svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ศบค.รับพบโควิดสายพันธุ์บราซิล ในสถานที่กักกันของรัฐ ไม่พบแพร่ระบาดในชุมชน

05 พฤษภาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศบค. ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 2,112 ราย ดับอีก 15 ราย รวม 318 ราย ป่วยใหม่ 2,112 ราย ป่วยหนัก 1,042 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจอีก 343 ราย รับพบโควิดสายพันธุ์บราซิล ในสถานที่กักกันของรัฐ - ไม่พบแพร่ระบาดในชุมชน

วันนี้ (5พ.ค.) แพทย์หญิง อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ประจำวันพุธที่ 5 พฤษภาคม 2564 ว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 99 ของโลก พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,112 ราย พบผู้ป่วยยืนยันสะสม 74,900 ราย รักษาอยู่ 30,222 ราย แบ่งเป็นรักษาในโรงพยาบาล 21,608 ราย และโรงพยาบาลสนาม 8,614 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 1,042 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 343 ราย เสียชีวิตใหม่ 15 ราย รวมเสียชีวิต 318 คน
โดยผู้เสียชีวิตแบ่งเป็นผู้ป่วยชาย 8 ราย และผู้ป่วยหญิง 7 ราย แบ่งเป็นกรุงเทพมหานคร 4 ราย, นนทบุรี, สุโขทัยจังหวัดละ 2 ราย, ปทุมธานี, ระยอง, ยะลา, อยุธยา, ประจวบคีรีขันธ์, นครพนมและนครปฐมจังหวัดละ 1 ราย
ซึ่งผู้ติดเชื้อรายใหม่แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 2,107 ราย เป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศเข้า State Quarantine 5 ราย เป็นการค้นหาเชิงรุก/โรงงาน 152 ราย และเข้าระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 1,955 ราย
ทั้งนี้ยอดการฉีดวัคซีนในประเทศไทยสะสมแบ่งเป็นฉีดวัคซีนเข็มแรก 1,150,564 ราย เพิ่มขึ้น 444,493 ราย และเข็มที่สองจำนวน 422,511 ราย เพิ่มขึ้น 29,965 ราย
โดยยอดรวม ผู้ติดเชื้อในพื้นที่ กรุงเทพฯและปริมณฑลอยู่ที่ 1,314 รายจังหวัดอื่นๆ 73 จังหวัด793 ราย โดย 10 ลำดับจังหวัดที่ติดเชื้อสูงสุดประกอบด้วยกรุงเทพฯ 789 ราย นนทบุรี 249 ราย สมุทรปราการ 226 ราย ชลบุรี 110 ราย สุราษฎร์ธานี 65 ราย สมุทรสาคร 51 รายปทุมธานี 50 ราย เชียงใหม่ 40 ราย สงขลา 36 ราย นครศรีธรรมราช 32 รายและปัตตานี 32 ราย

