จากกรณีพบ "หมึกบลูริง" ถูกนำมา "เสียบไม้ปิ้งขาย" ที่ จ.ปทุมธานี และเจ้าหน้าที่สถาบันวิจัย ทช. ได้โพสต์ข้อความเตือนประชาชนห้ามกิน เรามาทำความรู้จักเกี่ยวกับ "หมึกบลูริง" ที่มีพิษร้ายแรงและยังไม่มียาแก้พิษ!
30 พฤศจิกายน 2563 จากกรณีที่ สถาบันวิจัย ทช. ได้รับแจ้งจากคุณจันทรา พุ่มแจ่ม ว่าพบ "หมึกบลูริง" เสียบไม้ปิ้งขายในตลาดนัดตอนเย็น ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงได้ออกประกาศแจ้งเตือนประชาชน โดยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า
"จากทะเลมาปทุมธานี หมึกบลูริงพิษร้ายระวังด้วย... แม้ว่าหมึกย่างจะอร่อยมากก็จริง แต่ให้สังเกตเพิ่มกันหน่อย ทั้งพ่อค้าแม่ค้าคัดแยกให้ดีก่อนเอามาปรุงอาหารขาย ลูกค้าก็เช่นกัน ก่อนบริโภคสังเกตลายบนตัวหมึกสักนิด ถ้าพบหมึกมีลายเป็น วงๆ สีน้ำเงิน ทั่วตัวจนไปถึงเส้นหมวด ให้หลีกเลี่ยงด่วน! อันตรายมาก เพราะพิษของ "หมึกบลูริง" แม้ปรุงสุกก็ไม่สลาย ยังคงมีอันตราย พิษนี้ทนความร้อนได้สูงถึง 200 องศาเซลเซียส ดังนั้นแม้ย่างสุกก็ไม่สามารถทำลายพิษได้ อีกทั้งปัจจุบันยังไม่มียาแก้พิษใดๆ ต่อต้านได้ด้วย"
เอาเป็นว่า.. ลองมาเช็ค 10 ข้อควรรู้เกี่ยว "หมึกบลูริง" กันอีกสักนิดว่ามีหมึกชนิดนี้พิษร้ายแรงแค่ไหน? และถ้าโดนพิษเข้าไปแล้ว จะต้องปฐมพยาบาลอย่างไรบ้าง? ได้สรุปข้อมูลจาก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มาให้ทราบกัน ดังนี้
1. "หมึกบลูริง" เป็นหมึกยักษ์ที่ตัวเล็กแค่ 4 เซนติเมตร
"หมึกสายวงน้ําเงิน" หรือ "หมึกบลูริง" (Blue-ringed octopus) เป็นหมึกยักษ์จําพวกหนึ่ง แต่มีขนาดเล็กมาก โดยตัวเต็มวัยมีขนาดลําตัวเพียง 4-5 เซนติเมตร มี 8 หนวด แต่ละหนวดยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร หลังจากเพศเมียวางไข่ ไข่จะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 2 สัปดาห์ และใช้เวลาประมาณ 2 - 3 เดือนเจริญเป็นตัวเต็มวัย โดยมีอายุขัยประมาณ 1 ปี
2. จุดเด่นคือวงกลม "สีน้ำเงิน" ทั่วตัว
หมึกบลูริง มีจุดเด่นที่ต่างจากหมึกทั่วไปตรงที่ มีลวดลายเป็นวงแหวนสีน้ําเงิน กระจายตามลําตัวและหนวด ซึ่งจะตัดกับสีของลําตัวที่ออกเป็นสีเหลืองน้ําตาลอย่างชัดเจน วงแหวนสีน้ําเงินเหล่านี้สามารถ "เรืองแสง" ได้เมื่อถูกคุกคาม เนื่องจากหมึกชนิดนี้มีสีสวยงาม และมีขนาดไม่ใหญ่มาก จึงเป็นที่นิยมของผู้ที่ชื่นชอบในการเลี้ยงปลาสวยงาม และสัตว์แปลกๆ ในต่างประเทศ
3. หมึกบลูริง ในไทยมีกี่สายพันธุ์?
