svasdssvasds
เนชั่นทีวี

lifestyle

ประวัติความเป็นมา วันภาษาไทยแห่งชาติ ๒๙ กรกฎาคม

เนชั่นออนไลน์ เว็ปไซต์ข่าว ทันทุกสถานการณ์แบบนาทีต่อนาที เสนอครบทุกข่าว เจาะลึกวิเคราะห์ทุกประเด็น เพราะทุกสนามข่าวเราคือตัวจริง" | เนชั่นออนไลน์

วันภาษาไทยแห่งชาติ ตรงกับวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปี เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานและทรงอภิปรายเรื่อง "ปัญหาการใช้คำไทย" ในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่ คณะอักษรศาสตร์
เว็บไซต์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้บันทึกไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงแสดงพระปรีชาสามารถและความสนพระราชหฤทัยห่วงใยในภาษาไทย จนเป็นที่ประทับใจผู้ร่วมประชุมครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งความว่า
"เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สาม คือ ความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้...สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าๆที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก"
การเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนั้นนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่เปรียบมิได้แก่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงร่วมอภิปรายในการประชุมทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษาในเมืองไทย ดังนั้น จึงเป็นที่มาของวันภาษาไทยแห่งชาติ ๒๙ กรกฎาคม
คณะรัฐมนตรีได้มีติเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๒ เห็นชอบให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์ เพื่อ
๑.เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์ และนักภาษาไทย รวมทั้งเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงแสดงความห่วงใย และพระราชทานแนวคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย
๒. เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒
๓. เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป
๔. เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการใช้ภาษาไทย ทั้งในวงวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งเพื่อยกมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาทุกระดับให้สัมฤทธิผลยิ่งขึ้น
๕. เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนทั่วประเทศมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อเผยแพร่ความรู้ภาษาไทยในรูปแบบต่าง ๆ ไปสู่สาธารณชนทั้งในฐานะที่เป็นภาษาประจำชาติ และในฐานะที่เป็นภาษาเพื่อการสื่อสารของทุกคนในชาติ