svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

"ลุงตู่"กระเตงต่อ เมินปรับ ครม.-ปิดทาง"รัฐบาลข้างน้อย"

04 พฤษภาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สถานการณ์การเมืองในขณะนี้ต้องบอกว่า โควิดระบาดระลอก 3 ทำให้ "รัฐบาลลุงตู่" ไปต่อลำบาก เพราะมีหลายปัญหามาประดัง และหลายๆ ส่วนถูกนำไปใช้ขยายผลทางการเมือง

ปัญหาที่หลักๆ ที่เผชิญก็คือ 
1. จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นสูงกว่าการระบาด 2 ระลอกที่ผ่านมา แม้ตัวเลขจะยังห่างไกลจากการระบาดใหญ่ในหลายๆ ประเทศ รวมทั้งอัตราการเสียชีวิตทื่คิดเป็นเปอร์เซนต์เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วย ก็ยังอยู่ในค่าเฉลึ่ย ไม่สูงกว่าต่างประเทศ (เป็นข้อมูลจากแพทย์) แต่ตัวเลขที่สูงขึ้น ก็สร้างความตื่นตระหนักให้กับประชาชน และถูกนำมาขยายผลทางการเมือง 
2. ปัญหาการจัดหาวัคซีน และการได้รับวัคซีนล่าช้า หากไม่เกิดการระบาดระลอก 3 คงไม่มีเสียงก่นด่าสักเท่าไหร่ เพราะความจำเป็นในการฉีดวัคซีนยังน้อย แต่เมื่อเกิดการระบาดใหญ่และขยายไปในวงกว้าง หนำซ้ำเชื้อโควิดก็เป็นเชื้อใหม่ กลายพันธุ์ ทำให้ทุกฝ่ายมองว่าสาเหตุที่สถานการณ์เลวร้าย เพราะไทยได้วัคซีนช้า และฉีดได้่น้อย 
3. ข่าวผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนบางยี่ห้อที่ไทยซื้อมาเป็นวัคซีนหลักในช่วงนี้ ทำให้ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจ พาลจะไม่ฉีดวัคซีนกันเป็นจำนวนมาก และยังโจมตีรัฐบาลว่าผูกขาดการจัดหาวัคซีน ทำให้ไม่มีวัคซีนทางเลือกที่มีคุณภาพดีกว่า

"ลุงตู่"กระเตงต่อ เมินปรับ ครม.-ปิดทาง"รัฐบาลข้างน้อย"


นี่คือปัญหาที่มีมูลเหตุเฉพาะจากเรื่องโควิดเท่านั้น และนำมาสู่กระแสเรียกร้องให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลาออก มีการเปิดแคมเปญในเว็บไซต์ www.change.org และล่าสุดยังมีมือดีไปเปิดแคมเปญเรียกร้องให้ "นายกฯลุงตู่" ลาออกด้วย 
ฝ่ายค้านสร้างกระแสรายวัน เรียกร้องให้นายกฯลาออก เปิดทางให้มีการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ดึงมืออาชีพเข้ามาแก้ปัญหา บางพรรคก็เสนอให้ตั้งรัฐบาลชั่วคราว ทำแค่ 2 เรื่อง คือ แก้โควิด กับ แก้รัฐธรรมนูญ (ยังมีกะจิตกะใจจะแก้กติกาประเทศอยู่) 
แต่สิ่งหลายฝ่ายเห็นตรงกัน ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายแค้น และฝ่ายที่ยังทำใจเชียร์ "ลุงตู่" อยู่ ก็คือการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นโดยเร็ว นั่นก็คือ
1. หยุดการระบาดระลอก 3 ให้ได้ กดตัวเลขให้ลงมาเหลือหลักร้อยและต่ำร้อยโดยเร็ว 
2. ลดอัตราการเสียชีวิตให้ลงมาเหลือหลักหน่วย 
3. เร่งเปิดเสรีให้มีการนำเข้าวัคซีนจากหลากหลายยี่ห้อ 
นี่คือสิ่งที่สังคมไทยอยากเห็น ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหน ได้ข้อมูลมาผิดหรือถูก แต่ถ้าเป็นเรื่องความต้องการ ก็คือ 3 อย่างนี้ ปัญหาคือรัฐบาลชุดนี้ทำไม่ได้ ภายใต้โครงสร้างที่เป็นอยู่ 

"ลุงตู่"กระเตงต่อ เมินปรับ ครม.-ปิดทาง"รัฐบาลข้างน้อย"


ทางออกที่พอจะมี ก็คือ 
1. นายกฯลาออก ซึ่งดูแล้วเป็นไปไม่ได้ เพราะนายกฯน่าจะไม่ถอดใจง่ายๆ  
2. ปรับ ครม. ทั้งปรับรัฐมนตรีบางตำแหน่ง บางกระทรวง แต่พรรคร่วมรํฐบาลยังเหมือนเดิม เท่าเดิม / กับปรับ ครม.แบบถอดบางพรรคออกจากการร่วมรัฐบาลไป 
หรือ 3. การปฏิวัติรัฐประหาร เพื่อเปลี่ยนเกม ล้างไพ่ ซึ่งแนวทางนี้เริ่มมีบางคนพูดกันแบบกระซิบกระซาบ แต่ "ทีมข่าวข้นคนข่าว" ตรวจสอบข้อมูลจากหลายแหล่ง ยืนยันว่ายังไม่มีความเป็นไปได้ทึ่จะเกิดการยึดอำนาจในช่วงนี้ เนื่องจากกองทัพยังมีความเป็นเอกภาพ และนายกฯใช้กลไกราชการในการทำงานแก้ไขปัญหาประเทศอย่างมากอยู่แล้ว บ้านเมืองจึงไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่ฝ่ายการเมืองทำเละ แล้วฝ่ายข้าราชการหรือกองทัพ เข้ามาแก้ไข เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลชุดนี้ก็เป็นตัวแทนกองทัพ และรัฐราชการอยู่แล้ว 

