3 เมษายน 2564 สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดเสวนาวิชาการร่วมคิดร่วมฝันปลุกปั้นกัญชงไทย โดยในงานจัดกิจกรรมลงแปลงปลูกกัญชง ที่หมวดพืชผัก คณะเกษตรศาสตร์ และการเสวนาวิชาการร่วมฝันปลุกปั้นกัญชงไทย พร้อมกันนี้ รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมตัดริบบิ้น เปิดแปลงปลูกต้นกัญชง ตามโครงการประเมินและพัฒนาสายพันธุ์กัญชงเพื่อการแพทย์ และอุตสาหกรรม ที่ปลูกขึ้นตามแผนการปลูกกัญชงลงแปลง ระยะที่ 1
รศ.นพ.ชาญชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางมหาวิทยาลัยได้รับหนังสืออนุญาตผลิต ปลูกกัญชง ตามหนังสือสำคัญที่ 19/2563 สามารถปลูก เก็บเกี่ยว แปรสภาพได้อย่างถูกกฎหมาย นักวิจัย มข. โดยคณะเกษตรศาสตร์ ได้กำหนดพื้นที่ทดลองปลูกกัญชง โดยใช้เมล็ดพันธุ์จากสถาบันวิจัยและพัฒนาที่ราบสูง (องค์กรมหาชน) 3 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ อาร์พีเอฟ 1 อาร์พีเอฟ 3 และ อาร์พีเอฟ 4 โดยสายพันธุ์ อาร์พีเอฟ 1 และ 3 นั้น ใช้สายพันธุ์ละ 2 กิโลกรัม สายพันธุ์ อาร์พีเอฟ 4 ทดลองปลูก 50 เมล็ด นักวิจัยได้เพาะพันธุ์จากเมล็ดพันธุ์ ตั้งแต่เดือน ธ.ค.2563 กว่า 700 ต้น ครบกำหนดย้ายลงแปลง ซึ่งต้นกัญชงทั้งหมดใช้เวลา120-150 วัน จะผลิตดอก เมื่อครบกำหนดเก็บเกี่ยวดอกเพื่อนำไปวิจัย ประเมิน และพัฒนาสายพันธุ์เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์"กิจกรรมวันนี้เปิดให้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมแปลงกัญชง มหาวิทยาลัยขอนแก่นถือเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกในภาคอีสาน โดยมีการวางระบบให้ครบวงจร ทั้งการปลูก การครอบครอง การสกัด และการทดลอง ที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง แปลงทดลองปลูกทั้งกัญชงและกัญชา ได้เปิดแปลงให้ผู้สนใจได้เยี่ยมชมได้ตลอดทั้งวัน นอกจากนี้ได้จัดกิจกรรมร่วมคิด ร่วมฝัน ปลุกปั้น กัญชงไทย มีบูธนิทรรศการให้ความรู้และบูธนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชงและกัญชา ซึ่งแปลงปลูกนี้จะได้เก็บรวบรวมสายพันธุ์ที่เป็นของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเพาะปลูกให้เป็นพืชเศรษฐกิจ รวมทั้งร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่สนใจได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเพาะปลูก ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด" รศ.นพ.ชาญชัย กล่าว
กิจกรรมจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 5 เมษายน 2564 โดยเปิดให้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมแปลงกัญชงตลอดทั้งวัน ด้านในมีบูธนิทรรศการให้ความรู้และบูธนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับกัญชงและกัญชา เช่น คุกกี้กัญชง ชากัญชง เม็ดอมใต้ลิ้นกัญชา แผ่นแปะสารสกัดกัญชา ยาเหน็บทวารหนักสารสกัดกัญชา และน้ำมันกัญชาหยดใต้ลิ้น เป็นต้น นอกจากนี้มีการเสวนาวิชาการประเด็นเทคนิคและระบบการปลูก โดยนายวินัย สมประสงค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านคุ้มครองพันธุ์พืช จากกรมวิชาการเกษตร และผศ.ดร.ชานนท์ ลาภจิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูก มหาวิทยาลัยขอนแก่น การขับเคลื่อนนโยบายด้านกฏหมายในการนำกัญชงมาใช้เป็นพืชเศรษฐกิจ และการยื่นขออนุญาต การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง