทย์ และบางคนถึงกับใช้คำที่ค่อนไปทางหยาบคายและส่อไปในทางโจมตีและดิสเครดิตรัฐบาลมากกว่าข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์
    4.2 นักการเมืองติดโควิด การที่นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลติดโควิดโดยมีการเชื่อมโยงไปถึงสถานบันเทิงย่านทองหล่อ เป็นจุดอ่อนที่ทำให้ถูกนำมาเป็นประเด็นถกเถียงอย่างกว้างขวางบนสื่อโซเชียลฯ และน่าจะส่งผลกระทบต่อตัวนักการเมืองเองและรัฐบาลในแง่ของการบริหารจัดการการแพร่กระจายของโรคอยู่พอสมควร เพราะมีการกล่าวหากันว่าคนในรัฐบาลคือตัวการแพร่เชื้อโรค
    4.3 ศิลปินตลกติดโควิดและเสียชีวิต หลังจากกระแสข่าวนักการเมืองฟากฝั่งรัฐบาลจางลง ข่าวศิลปินตลกชั้นนำติดโควิดกลายเป็นข่าวดังทั้งบนสื่อกระแสหลักและสื่อโซเชียลมีเดีย สิ่งที่คนใกล้ชิดพอจะทำได้คือใช้สื่อโซเชียลฯในมือร้องขอชีวิตให้กับ "ค่อม ชวนชื่น" แต่กระนั้นก็ยังมีคำเยาะเย้ยถากถางทั้งจากคนทั่วไปและจากพวกอิงการเมืองที่กล่าวหาว่ามีการใช้เส้นสายและอ้างถึงชนชั้นทางสังคม
    แม้กระทั่งถึงวันที่ "ค่อม ชวนชื่น" เสียชีวิต ยังมีการเกาะกระแสคนตายเพื่อสนองความต้องการทางการเมือง โดยไม่ได้คำนึงถึงบาปบุญคุณโทษและกาลเทศะ
    การเยาะเย้ยคนเจ็บสาปแช่งคนตายบนโซเชียลมีเดียจึงเป็นการแสดงให้เห็นถึงการใช้โซเชียลมีเดียในทางไม่สร้างสรรค์และอาจเข้าข่ายพวกป่วนเว็บ (Troll) ที่ใช้โลกออนไลน์เพื่อสร้างความโกรธ กระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งเพื่อความหรรษาของตัวเองหรือตีกระทบไปถึงผู้ที่ตนเองไม่ชอบ
    และแทบไม่น่าเชื่อว่าในสังคมไทยที่เคยเปี่ยมล้นไปด้วยน้ำใจและความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน กลายเป็นสังคมที่ใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียโจมตีกันอย่างสนุกมือบนความเป็นความตายของมนุษย์คนหนึ่งโดยมีธงการเมืองนำ
    4.4 ปลุกกระแสย้ายประเทศ กระแสที่มาแรงที่สุดบนโซเชียลมีเดียเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาคงไม่พ้นกระแสการเชิญชวนให้มีการย้ายประเทศบนแพลตฟอร์ม Facebook และได้รับความสนใจจากผู้คนบนโซเชียลและคนทั่วไปอย่างกว้างขวางไม่เว้นแม้กระทั่งสถานทูตสวีเดนก็ออกมารับลูกทันควันรวดเร็วกว่าคนไทยบางคนเสียอีก
    การย้ายถิ่นทำกินของมนุษย์เพื่อชีวิตที่ดีกว่าเป็นเรื่องปกติ คนไทยเองจำนวนมากออกไปทำมาหากินขุดทองต่างถิ่นเมื่อหลายสิบปีก่อน และได้สร้างชื่อเสียงไว้มากมายทั้งด้านฝีมือแรงงานและอาหารไทย และคนไทยต่างถิ่นมักสำนึกถึงบุญคุณของแผ่นดินเกิดอยู่เสมอ หลายคนอยากกลับมาตายเมืองไทย ขณะที่หลายคนต้องใช้ชีวิตอยู่ต่างแดนเพื่อการทำมาหากิน แต่ก็มิได้รังเกียจเดียจฉันท์บ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองแต่อย่างใด
    การใช้สื่อโซเชียลฯ เพื่อปลุกกระแสการย้ายประเทศอาจเป็นการรูปแบบการแสดงออกถึงความไม่พอใจในสิ่งที่ตัวเองเผชิญอยู่ในประเทศไทย เช่น ไม่ชอบรัฐบาลหรือต้องการ แสวงหาเสรีภาพในรูปแบบอื่น หรืออึดอัดต่อระบบการปกครอง ฯลฯ การปลุกกระแสย้ายประเทศจึงเป็นเสมือนปรากฏการณ์ที่ต้องการหลีกหนีโลกแห่งความเป็นจริง (Escapism) ชั่วคราวโดยอาศัยสื่อโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือ ทำให้การหนีความจริงเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนทำได้ง่ายขึ้น แต่การหลีกหนีความจริงในลักษณะนี้มักไม่ได้ผลในทางปฏิบัติ แต่อาจมีนัยอื่นแฝงอยู่ เช่น เพื่อการประท้วง ต่อต้านหรือตลกขบขัน เป็นต้น
    การรับลูกของสถานทูตสวีเดนประจำประเทศไทยซึ่งมีนัยว่าเชิญชวนไปอยู่สวีเดนนั้น ในทางปฏิบัติเป็นไปได้แต่ไม่ง่ายนัก การตอบสนองต่อกระแสการย้ายประเทศบนโลกออนไลน์จึงตีความได้ว่า สถานทูตสวีเดนรู้ดีว่ากระแสการย้ายประเทศบนโลกออนไลน์นั้นคือภาพลวงตา เป็นมุขบนโลกออนไลน์ที่คนกลุ่มหนึ่งสร้างขึ้นเพื่อหนีจากความจริงไปชั่วขณะ โดยใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือ และเป็นภารกิจที่ไม่ได้หวังผลสำเร็จในการย้ายประเทศแต่อย่างใด แต่อาจมีนัยอื่นซ่อนเร้นอยู่
    เหตุการณ์ร้อนแรงบนสื่อโซเชียลฯที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่า สื่อโซเชียลฯอยู่ในภาวะที่เต็มไปด้วยมลพิษทางข้อมูลซึ่งกำลังทวีคูณขึ้นในทุกวินาที ภาวะมลพิษบนแพลตฟอร์โซเชียลมีเดียจึงไม่ต่างจากพิษของฝุ่น pm 2.5 ซึ่งมาทุกฤดูของการเผาป่า แต่มลพิษบนแพลตฟอร์มเกิดขึ้นได้ตลอดทุกฤดูกาล และยากที่จะกำจัด โดยข้อมูลที่หวังผลทางการเมืองมักแฝงมากับโซเชียลมีเดียเสมอ
    อย่างไรก็ตาม การใช้โซเชียลมีเดียเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองสามารถกระทำได้ในสถานการณ์ปกติ แต่การฉกฉวยสถานการณ์โรคระบาดร้ายแรงของโควิด-19 เพื่อดิสเครดิตและโจมตีกันทางการเมืองคือความเห็นแก่ตัว เพราะไม่เพียงแต่จะทำลายขวัญและกำลังใจของบุคลากรทางการแพทย์แล้ว ยังซ้ำเติมความทุกข์ของคนไทยที่กำลังอยู่ในภาวะอกสั่นขวัญหายอีกด้วย

    logoline