แนวทางที่เป็นไปได้มากที่สุดที่จะประคอง "รัฐนาวา" ต่อไป ก็คือการปรับ ครม. ซึ่งสูตรแรก ปรับรัฐมนตรีบางตำแหน่ง บางกระทรวง  มีข่าวว่านายกฯได้พยายามแล้ว ด้วยการเชิญพรรคภูมิใจไทยไปคุย แต่ไม่เป็นผล 
ฉะนั้นหากจะเดินหน้าแนวทางนี้ต่อ ก็มีอีกทางเดียวคือ ปรับพรรคภูมิใจไทยออกจากการร่วมรัฐบาล / แต่คำถามก็คือ รัฐบาลจะกล้าหรือไม่ เพราะหากพรรคเพื่อไทยไม่เข้ามาเป็นรัฐบาลแทน หรือบรรดา "งูเห่า" ที่ฝากเลี้ยงไว้ไม่ทำงานช่วงเปิดสภา โอกาสที่รัฐบาลล่ม เสียงไม่พอ ต้องลาออก ก็มีอยู่มากทีเดียว 
แต่หลายเสียงก็เสนอให้ "บิ๊กตู่" ใช้ความกล้า ผ่าทางตัน ยอมเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย แล้วประคองสถานการณ์ฝ่าโควิดไปให้ได้ จัดการปัญหาวัคซีนให้เรียบร้อย จากนั้นก็ชิงยุบสภา เลือกตั้งใหม่ โดยใช้กติกาเดิม ถ้าเดินตามแผนนี้ยังมีโอกาสที่พรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคใหม่ที่ไปตั้งรอไว้ อาจจะกลับมาได้อีก 

"ลุงตู่"กระเตงต่อ เมินปรับ ครม.-ปิดทาง"รัฐบาลข้างน้อย"



แนวทางนี้ฟังดูดี ดูเป็นสุภาพบุรุษทางการเมือง แต่ปัญหาคือ ในทางปฏิบัติจริงทำได้อย่างที่คิดหรือไม่ เพราะมีข้อจำกัดทางการเมืองดังนี้ 
1. ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 กำลังเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบในวันอังคารที่ 11 พฤษภาคมนี้ จากนั้นจะส่งเข้าบรรจุวาะการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งงบจะผ่านได้า รัฐบาลต้องมีเสียงข้างมากเท่านั้น หากงบไม่ผ่าน หรือร่าง พ.ร.บ.งบประมาณถูกคว่ำ รัฐบาลต้องลาออก อยู่ต่อไม่ได้ แม้จะไม่มีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจน แต่หลักสากลของประชาธิปไตยระบบรัฐสภาเป็นแบบนี้ เมื่อฝ่ายบริหารผ่านงบไม่ได้ จะบริหารต่อไปได้อย่างไร 
2. ก่อนจะถึงเรื่องงบ รัฐบาลอาจถูกสอยด้วยญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน แม้รัฐธรรมนูญมาตรา 151 ประกอบ 154 จะเขียนเอาไว้ว่ายื่นอภิปรายได้ปีละครั้ง และปีนี้ยื่นไปแล้ว อภิปรายกันไปแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ แต่ฝ่ายค้านอ้างว่า ปีละครั้งที่เขียนในรัฐธรรมนูญ คือปีสมัยประชุม ไม่ใช่ปีปฏิทิน ซึ่งการเปิดสมัยประชุมสภาวันที่ 25 พฤษภาคมนี้ เป็นสมัยประชุมสามัญสมัยที่ 1 ประจำปี 2564 จึงถือเป็นการเริ่มปีสมัยประชุมใหม่ ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ 
หากตีความเป็นแบบนี้ โอกาสที่รัฐบาลจะร่วงตั้งแต่ "ศึกซักฟอก" ย่อมมีสูง เพราะรัฐบาลไม่ได้ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรอย่างแท้จริง เนื่องจากเขี่ยพรรคภูมิใจไทยออกไป แม้จำนวนเสียง ส.ส.ของรัฐบาล จะมากกว่าฝ่ายค้านอยู่ 66 กว่าเสียง ใกล้เคียงกับเสียงของพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมี ส.ส.อยู่ 61 เสียง แต่ในทางการเมืองก็ถือว่าเสี่ยงเกินไป เพราะหลายๆ ตำแหน่งก็ยกมือให้ฝ่ายตัวเองไม่ได้ เช่น ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร 
นี่คือปัญหาและข้อจำกัดของการเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย และจากการตรวจสอบล่าสุดกับแหล่งข่าวระดับสูงในรัฐบาล ได้รับการยืนยันว่า สถานการณ์ยังไม่ถึงจุดแตกหักต้องปรับพรรคใดพรรคหนึ่งออกจากการร่วมรัฐบาล

logoline