ที่ปรึกษาด้านนโยบาย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือ สศช. จินางค์กูร โรจนนันต์ ระบุ แม้ไทยจะยังเผชิญกับสภาวะความยากจนและความเหลื่อมล้ำแต่แนวโน้มความยากจนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าจำนวนคนจนและสัดส่วนคนจนต่อประชากรปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี2551 โดยลดลงจาก 13.1 ล้านคน เหลือ 5.3 ล้านคน
สัดส่วนคนจนค่อยๆปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคแต่จังหวัดที่ยังเผชิญกับปัญหาความยากจนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่ จังหวัดปัตตานีนราธิวาส แม่ฮ่องสอน กาฬสินธ์ นครพนม ตาก ชัยนาท บุรีรัมย์ สระแก้ว และพัทลุงโดยความยากจนยังคงกระจุกตัวในภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือเป็นสำคัญ
แม้ปัญหาความยากจนมีแนวโน้มลดลงแต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำกลับไม่ได้ลดลงในระดับที่น่าพอใจ โดยเฉพาะในภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ปัญหาที่พบส่วนใหญ่อยู่ในด้านการศึกษาสวัสดิการทางสังคม และคุณภาพของระบบสาธารณสุข
ในส่วนของการศึกษา สิ่งที่เป็นอุปสรรคและถูกพูดถึงมากที่สุดคือผลลัพธ์ทางการเรียนการสอนเพื่อนำไปใช้ในการทำงานและการประกอบอาชีพของแต่ละพื้นที่ที่ยังมีความแตกต่างกันรวมถึง การเข้าเรียนในระดับที่สูงขึ้นจากขั้นพื้นฐานที่คนรวยมักจะมีโอกาสได้รับการศึกษาที่ดีมากกว่าคนจน
ส่วนด้านสวัสดิการทางสังคม ปัญหาที่พบคือความครอบคลุมของสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ในหลายๆพื้นที่โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ เด็ก และสตรีและอุปสรรคที่พบในด้านคุณภาพของระบบสาธารณสุขคือความรวดเร็วและจำนวนที่เพียงพอของสถานที่กับจำนวนผู้ใช้บริการและมาตรฐานในการให้บริการที่ยังคงมีความแตกต่างกันทั้งในระดับส่วนกลางและภูมิภาค