ดร.ณัฏฐ์ ลีละวัฒน์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยระบบสารสนเทศการจัดการภัยพิบัติและความเสี่ยงและอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระบุ ปัจจุบันภาครัฐและโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศได้นำเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการผลิตเข้ามาใช้ในระบบอุตสาหกรรมมากขึ้นแต่พบว่าโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งยังไม่มีระบบบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติที่มากพอส่งผลให้ทุกครั้งที่เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลัน หรือภัยพิบัติในด้านอื่น ๆมักจะเกิดผลกระทบต่อระบบการผลิตทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่องและหลายธุรกิจจำเป็นต้องหยุดชะงัก และยังส่งผลต่อห่วงโซ่การผลิต หรือ Supply Chain ของประเทศกระทบความเชื่อมั่นในการลงทุนและลดโอกาสทางธุรกิจ
โรงงานอุตสาหกรรมทุกขนาด รวมทั้งกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีจึงควรสรรหาเทคโนโลยีเพื่อรองรับหรือป้องกันผลกระทบดังกล่าวรวมถึงมีแผนในการบริหารความเสี่ยงเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินงานให้มากขึ้นซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรักษา ซึ่งในภาพรวมมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1แสนล้านบาทต่อปี
สำหรับช่วงครึ่งหลังปีนี้ ภาคอุตสาหกรรมไทยควรให้ความสนใจและวางแผนในเรื่องความเสี่ยงทางอุตสาหกรรมโดยเฉพาะจากภัยพิบัติ3 ประเภท คือ 1.ภัยแล้ง โดยเฉพาะในปีนี้ด้วยเหตุจากปรากฏการณ์เอลนีโญซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตเนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมเกือบทุกประเภทจำเป็นจะต้องใช้น้ำเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการผลิตโดยคาดว่าพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบมากจะเป็นพื้นที่ภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอาจมีผลกระทบต่อพื้นที่ภาคตะวันออก เช่น เขตอีอีซีคือระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา
2.น้ำท่วมฉับพลันซึ่งอาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมในระดับที่รุนแรงแต่อาจมีผลในด้านความล่าช้าและความต่อเนื่องทั้งในการกระจายสินค้า การผลิตรวมถึงผลกระทบที่มีต่อเครื่องจักรและความปลอดภัย ส่วนปัญหาอุทกภัยคาดว่าปีนี้จะไม่อยู่ในระดับวิกฤติเนื่องด้วยข้อมูลการระบายของน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆและข้อมูลสภาพภูมิอากาศที่ไม่น่ากังวลมากนัก
3.ปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM 2.5โดยเฉพาะในช่วงปลายปี หรือเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม จนยาวไปถึงต้นปีถัดไปที่อาจจะมีความรุนแรงโดยโรงงานอุตสาหกรรมควรมีแผนควบคุมมลพิษที่เกิดจากกระบวนการผลิตรวมทั้งการจัดการหากสภาวะดังกล่าวอยู่ในขั้นวิกฤติซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพของบุคลากรหรือผู้ใช้แรงงาน
ล่าสุดคณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้ง วิทยาลัยประชากรศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีหลักสูตรสหสาขาวิชาการจัดการความเสี่ยง และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือไจก้า และสถาบันเทคโนโลยีแห่งนาโงยะประเทศญี่ปุ่น นำแนวคิดการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจระดับพื้นที่ของประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นการคำนึงถึงทรัพยากรและหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐและเอกชนมาปรับใช้กับภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยเพื่อรับมือผลกระทบด้านอุทกภัย
โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ร่วมวิจัยและพัฒนาแบบจำลองการบริหารจัดการน้ำร่วมกับศูนย์อุทกภัยและจัดการความเสี่ยงระดับประเทศของประเทศญี่ปุ่นและหน่วยงานภาครัฐของไทย เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย, กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมนำข้อมูลมาวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านอุทกภัย ผลกระทบทางธุรกิจความเสี่ยงด้านสังคม และจัดทำแบบจำลองน้ำท่วมที่มีความแม่นยำและแชร์ข้อมูลให้กับองค์กรและชุมชนที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นการยกระดับความปลอดภัยในภาคอุตสาหกรรมและชุมชน และทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินการไปได้อย่างต่อเนื่อง
โดยเริ่มศึกษาและวางแผนการพัฒนาในพื้นที่ศึกษาสวนอุตสาหกรรมโรจนะจ.พระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายหนักจากมหาอุทกภัยในปี 2554 คาดว่าการพัฒนาระบบจะเสร็จสมบูรณ์และพร้อมใช้ในนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างเป็นทางการในปี 2565 เพื่อเป็นต้นแบบระบบสำหรับใช้ในการต่อยอดการพัฒนาสำหรับรับมือภัยแล้งหรือปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กPM2.5และภัยพิบัติในด้านอื่น ๆ ต่อไป