svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ธนาคารเอกชน กับ "การตลาดที่ได้ใจ-การตลาดที่ได้กำไร" ในภาวะโควิด-19

23 เมษายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ในภาวะวิกฤติ ภาวะที่ไม่ปกติเช่นนี้ หากลูกค้า (ลูกหนี้) ของท่านที่ทำให้ท่านมีกำไร มีโบนัส ไฉนเลยท่านจึงเลือกวิธีการช่วยเหลือที่ไม่ได้ช่วยให้มากกว่านี้ ทำไมทำแบบธนาคารรัฐไม่ได้?

เป็นที่ทราบกันดีว่าแม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะขอความร่วมมือธนาคารเอกชน ให้มีมาตรการต่างๆ ช่วยลูกค้า ลูกหนี้ ในวิกฤติโควิด-19  แต่คำว่าขอความร่วมมือ คือ ไม่ได้บังคับ ดังนั้นขึ้นกับแต่ละธนาคารเอกชนจะพิจารณาให้เหมาะสม และก็ไม่ได้ผิดคาดเพราะมาตรการการช่วยเหลือ เมื่อเทียบกับธนาคารรัฐ ก็แตกต่างกันชัดเจน   เมื่อธนาคารออมสิน หรือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ออกมาตรการที่ช่วยเหลือแบบที่ควรจะเป็น พักชำระเงินต้น หยุดคิดดอกเบี้ย (หมายถึงดอกเบี้ยไม่เดิน) ขยายเวลาพักหนี้มากสุด 6 เดือน  แต่นั่นไม่ได้ใกล้เคียงกับมาตรการช่วยเหลือของธนาคารเอกชนที่มักจะเลือก พักชำระค่างวด เงินต้นแน่นอนไม่ลด แต่ดอกเบี้ยเดินปกติคูณจำนวนเดือนที่พักหนี้  นั่นจึงเป็นที่มาของข้อแนะนำของ ธปท.ที่พยายามจะบอกว่า ถ้าคุณจ่ายหนี้ได้ ก็อย่าหยุดชำระหนี้เลย เพราะปลายทางคุณต้องเสียเงินเพิ่มขึ้น  แล้วแบบนี้คือมาตรการช่วยหรือ??
ในการทำธุรกิจการมีกำไร ขาดทุน ทุกคนต่างรู้ดี แต่ทว่าในภาวะปกติ ธนาคารเอกชนทุกธนาคารถึงจะมีความเสี่ยง มีการแข่งขันสูงอย่างไร  ผลประกอบการออกมา "กำไร" ตลอด ต่างก็แค่ตัวเลขมากน้อย ต่างก็แค่จะจ่ายโบนัส ต่างกันกี่เดือนของแต่ละธนาคาร
ฉนั้นแล้วในภาวะวิกฤติ ภาวะที่ไม่ปกติเช่นนี้ หากลูกค้า (ลูกหนี้) ของท่านที่ทำให้ท่านมีกำไร มีโบนัส ไฉนเลยท่านจึงเลือกวิธีการช่วยเหลือที่ไม่ได้ช่วยให้มากกว่านี้ ทำไมทำแบบธนาคารรัฐไม่ได้?  จากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนและหลาย ๆ ท่านที่มีโอกาสได้สนทนากันพอจำแนกได้ว่า
1.โทรศัพท์ที่แต่ละธนาคารเอกชนโทรมาในช่วงโควิด-19 ไม่มีแม้แต่สายเดียวที่จะเอ่ยปากถามว่า "คุณลูกค้าได้ผลกระทบจากโควิด-19 ไหม เราพอช่วยอะไรได้บ้าง" 
2.ทุกสายโทรมาเพื่อเสนอ "หนี้" ก้อนใหม่ที่ดอกเบี้ยถูกกว่าข้อเสนอเดิม  
คำถามคือ ทำไมเลือกจะหาเงินมากกว่าจะได้ใจลูกค้า? 
- ทำไมไม่เสนอดอกเบี้ยที่ถูกลงให้ลูกค้าเดิม? 
- ทำไมต้องให้ลูกค้าลงทะเบียนขอสิทธิ์ช่วยเหลือ รอ2-3 สัปดาห์กว่าจะรู้ผล แทนที่ธนาคารจะส่ง SMS ให้ลูกค้าแล้วให้ลูกค้าเลือกเองในเมื่อมีฐานข้อมูลอยู่แล้ว ง่ายและไวกว่ามาก
- ถ้าลูกค้าไม่ไหว ไม่จ่ายหนี้ และมีลูกค้าเป็นหนี้เสียมาก ๆ ธนาคารจะไม่กระทบหรือ?
นี่แค่บางส่วนของคำถามของลูกค้าที่มีต่อธนาคารเอกชน ปลายทางไม่ได้ต้องการให้เหตุการณ์แย่ลง หากแต่ต้องการให้ธนาคารเอกชน เลือก "การตลาดที่ได้ใจ มากกว่าการตลาดที่ได้กำไร" มีลูกค้า ลูกหนี้ เป็นศูนย์กลาง เพราะนี่ไม่ใช่เวลาของการหากำไร แต่คือเวลาของการช่วยกันประคับประคองให้ทุกส่วนรอด เมื่อรอดจากวิกฤตินี้แล้ว ธุรกิจไหนที่ได้ใจประชาชนยามทุกข์ร้อน ก็ย่อมได้ใจในภาวะปกติไปอีกนาน
"ชมพูสิริน"

logoline