นอกจากนี้ สืบเนื่องจากการประชุมบ่ายวานนี้ ที่มีพลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติหรือสมช.ในฐานะผอ.ศปก.ศบค. มีการทำรายละเอียดคำสั่งเสนอนายกรัฐมนตรีลงนาม ตั้งแต่เมื่อวานนี้ เสนอแต่งตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ โควิด - 19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เพื่อเป็นการบูรณาการการทำงาน โดยมีนายกรัฐมนตรีในฐานะผอ.ศบค.จะเป็นผู้อำนวยการศูนย์ โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 5 ฝ่ายประกอบด้วย ฝ่ายอำนวยการ ฝ่ายปฏิบัติการการตรวจเชิงรุก ฝ่ายบริหารจัดการผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยง ฝ่ายจัดการบริหารพื้นที่ และฝ่ายบริหารจัดการการฉีดวัคซีน โดยทั้งหมดนี้จะมีผู้อำนวยการทุกเขต 50 เขตเป็นผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมการแพร่ระบาด โควิด -19 ในระดับเขต ซึ่งแต่ละเขตจะมีการทำงานประสานกันในเรื่องข้อมูลบริหารเตียงการดูแลผู้ติดเชื้อและผู้เสี่ยงสูง และกระจายวัคซีน เพื่อการแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านสาธารณสุข นำโดย นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายแพทย์อุดมคชินทร นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา นอกจากนี้คณะกรรมการที่ปรึกษายังมีคณบดีในหลายๆหน่วยงานหลายองค์กรเป็นคณะผู้บริหารในแต่ละองค์กรที่จะเข้ามาช่วยกัน เพื่อให้สถานการณ์ในกรุงเทพฯและปริมณฑลนั้นลดลงได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนการทำงานของ 50 เขต แต่เห็นการรายงานผู้ติดเชื้อ ที่ผ่านมาในเขตคลองเตย เขตปทุมวัน ซึ่งมีการเริ่มทำงานไปแล้วโดยในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้มีการรายงานการแพร่ระบาดในส่วนของเขตปทุมวัน โดยผู้อำนวยการเขตปทุมวันได้นำเสนอข้อมูล ซึ่งในส่วนเขตปทุมวัน สอดคล้องกับการคัดกรองเชิงรุกในชุมชนที่ทำอยู่อย่างต่อเนื่อง จาก 5 เมษายนถึง 4 พฤษภาคม มีการตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่ชุมชนยอดรวม 30,000 ราย 1,586 รายคิดเป็น 3.97 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ชุมชนแขวงลุมพินีแขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน มีพื้นที่อยู่ที่ 5.6 ตารางเมตร มีชุมชนอาศัยหนาแน่น 6 ชุมชน และ 1 เคหะชุมชน มีประชากรทั้งสิ้น 29581 คน พบรายงานผู้ติดเชื้อ 162 ราย ซึ่งทั้งหมดเข้ากระบวนการรักษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอีก 304 คนอยู่ในเกณฑ์ผู้สัมผัสเสียงสูง ซึ่งเขตปทุมวันได้ให้กักตัวอยู่ที่บ้าน ซึ่งไม่ใช่ Home quarantine เนื่องจากยังไม่ใช่ผู้ป่วย ส่วนการพักคอยการส่งต่ออยู่ในแผนที่จัดขึ้นใน 50 เขต
ส่วนในพื้นที่กรุงเทพมหานครจะมีการลงพื้นที่ตรวจคัดกรองเชิงรุกเพิ่มเติม ในส่วนชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ เคหะบ่อนไก่ และในวันที่ 5- 10 พฤษภาคม จะยังมีการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องวันละอย่างน้อย 2000 คนต่อวัน และจะลงตรวจคัดกรองเชิงรุกในสถานประกอบการอีก 1,000 คน ส่วนเขตอื่นๆก็มีการทำงานอย่างคู่ขนาน เช่นคลองเตย มีการลงพื้นที่เพื่อที่จะคัดกรองเชิงรุก การฉีดวัคซีน
ทั้งนี้ทางกรุงเทพฯจะมีการหารือร่วมกันในการกระจายการฉีดวัคซีน ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงรวมถึงความพร้อมในการบริหารจัดการ เนื่องจากมีประชากรรวมแล้วกว่า 7 ล้านคน การระดมฉีดวัคซีน 50 เขตในกรุงเทพฯน่าจะอยู่ที่ 60,000 รายต่อวันเป็นอย่างน้อย
ส่วนกรณีมีการเปิดเผยข้อมูลว่ามีการพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์บราซิลในประเทศไทยแล้ว แพทย์หญิงอภิสมัย กล่าวว่า ตอนนี้การที่มีบุคคลเดินทางเข้าประเทศไทยก็จะได้รับการจัดสรรให้อยู่ในที่กักกันที่รัฐจัดให้ นอกจากจะมีการตัดตรวจหาโควิด-19 แล้วทางกระทรวงสาธารณสุขยังได้เพิ่มการตรวจสายพันธุ์ด้วยว่านอกจากอังกฤษแล้วมีสายพันธุ์อื่นหรือไม่ ซึ่งพบเพียงแต่ในสถานกักกัน ที่เขาได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม แต่ในเบื้องต้นยังไม่พบการแพร่ระบาดในส่วนของชุมชน

logoline