svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าว

"พระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ" พระดีที่ควรมีไว้บูชา

30 สิงหาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หากจะกล่าวถึงบรรดาพระเครื่องที่มีการจัดสร้างขึ้นในเมืองไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันแล้ว บรรดาผู้นิยมพระเครื่องทุกท่านต่างยอมรับและยกให้ "พระ 25 พุทธศตวรรษ" คือที่สุดของพิธีกรรม เป็นการสร้างและปลุกเสกพระที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเมืองไทยเพื่อเฉลิมฉลองในวาระ "กึ่งพุทธกาล" ของศาสนาพุทธนั่นเอง

"พระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ" หรือ "พระฉลอง 25 ศตวรรษ" นับเป็นหนึ่งใน "สุดยอดพระเครื่อง" ที่ยังคงอยู่ในความนิยมไม่เสื่อมคลาย ถึงแม้กาลเวลาผ่านมาเนิ่นนานกว่า 60 ปีแล้ว เรียกได้ว่า "กระแสนิยมไม่เคยตก"
ย้อนกลับไป เมื่อปี พ.ศ.2500 มีงานใหญ่โตมโหฬารงานหนึ่งในโอกาสสำคัญยิ่งทางพุทธศาสนา เรียกชื่อกันว่า "งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ" เนื่องด้วยพุทธศาสนาผ่านพ้นมาแล้วกึ่งพุทธกาล โดยวัตถุประสงค์การจัดงานนั้นก็เพื่อต้องการให้เมืองไทยเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนาของโลก มีการจัดสร้าง "พระประธานพุทธมณฑล" เป็นพระพุทธรูปปางลีลา ความสูง 2,500 นิ้ว (62.50 เมตร) พระนาม "พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์" บนเนื้อที่ 2,500 ไร่ ที่ ต.ศาลายา อ.นครปฐม ซึ่งก็คือ "พุทธมณฑล" ในปัจจุบันนั่นเอง โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ชื่น นพวงศ์) ทรงเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ จอมพล ป.พิบูลย์สงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นประธานการดำเนินงานสร้าง

"พระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ" พระดีที่ควรมีไว้บูชา


"พระเครื่อง 25 ศตวรรษ" จึงนับได้ว่าเป็นพระพิธียิ่งใหญ่ที่สุด หนึ่งในไม่กี่พิธีที่เคยมีการจัดสร้างของประเทศไทย พระที่จัดสร้างมีพุทธคุณแผ่กว้างไพศาล ก่อเกิดประสบการณ์อิทธิปาฏิหาริย์มากมายนับครั้งไม่ถ้วน และด้วยพระเครื่อง 25 ศตวรรษ มีจำนวนการสร้างเป็นล้าน ๆ องค์ ทำให้ราคาไม่สูงมากนัก จึงเป็นโอกาสอันดีที่คนทั่วไปจะได้เช่าหา บูชา
ประการสำคัญ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ทรงเสด็จฯ ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์สร้าง "พุทธมณฑล" เมื่อวันที่ 28 กรกฏาคม พ.ศ.2498 และเสด็จฯ ประกอบพิธีเททองหล่อ "พระพุทธปฏิมาประธานพุทธมณฑล" อีกทั้งยังทรงเททองหล่อพระพุทธรูปทองคำ จำนวน 4 องค์ และทรงกดพระพิมพ์ "พระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ" เนื้อดินจำนวน 30 องค์เป็นปฐมฤกษ์ ณ มณฑลพิธีวัดสุทัศนเทพวราราม เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500

"พระเครื่อง 25 ศตวรรษ"จึงจัดว่าเป็นพระดีพิธีพุทธาภิเษก ก็นับว่ายิ่งใหญ่และเข้มขลังสุดๆ ในยุคนั้น จัดขึ้นถึง 2 วาระ และครบถ้วนตามฉบับพิธีประเพณีโบราณ คือต้องมีพระเกจิอาจารย์ประกอบพิธีปลุกเสก ลงเลขยันต์ บรรจุพุทธาคม เพื่อให้พระเครื่อง 25 ศตวรรษ มีความเข้มขลังเกิดความศักดิ์สิทธิ์ โดยวาระแรก ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 ณพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม โดยนำมวลสารศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมดมาอธิษฐานปลุกเสก มีพระคณาจารย์มาร่วมพิธีฯ ครบ 108 องค์

"พระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ" พระดีที่ควรมีไว้บูชา


วาระที่ 2 วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2500 นำพระเครื่องทั้งหมดเข้าพิธีพุทธาภิเษกอีกครั้งในพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม มี สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศมหาวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมสมเด็จพระราชาคณะเจริญพุทธมนต์ 25 รูป พระเกจิคณาจารย์ชื่อดังจากทั่วประเทศร่วมปลุกเสกบรรจุพุทธาคมครบ 108 รูป รวม 2 วาระ เป็นเวลาทั้งสิ้น 6 วัน 6 คืน
"ในระหว่างพิธีได้มีปรากฏการณ์เหตุน่าอัศจรรย์บังเกิดขึ้นหลายประการ เป็นการแสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระเครื่อง 25 ศตวรรษ เช่น ขณะที่ประกอบพิธีเททองหล่อโลหะ ซึ่งบรรดาคณาจารย์มอบให้ใช้ผสมหล่อพระเครื่องอยู่นั้น ได้ปรากฏเหตุอัศจรรย์ คือมีตะกรุดเงินและแผ่นเงินลงยันต์หลายชิ้น ไม่ละลายไปกับความร้อน แม้ช่างจะสุมไฟอยู่เป็นเวลานานกว่า 3 ชั่วโมง นอกจากนั้น ในเวลาใกล้เที่ยงของวันรุ่งขึ้น ได้มีฝนตกลงมาอย่างหนัก เป็นที่น่าอัศจรรย์ บรรดาผู้ที่ไปร่วมงานถือว่าเป็นศุภนิมิตมงคลอย่างยิ่ง"

"พระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ" จึงนับเป็นพระเครื่องที่มีความสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งเจตนาและพิธีกรรมที่ยิ่งใหญ่ องค์พระก็มีพุทธศิลป์ที่อ่อนช้อยงดงามและมีความสง่างามเฉพาะตัว อีกทั้งพุทธานุภาพและปาฏิหาริย์นั้นเรียกว่า "ยอดเยี่ยมสุดๆ" ได้สร้างประสบการณ์แก่ผู้มีไว้ครอบครองเป็นที่เล่าขานสืบมาถึงปัจจุบัน

"พระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ" พระดีที่ควรมีไว้บูชา


มีผู้ใหญ่เคยเล่าให้ฟังว่า "มีนักโทษห้าหกคน มีอาวุธครบมือทั้งมีดทั้งปืน แหกคุกออกมายิงใส่ผู้คุมที่ทัด 25 พุทธศตวรรษอยู่หลังหูองค์เดียว ผลปรากฏว่าไม่มีการระคายผิวหนัง"
ด้วยความเป็นเลิศในทุกประการดังกล่าวมา การจัดสร้างที่มีจำนวนมากมายมหาศาล และยังคงหลงเหลือมาถึงปัจจุบันจำนวนมากพอสมควร จึงสามารถนำออกมาให้เช่าบูชาได้ตลอดเวลา เมื่อมีความจำเป็นต้องหาปัจจัยเพื่อทำการบูรณะส่วนใดส่วนหนึ่งของพุทธสถาน

logoline