มนุษย์ยังไม่สามารค้นพบสิ่งประดิษฐ์ ที่จะมาแทนที่ม้าสำหรับการลากจูงยานพาหนะได้" เป็นข้อความใน Le Petit Journal หนังสือพิมพ์ในฝรั่งเศส ตีพิมพ์เมื่อเดือนธันวาคม ปี 1893 โดยต่อมาในช่วงเวลานั้นได้มีการจัดการแข่งขัน Paris-Rouen ซึ่งเป็นการแข่งขันของยานพาหนะที่ไม่มีม้าลากจูง มีผู้เข้าร่วมงาน 102 ราย
ซึ่งมีทั้งยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยไอน้ำ เบนซิน ไฟฟ้า การบีบอัดอากาศและไฮโดรลิก โดยมีผู้ชนะเลิศคือ เครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันนั่นเอง
แต่สำหรับทุกวันนี้ การวิจัยและพัฒนาที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีแบตเตอรี่ ทำให้มีแนวโน้มที่การใช้มอเตอร์ไฟฟ้าจะเข้ามาแทนที่เครื่องยนต์สันดาปภายใน ยกตัวอย่างเช่น Chevy Bolt ที่สามารถวิ่งได้ระยะทาง 383 กิโลเมตร, Tesla Model S ที่ขับได้ไกลกว่า 1,000 กิโลเมตรด้วยการชาร์จแบตเตอรี่ต่อครั้ง
นอกจากนี้จากการศึกษาของธนาคาร UBS ยังได้ประเมินว่า จุดคุ้มค่าในการลงทุนของผู้บริโภคในการเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าจะเทียบเท่ากับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินในปีหน้า และยังมีการคาดการณ์ด้วยว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะทำยอดขายได้ 14% ของรถยนต์ที่ขายทั่วโลก ภายในปี 2025
จากการที่ราคาแบตเตอรี่ถูกลงและมีคุณภาพดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้นทุนต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงลดลงจาก 1,000 เหรียญสหรัฐในปี 2010 เหลือเพียง 130-200 เหรียญสหรัฐในปัจจุบัน อีกทั้งกฎระเบียบและนโยบายการใช้พลังงานในหลายประเทศก็กำลังเปลี่ยนไป เช่น
เมื่อเดือนที่แล้ว สหราชอาณาจักรได้เข้าร่วมที่จะเป็นประเทศที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว โดยระบุว่ารถยนต์ที่ผลิตใหม่ทั้งหมด จะต้องมีการปล่อยก๊าซเป็นศูนย์ภายในปี 2050
การเปลี่ยนจากการใช้น้ำมันและลูกสูบไปใช้แบตเตอรี่และมอเตอร์ไฟฟ้า จึงไม่น่าจะใช้เวลานานนัก การสิ้นสุดของเครื่องยนต์สันดาปภายใน กำลังสั่นสะเทือนอยู่ทั่วโลกและจะมีผลกระทบอย่างมากมายตามมาในทุกอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
ลองคิดดูว่าเครื่องยนต์สันดาปภายใน ได้สร้างรูปแบบชีวิตสมัยใหม่ให้เราอย่างไรบ้างในเวลาที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกที่ร่ำรวยได้ถูกสร้างขึ้นมาใหม่จากการผลิตรถยนต์ ประเทศที่ผลิตน้ำมันได้ร่ำรวยมหาศาล ทั่วโลกได้มีการลงทุนสูงสำหรับการสร้างถนนมามากมาย
ซึ่งทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและการขยายตัวของชนชั้นกลางในช่วงหลังสงคราม โดยในขณะนี้มีรถยนต์ประมาณ 1 พันล้านคัน ซึ่งเกือบทั้งหมดขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิล
แต่การใช้พลังงานไฟฟ้าได้ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์เข้าสู่ภาวะแห่งความยุ่งยาก แบรนด์รถยนต์ที่ดีที่สุดได้เกิดขึ้นจากมรดกด้านวิศวกรรมการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีสันดาปภายในที่ใช้พลังงานจากฟอสซิล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเยอรมนี ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับรถยนต์ที่มีอยู่แล้วนั้นพบว่า รถไฟฟ้าจะมีชิ้นส่วนที่น้อยกว่าและทำการผลิตที่ง่ายกว่ามาก ซึ่งเปรียบเสมือนคอมพิวเตอร์ที่มีล้อ
นั่นหมายความว่าหากจะผลิตรถไฟฟ้าแล้ว เราจะต้องการคนงานในการประกอบชิ้นส่วนที่มีจำนวนลดลงอย่างมาก และยังต้องการชิ้นส่วนต่างๆ จากซัพพลายเออร์น้อยลงด้วย
ดังนั้นผู้ผลิตรถยนต์ในโรงงานที่ไม่ได้ผลิตรถไฟฟ้ากำลังเป็นกังวลว่าพวกเขาอาจจะตกงานได้ ส่วนตลาดซ่อมบำรุงและจำหน่ายอะไหล่รถยนต์แบบเดิมก็จะหดตัวลงด้วยตามมาเป็นลูกโซ่
ในขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์ในทุกวันนี้กำลังต่อสู้อยู่กับมรดกอันเก่าแก่ของโรงงานผลิตรถยนต์แบบเก่าและแรงงานที่มีความชำนาญแบบเดิมจำนวนมาก ซึ่งผู้เข้าสู่ตลาดรายใหม่ในการผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าจะไม่มีภาระผูกพันดังกล่าว
ซึ่งจะต้องแข่งขันกันอย่างมากในด้านต้นทุน ประกอบกับแนวโน้มเทคโนโลยียานยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง (self-driving cars) ก็มีแนวโน้มที่จะทะยานขึ้นเป็นอุตสาหกรรมใหม่พร้อมกันกับยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าที่จะมาช่วยสังคมผู้สูงอายุที่ไม่สามารถขับรถเองได้ และไม่ต้องมีรถเป็นของตัวเอง
