9 ธันวาคม 2563 นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดกิจกรรมวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล (ประเทศไทย) จังหวัดนครราชสีมา ภายใต้แนวคิด "Zero Tolerance "คนไทยไม่ทนต่อการทุจริต" ซึ่งจัดขึ้นที่ห้องประชุมตะโกราย 1 อาคาร 35 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จังหวัดนครราชสีมา
นายปริญญา วิกุลศิริรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นเตือนให้สังคมตระหนักในผลเสียหายร้ายแรงที่เกิดขึ้นจากการทุจริตคอร์รัปชั่น จึงประสานความร่วมมือระหว่างองค์กร หน่วยงาน และทุกภาคส่วน ร่วมกันป้องกันการทุจริต และลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทย รวมทั้ง สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศ และสร้างกลุ่มเครือข่ายป้องกันการทุจริต
โดยกิจกรรมในงาน มีการแสดงจากวิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมา การมอบรางวัลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ หรือ ITA ซึ่งมี 8 หน่วยงาน ที่ได้คะแนน A ระดับดี ได้แก่ 1) จังหวัดนครราชสีมา 2) เทศบาลนครนครราชสีมา 3) องค์การบริหารส่วนตำบลท่าเยี่ยม อำเภอโชคชัย 4) องค์การบริหารส่วนตำบลคูขาด อำเภอคง 5) องค์การบริหารส่วนตำบลละลมใหม่พัฒนา อำเภอโชคชัย 6) องค์การบริหารส่วนตำบลดอน อำเภอปักธงชัย 7) องค์การบริหารส่วนตำบลโค้งยาง อำเภอสูงเนิน และ 8) องค์การบริหารส่วนตำบลหลุ่งประดู่ อำเภอห้วยแถลง
นอกจากนี้ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้อ่านประกาศเจตนารมณ์การต่อต้านการทุจริต และนำผู้เข้าร่วมกิจกรรมแสดงเจตนารมณ์ต่อต้านทุจริต พร้อมกับร่วมกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ทำลายลูกโป่งต่อต้านคอร์รัปชั่น ซึ่งมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ข้าร่วมงานกว่า 300 คน
สำหรับวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล International Anti Corruption Day ถือกำเนิดขึ้นหลังจากที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติ (UN) มีติเห็นชอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต พ.ศ.2546 เมื่อวันที่ 31ตุลาคม 2556 จากนั้น ประเทศภาคีเครือข่ายสหประชาชาติ จำนวน 191 ประทศ รวมทั้งประเทศไทย ได้เข้าร่วมลงนามในอนุสัญญาฯ ในวันที่ 9 ธันวาคม 2546 ที่เมืองเมอริด้า ประเทศเม็กซิโก ด้วยเหตุนี้ องค์การสหประชาชาติ จึงประกาศให้วันที่ 9 ธันวาคม เป็น "วันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล" โดยอนุสัญญาได้กำหนดประเด็นความร่วมมือที่สำคัญของรัฐภาคี 3 ประการ ได้แก่ ด้านมาตรการเชิงป้องกัน โดยทุกประเทศต้องมุ่งป้องกันปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นอันดับแรก ด้วยการบัญญัติความผิดทางอาญา ทุกประเทศต้องถือว่าการคอรัปชั่นทุกรูปแบบ คืออาชญากรรม และด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ ทุกประเทศต้องให้ความร่วมมือในการทำให้อนุสัญญาฯ มีผลในทางปฏิบัติได้จริง เป็นต้น