svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ท่องเที่ยว

ชวนเที่ยวงาน "ทิวาราตรีเสมอภาค" ที่โคราช ชมปรากฏการณ์ทางธรรมชาติหาดูได้ยาก

โคราช เตรียมจัดงาน "ทิวาราตรีเสมอภาค@บ้านปรางค์ อำเภอคง" 3 วัน ชวนชมปรากฏการณ์หาดูได้ยาก แสงอาทิตย์-จันทร์ทอดแสง 2 สี ตั้งฉากกึ่งกลางปราสาท ใน "วันวสันตวิษุวัต" 20 มี.ค. 67 คนโบราณเชื่อใครได้เห็นเป็นสิริมงคลกับชีวิต พร้อมทำความรู้จักวันวสันตวิษุวัต คืออะไร เหตุใดเรียกวันแห่งสมดุล

14 มีนาคม 2567 ที่บริเวณปราสาทบ้านปรางค์ ตำบลบ้านปรางค์ อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา นายไชยนันท์ แสงทอง วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายนิติพัฒน์ ขอดทอง นายอำเภอคง ,นางรุ่งทิพย์ บุกขุนทด ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครราชสีมา และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงข่าวการจัดงาน "ทิวาราตรีเสมอภาค@บ้านปรางค์ อำเภอคง" ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-21 มีนาคม 2567 เวลา 18.00 น เป็นต้น เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอคง ภายหลังได้ประกาศเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกในปี 2572 

ทั้งนี้ ไฮไลท์ของงาน ประชาชนและนักท่องเที่ยวจะได้ชมความมหัศจรรย์ ปรากฏการณ์ทิวาราตรีเสมอภาค หรือปรากฏการณ์แสงอาทิตย์และแสงจันทร์ ตั้งฉากกึ่งกลาง ที่ปราสาทบ้านปรางค์ ในวันที่ 20 มีนาคม 2567 หรือ  "วันวสันตวิษุวัต" (อ่านว่า วะ-สัน-ต-วิ-สุ-วัด) เวลากลางวันยาวเท่ากับกลางคืน ซึ่งเป็นวันที่ดวงอาทิตย์ ขึ้นที่ขอบท้องฟ้า ในตำแหน่งทิศตะวันออกแท้ ทำมุม 90 องศาจากทิศเหนือภูมิศาสตร์ และตกที่ขอบฟ้าในตำแหน่งทิศตะวันตกแท้ ส่งผลให้เงาของวัตถุที่ตั้งฉากกับพื้นดินจะเป็นเส้นตรงตั้งแต่เช้าจรดเย็นระหว่างทิศตะวันออกกับตะวันตก และเป็นวันขึ้นปีใหม่หรือวันที่หนึ่งในเดือนใจตระของขอมโบราณ 
ชวนเที่ยวงาน \"ทิวาราตรีเสมอภาค\" ที่โคราช ชมปรากฏการณ์ทางธรรมชาติหาดูได้ยาก
โดยเวลา 06.00 น.พระอาทิตย์จะส่องตรงประตูปราสาทบ้านปรางค์พอดี คนในชุมชนมีความเชื่อว่า การได้รับพลังจักรวาลจากสุริยะเทพ เวลาหกโมงเช้า แสงอาทิตย์แสงแรกของวัน ส่งผ่านช่องประตูปราสาทบ้านปรางค์ จะเพิ่มพลังชีวิต มีความสุข สุขภาพแข็งแรง และเวลา 18.30 น. จะเกิดปรากฏการณ์แสงอาทิตย์และแสงจันทร์ แบ่งออกเป็น 2 สี มองได้ด้วยตาเปล่าจะเห็นเป็นแสงสีฟ้าและสีส้ม ตั้งฉากกึ่งกลาง ณ ปราสาทบ้านปรางค์ จึงเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า "ทิวาราตรีเสมอภาค" 

ชวนเที่ยวงาน \"ทิวาราตรีเสมอภาค\" ที่โคราช ชมปรากฏการณ์ทางธรรมชาติหาดูได้ยาก
ซึ่งนอกจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่หาชมได้ยากแล้ว ภายในงานยังมีการแสดงมินิไลท์ แอนด์ ซาวด์ แสง สี เสียง ตรีมูรติเทวสถาน ย้อนรอยประวัติศาสตร์ บ้านปรางค์นคร ชมการแสตงดนตรี และการแสดงศิลปวัฒนธรรม พร้อมกินเข่าค่ำอาหารพื้นถิ่นบ้านปรางค์ ได้แก่ ทอดมันบ้านปรางค์ ขาหมูต้มถั่วดำ เป็นต้น รวมทั้ง เดินชม ช็อป ชิมอาหารท้องถิ่น Street Food ตามแบบวิถีชุมชนรักษ์โลก การจำหน่ายสินค้า ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม และเยี่ยมชมชุมชน ด้วยรถรีมูซีนปรางค์นคร หรือปั่นจักรยานชมบรรยากาศชุมชน ชมหย่อมเรือนโคราช อายุมากกว่า 100 ปี ที่มีมากถึง 27 หลัง ซึ่งได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม จากมูลนิธิสถาปนิคสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และได้รับการประกาศเป็นแหล่งมรดกของจังหวัดนครราชสีมา เป็นต้น

"วันวสันตวิษุวัต" คืออะไร 
เครดิตภาพ : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
ข้อมูลจากเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เคยอธิบายไว้ว่า "วสันตวิษุวัต" (วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ-วัด) (Vernal Equinox) คำว่า "วิษุวัต" (Equinox) เป็นภาษาสันสกฤตหมายถึง "จุดราตรีเสมอภาค" จุดที่ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกพอดี ส่งผลให้เป็นที่มีชื่อว่าวิษุวัตต่างๆ คือวันที่มีเวลากลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน วันดังกล่าวเกิดขึ้นเพียง 2 ครั้งต่อปี คือช่วงเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิ เรียกว่า วันวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) และช่วงเริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วง เรียกว่า วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox)   

เกี่ยวกับการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์

แต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏในตำแหน่งต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา ตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นมา ดวงอาทิตย์ค่อย ๆ เคลื่อนจากจุดใต้สุดขึ้นมาทางเหนือ เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนมา ณ ตำแหน่งตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลก ดวงอาทิตย์จะขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกและตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกพอดี สำหรับประเทศไทย วันดังกล่าวดวงอาทิตย์ขึ้น เวลาประมาณ 06:22 น. และจะตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 18:28 น. (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร) นับเป็นวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิของประเทศทางซีกโลกเหนือและเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงของประเทศในซีกโลกใต้  

การเกิดฤดูกาลบนโลก

ฤดูกาลเกิดจากแกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณภูมิต่างกัน รวมถึงระยะเวลากลางวันและกลางคืนก็ต่างกันด้วย เหตุนี้ทำให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลกนั่นเอง จะสังเกตได้ว่าในฤดูร้อนเวลากลางวันจะยาวกว่ากลางคืน ดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า แตกต่างกับฤดูหนาวเวลากลางคืนจะยาวนานกว่ากลางวัน ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว 

ปรากฏการณ์ต่อไปที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์

"วันครีษมายัน" (Summer Solstice) ในวันที่ 21 มิถุนายน 2565 เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันยาวที่สุดและกลางคืนสั้นที่สุดในรอบปี สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว


ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