จึงยิ่งจะทำให้การเป็นเจ้าของรถยนต์ส่วนใหญ่จะถูกแทนที่ด้วย "การบริการขนส่ง" ซึ่งมีรถจำนวนมากที่ให้บริการตามความต้องการ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า มีความเป็นไปได้ที่การบริการดังกล่าวจะทำให้อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์หดตัวลงได้มากถึง 90%
อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการเปลี่ยนไปใช้ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง แต่การขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าก็ยังจะให้ประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างมาก การชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์จากสถานีไฟฟ้าส่วนกลางจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการเผาไหม้เชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ที่ใช้ฟอสซิล
โดยรถยนต์ไฟฟ้าที่มีอยู่จะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 54% เมื่อเทียบกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง (อ้างอิงจาก Americas National Resources Defence Council)
นอกจากนี้ เมื่อรถยนต์ไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีการผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะทำให้มลพิษทางอากาศลดลงเช่นกัน (องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า ความเสี่ยงต่อสุขภาพของสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุดก็คือมลพิษทางอากาศ)
ราคาน้ำมันที่ผันผวนจากการเปลี่ยนแปลงสู่อุตสาหกรรมพลังงานใหม่จะสร้างความตึงเครียดให้แก่ประเทศต่างๆ ที่ต้องพึ่งพารายได้จากแหล่งไฮโดรคาร์บอนเพื่อสนับสนุนเงินเข้ากองทุนแห่งชาติ ดังนั้นเมื่อมีปริมาณการใช้งานลดลง ก็จะทำให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อสู้เพื่อพลังงานที่มีการควบคุมความมั่งคั่งจากน้ำมันมานานแล้วในประเทศต่างๆ เช่น แองโกลาและไนจีเรีย ที่น้ำมันมักจะทำให้เกิดอิทธิพลทางเศรษฐกิจ ที่อาจนำมาซึ่งผลประโยชน์อันมหาศาล
ในขณะเดียวกัน การแข่งขันของตลาดแบตเตอรี่ลิเธียมกำลังเกิดขึ้น ราคาลิเธียมคาร์บอเนตได้เพิ่มขึ้นจาก 4,000 เหรียญสหรัฐต่อตันในปี 2011 เป็นมากกว่า 14,000 เหรียญสหรัฐ ความต้องการธาตุโคบอลต์และธาตุหายากสำหรับมอเตอร์ไฟฟ้าก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากจะใช้ลิเธียมเป็นพลังงานแก่รถยนต์แล้ว ระบบสาธารณูปโภคก็ยังมีความต้องการแบตเตอรี่ขนาดใหญ่เพื่อกักเก็บพลังงานในช่วงเวลาที่มีความต้องการไฟฟ้าต่ำ และนำมาใช้ในช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าสูง
ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้ประเทศชิลีที่อุดมไปด้วยธาตุลิเธียมเป็นเหมือนประเทศซาอุดิอาระเบียที่อุดมไปด้วยน้ำมันหรือไม่? อาจจะไม่ใช่ ทั้งนี้เพราะรถไฟฟ้าไม่ได้ใช้ลิเธียมในปริมาณมาก และเแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเก่าจากรถยนต์ก็สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
เครื่องยนต์สันดาปภายในยังมีการทำงานที่ดีและยังคงมีการใช้ในการขนส่งและการบินได้เป็นเวลาอีกหลายทศวรรษ แต่สำหรับมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้เพื่อการขนส่งทางบก ในเร็วๆ นี้ มันจะทำให้เกิดทางเลือกมากขึ้น ที่ทั้งสะดวก สะอาด และราคาถูก ในขณะที่การเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า ก็จะทำให้มีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น
ดังนั้นผู้กำหนดนโยบายของประเทศจะต้องให้การสนับสนุนและช่วยเหลือโดยต้องสร้างความมั่นใจว่าจะมีกำลังการผลิตที่เพียงพอ โดยอาจจำเป็นต้องมีการออกกฎระเบียบใหม่ พร้อมทั้งวางมาตรฐานสำหรับสถานีชาร์จไฟสาธารณะ รวมถึงการรีไซเคิลแบตเตอรี่ และส่วนประกอบอื่นๆ และพวกเขาจะต้องรับมือกับความวุ่นวายที่เกิดจากโรงงานเก่าๆ ที่กำลังจะหายไป
ในศตวรรษที่ 21 รถยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนโลกในรูปแบบที่คาดไม่ถึง เช่นเดียวกับยานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในที่เคยสร้างการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในศตวรรษที่ 20
....."ท่านผู้โดยสาร กรุณารัดเข็มขัด เตรียมรับแรงกระแทก".....
Reference
The death of the internal combustion engine, The economist, August 12, 2017.
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)