18 ส.ค. 62 - หลังจากที่กระทรวงคมนาคมโดย สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่ง หรือ สนข. เดินหน้าก่อสร้างสถานีขนส่งตู้คอนเทนเนอร์หรือ ICD หรือท่าเรือบก dry Port ขึ้นที่บริเวณ ตำบลหนองตีนนก อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา พื้นที่ 760 ไร่ กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ได้ออกมาคัดค้านโครงการดังกล่าว โดยร้องเรียนไปในหลายหน่วยงาน หนึ่งในนั้นคือสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยนายศรีสุวรรณ จรรยา และสภาที่ 3 คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภาคม 35 ลงพื้นที่ตรวจสอบผลกระทบ ความเดือดร้อนจากโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากการบังคับใช้ร่างผังเมือง EEC
เดิมทีโครงการนี้เหมือนจะยุติลงไปแล้วจากคำให้สัมภาษณ์ของผู้บริหาร สนข. แต่ล่าสุดเมื่อต้นเดือนสิงหาคม มีรายงานข่าวออกมาผ่านสื่อหนังสือพิมพ์บางฉบับที่ระบุว่า กระทรวงคมนาคมและ สนข.ยังยืนยันที่จะเดินหน้าโครงการดังกล่าวในพื้นที่ตำบลหนองตีนนก ซึ่งได้รับการคัดค้านมาก่อนหน้านี้
ซึ่งพื้นที่ในตำบลหนองตีนนก เป็นพื้นที่เพาะลูกปลานิลพันธุ์จิตรลดาเป็นจำนวนมาก และในส่วนของพื้นที่ 700 กว่าไร่ จะต้องมีการเวนคืน โดยหากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจะไปขวางทางน้ำทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี กระทบต่อการประกอบอาชีพของชาวบ้าน
มากไปกว่านั้นในพื้นที่ดังกล่าวยังถูกเปลี่ยนแปลงสีผังเมือง เดิมเคยเป็นพื้นที่สีเขียว ผังเมือง EEC ก็เปลี่ยนเป็นพื้นที่สีม่วงเพื่อทำอุตสาหกรรม
นอกจากกรณีนี้ ยังมีในส่วนของนิคมอมตะนคร ซึ่งเป็นนิคมเดิมที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี หลังจากผังเมือง EEC เปลี่ยนสีพื้นที่บางส่วนจากสีเขียวเป็นสีม่วง ก็ทำให้นิคมอมตะนครสามารถขยายพื้นที่ออกมาได้อีก กระทบชาวบ้านบางส่วน
เรื่องนี้ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และนายกสมาคม ต่อต้านสภาวะโลก ระบุว่า ตามที่สํานักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้มีการจัดทำแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกโดยยกเลิกผังเมืองเดิมที่ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างถูกกฎหมายไปแล้ว การกลับมาดำเนินการใหม่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนหรือนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเปิดทางให้มีการบริหารจัดการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเสียใหม่ตามความต้องการของกลุ่มทุน ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ได้ไม่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง มีแต่การจัดตั้ง จัดฉาก เพื่อใช้เป็นข้ออ้างว่าให้ประชาชนมีส่วนร่วมแล้ว อันเป็นการทำลายหลักสิทธิชุมชนด้านสิ่งแวดล้อมตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง
ในการดำเนินการจัดทำผังเมือง EEC ขึ้นมาใหม่นั้น ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำผังเมืองทั้งระบบ ตาม ม.9 แห่งพรบ.การผังเมือง 2562 ประกอบ ม.26 ม.43 ม.50(8) ม.57และ ม.72 ของรัฐธรรมนูญ 2560 โดยมีความพยายามที่จะเปลี่ยนสีผังเมืองในพื้นที่เกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์ให้กับกลุ่มทุนเพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม และการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่โดยละเลยหลักการทำผังเมืองที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เป็นตัวอย่าง
ด้วยเหตุดังกล่าวสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงไม่อาจปล่อยผ่านให้สํานักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ดำเนินการจัดทำผังเมืองใหม่โดยขัดต่อกฎหมายและรัฐธรรมนูญข้างต้นได้ จึงใคร่เรียกร้องให้คณะกรรมการนโยบาย EEC ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้สั่งให้มีการทบทวนการจัดทำผังเมือง EEC ขึ้นมาใหม่เพื่อให้เป็นไปตามหลักการผังเมือง
ต้องจัดทำอยู่บนพื้นฐานที่สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของภาคตะวันออก และต้องจัดให้มีกระบวนการการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเพียงพอและครบถ้วน โดยต้องไม่เอื้อประโยชน์กับกลุ่มคนบางกลุ่ม เพื่อขับไล่ประชาชนออกจากที่ดิน ทำลายระบบนิเวศน์เฉพาะ แหล่งความมั่นคงทางอาหารที่สำคัญของภาคตะวันออกและทั้งประเทศ ทำลายวิถีชีวิต เศรษฐกิจของชุมชน และสร้างผลกระทบกับประชาชนจำนวนมากในพื้นที่
ทั้งนี้หากข้อเรียกร้องนี้ยังไม่นำไปสู่การทบทวนตามหลักกฎหมายที่ถูกต้อง สมาคมฯจะร่วมมือกับพี่น้องประชาชนใน 3 จังหวัดตะวันออกดังกล่าวดำเนินการนำคดีขึ้นสู่การฟ้องร้องต่อศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญต่อไปแน่นอน