(17 สิงหาคม 2563) นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ ส.ส. สุโขทัย พลังประชารัฐ รองประธานกรรมาธิการกระจายอำนาจ การปกครองท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ เปิดสัมมนา ฟังความเห็นวานนี้ (16 ส.ค.) เรื่อง"การกระจายอำนาจด้านสาธารณสุขให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน" โดยมีบุคลากรจากสาธารณสุขจังหวัด รพสต. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ อสม.ในจังหวัดสุโขทัยเข้าร่วม
นางพรรณสิริ กล่าวว่า รู้สึกชื่นชมผู้เข้าสัมนาทุกท่านที่ทุ่มเททำให้ประเทศไทยก้าวผ่านวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ได้อย่างดียิ่งและมีชื่อเสียงระดับโลก ทั้งนี้เพื่อให้การปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข บังเกิดผลดี รวดเร็ว ว่องไว สอดคล้องกับแผนการกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงจัดประชุมหารือเพื่อสะท้อนแนวคิดไปยังผู้เกี่ยวข้องให้ชัดเจน ว่าสมควรจะกระจายอำนาจอย่างไร ที่จะทำให้ประชาชนได้เข้าถึงการบริการสุขภาพโดยเร็วและทั่วถึง ซึ่งในปัจจุบัน มี โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.)ที่มีความพร้อมราว 70 แห่งถ่ายโอนไปสังกัด อปท.เรียบร้อยแล้วโดยสำนักวิจัยระบบสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้ศึกษาวิจัยพบว่ามีคุณภาพที่ดีเป็นต้นแบบได้หลายแห่ง ทั้งนี้จากความเนิ่นนานล่าช้าและไม่ชัดเจนในการกระจายอำนาจและการถ่ายโอน กรรมาธิการฯ จึงมาเปิดเวทีรับฟังความเห็น
นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนการบริการสุขภาพ กล่าวว่า การบริหารจัดการสุขภาพ เป็นภารกิจของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในปัจจุบันและอนาคตโดยมีเป้าหมายให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้ผิดชอบหลักให้ต่อไป ไม่ว่าจะมีการกระจายอำนาจในรูปแบบใดๆก็ตาม โดยมี อสม.ราว 1,400,000 คน ทำงานร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อีกทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่ง ก็ให้การสนับสนุนควบคู่กันไป อย่างไรก็ตามการมีกฏหมายรองรับจะทำให้การทำงานได้อย่างเป็นระบบ และง่ายขึ้นในทางปฏิบัติ
ด้านนายบรรณ แก้วฉ่ำ นิติกร อปท.ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการฯ กล่าวว่า ข้อมูลการกระจายอำนาจมีตั้งแต่ พ.ศ. 2499 และมีความพยายามให้มีการกระจายแบบก้าวกระโดดในปี 2540 โดยมี พ.ร.บ.การกระจายอำนาจ พ.ศ. 2540 และ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจที่ชัดเจน พ.ศ.2542 บังคับใช้ การนี้กำหนดให้ท้องถิ่นจัดบริการสาธารณะด้านการศึกษาและสาธารณสุขไว้ แต่ที่ผ่านมาภารกิจบางอย่างไม่ได้โอนงบประมาณมาให้ ในวันนี้จึงขอให้ช่วยกันนำเสนอว่าควรทำอย่างไร โดยมีหลายแนวคิด เช่น โรงพยาบาลขนาดใหญ่ควรถ่ายโอนไปอยู่กับ อบจ. ในส่วน รพสต.ควรจะถ่ายโอนไปสังกัด อบต. เทศบาล หรือ อบจ.และต้องถ่ายโอนทั้งอำนาจ หน้าที่ และงบประมาณ