ปัจจุบันทั่วโลกพบว่ามี หมึกบลูริง ทั้งหมดประมาณ 4 ชนิด สําหรับในประเทศไทยมีรายงานการพบหมึกสายวงน้ําเงิน สกุล Hapalochlaena maculosa ในบริเวณน่านน้ําไทย ทั้งทางฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย
4. พิษร้ายแรงมากกว่างูเห่า 20 เท่า
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน พ.ย. 2562 นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ในฐานะโฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เคยให้ข้อมูลเอาไว้ว่า จากกรณีที่มีชาวประมงจับ หมึกสายวงน้ำเงิน ได้ที่จังหวัดชุมพร พบว่าหมึกชนิดนี้มีพิษร้ายแรง ยิ่งตอนป้องกันตัวเมื่อมีภัยคุกคาม จะปรากฏวงกลมสีน้ำเงินที่มองเห็นชัดมาก โดยหมึกทะเลชนิดนี้เป็นจำพวกหมึกยักษ์ขนาดเล็ก หากเจอต้องระวังให้มาก เพราะมีพิษร้ายแรงกว่างูเห่า 20 เท่า ผู้ถูกกัดอาจจะตายภายในเวลารวดเร็ว
5. พิษร้าย "เตโตรโดท็อกซิน" อยู่ที่น้ำลายหมึก
หมึกบลูริง มีสารพิษที่มีความร้ายแรงมากผสมอยู่ในน้ำลาย ผู้ที่ถูกหมึกกัดอาจตายได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง จึงนับเป็นสัตว์น้ําที่มีพิษร้ายแรงมากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก สารพิษของหมึกสายวงน้ำเงินนั้น เรียกว่า เตโตรโดท็อก ซิน (Tetrodotoxin) ทั้งนี้เตโตรโดท็อกซินไม่ได้ถูกสร้างจากภายในตัวของหมึก แต่ถูกสร้างจากเชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่อาศัยอยู่กับตัวหมึกบลูริงแบบพึ่งพา (symbiosis)
6. พิษรุนแรงกว่าไซยาไนด์ 1,200 เท่า
พิษของหมึกบลูริงที่ชื่อว่า เตโตรโดท็อกซิน นั้น เป็นพิษที่มีผลต่อระบบประสาท โดยปริมาณพิษที่มนุษย์รับประทานแล้วเสียชีวิตคือประมาณ 1 มิลลิกรัม ซึ่งมีความรุนแรงกว่าไซยาไนด์ถึง 1,200 เท่า
7. พิษหมึกบลูริง ทนความร้อนได้ถึง 200 C
อีกทั้ง พิษจากหมึกบลูริงยังทนความร้อนได้สูงถึง 200 องศาเซลเซียส ดังนั้นจึงไม่สามารถทําลายพิษได้ด้วยการใช้ความร้อนปกติในการปรุงอาหาร และปัจจุบันยังไม่มียาแก้พิษใดๆ ต่อต้านได้
8. หากโดนพิษ มีความเสี่ยงเสียชีวิต 50% - 60%
ผู้ป่วยที่ได้รับพิษเตโตรโดท็อกซิน มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 50 - 60 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าผู้ป่วยยังมีชีวิตรอดหลังได้รับพิษแล้ว 24 ชั่วโมง พบว่ามีอัตราการรอดชีวิตสูงเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ พิษที่เกิดจากหมึกสายวงน้ําเงิน จะเกิดอย่างรวดเร็วภายใน 5 นาทีหลังถูกกัด9. อาการของเหยื่อ เมื่อโดนพิษหมึกบลูริง
เริ่มจากการ "ชา" บริเวณริมฝีปาก ลิ้น ต่อมาจะชาบริเวณใบหน้า แขน ขา และเป็นตะคริวในที่สุด ต่อมาอาจมีอาการน้ำลายไหล คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการท้องเสียร่วมกับปวดท้อง ซึ่งอาการปวดท้องจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นกล้ามเนื้อจะเริ่มทํางานผิดปกติ และเกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ในผู้ป่วยที่ได้รับพิษปริมาณมาก พิษจะเข้าไปทำลายระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้หายใจไม่ออก เนื่องจากกล้ามเนื้อกะบังลมและหน้าอกไม่ทํางาน จึงไม่สามารถนําอากาศเข้าสู่ปอดได้ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตภายใน 4-6 ชั่วโมง แต่บางเคสมีรายงานพบว่าเสียชีวิตอย่างรวดเร็วเพียง 20 นาทีเท่านั้น
10. การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
ต้องหาวิธีนําอากาศเข้าสู่ปอด เช่น เป่าปาก ฯลฯ จากนั้นต้องรีบนําส่งแพทย์โดยด่วน เพื่อใช้เครื่องช่วยหายใจ ถ้าการช่วยชีวิตเป็นผล ผู้ป่วยจะฟื้นเป็นปกติภายใน 24 ชั่วโมง เว้นแต่ว่าจะขาดอากาศนานเกินไปจนทําให้ "สมองตาย"
หากพบผู้ที่ได้รับพิษจากหมึกสายวงน้ำเงิน ให้ปฐมพยาบาลในทันทีหลังถูกกัด โดยใช้เทคนิคการกดรัดและตรึงอวัยวะส่วนนั้นไม่ให้เคลื่อนไหว ทั้งนี้เพื่อทําให้พิษไม่แพร่กระจายเข้าระบบไหลเวียนโลหิต โดยใช้ผ้าพันจากอวัยวะส่วนปลายไล่มาจนถึงบริเวณเหนือแผลที่ถูกกัด และไม่ควรกรีดปากแผลที่ถูกกัดเพราะจะทําให้พิษกระจายมากขึ้น เป็นการซื้อเวลาเพื่อให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น ก่อนนําผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล