svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ และ ความงาม

เจาะลึก 10 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับ “มะเร็งปอด” No.1 มะเร็งโลก

ผ่าประเด็นร้อน “มะเร็งปอด” No.1 มะเร็งโลก ภัยร้ายสุขภาพที่เป็นได้ไม่เลือกเพศ ไม่จำกัดวัย แม้ใส่ใจสุขภาพ แรงกระเพื่อมจากเรื่องสุดช็อกของ นพ.กฤตไท ธนสมบัติกุล หมอหนุ่มวัย 28 ปี ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย

หลังจากเรื่องสุดช็อกของ อ.นพ.กฤตไท ธนสมบัติกุล หมอหนุ่มวัย 28 ปี อาจารย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าของเพจ "สู้ดิวะ" ได้เผยแพร่ในโลกโซเชียลถึงเรื่องราวชีวิตหลังพบว่าเป็น "มะเร็งปอด" ระยะสุดท้าย ทั้งที่ไม่สูบบุหรี่ กินอาหารสุขภาพ ออกกำลังกาย และใช้ชีวิตอย่างดีที่สุดเท่าที่คนหนึ่งจะดีได้ สร้างแรงกระเพื่อมให้ผู้คนตระหนักถึงภัยใกล้ตัวที่ไม่มีใครอยากให้เกิด

เจาะลึก 10 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับ “มะเร็งปอด” No.1 มะเร็งโลก

เราจึงรวบรวม 10 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับ “มะเร็งปอด” มาให้ทุกคนได้อ่านกัน

เรื่องที่ 1 “มะเร็งปอด” เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในโลก

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เผยมะเร็งปอดเป็นโรคมะเร็งที่พบมากที่สุดทั่วโลก สำหรับประเทศไทยโรคมะเร็งปอดถือเป็น 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อย โดยพบมากเป็นอันดับ 2 ในเพศชาย และอันดับ 5 ในเพศหญิง แต่ละปีจะมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 17,222 ราย เป็นเพศชาย 10,766 ราย และเพศหญิง 6,456 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 14,586 ราย หรือคิดเป็น 40 รายต่อวัน

เจาะลึก 10 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับ “มะเร็งปอด” No.1 มะเร็งโลก

 

 

เรื่องที่ 2 “มะเร็งปอด” ในเชียงใหม่-ภาคเหนือ สูงกว่าภาคอื่นๆ ในไทย ต้นเหตุจาก PM2.5 แซงหน้าบุหรี่

ข้อมูลจากเพจเฟซบุ๊ก WEVO สื่ออาสา (เผยแพร่เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2565) เผยข้อมูลสถิติมะเร็งปอดในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และภาคเหนือ อ้างอิงงานศึกษา ของ รศ.พญ.บุษยามาส ชีวสกุลยง หัวหน้าหน่วยวิชามะเร็งวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่ามีผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดเพศชายในทะเบียนมะเร็งของ จ.เชียงใหม่ 14,299 ราย ขณะที่ผู้ป่วยมะเร็งปอดเพศหญิง 5,664 ราย เมื่อพิจารณาอัตราการป่วยด้วยมะเร็งปอดภาพรวมของประเทศไทย ผู้ชายป่วยเป็นมะเร็งปอด ร้อยละ 9.3 เพศหญิง ร้อยละ 20.6 สำหรับ ข้อมูลผู้ป่วยในเชียงใหม่ ผู้ชาย ร้อยละ 22.3 ผู้หญิง ร้อยละ 29.6, จ.ลำปาง ผู้ชาย ร้อยละ 27.6 ผู้หญิง ร้อยละ 53 ส่วนที่ จ.สงขลา ผู้ชาย ร้อยละ 4.9 ผู้หญิง ร้อยละ 13.5

จากงานศึกษาของ รศ.พญ.บุษยามาส ระบุด้วยว่า PM2.5 เป็นสารก่อมะเร็งที่มีขนาดโมเลกุลเล็กเพียง 2.5 ไมครอน เล็กมากจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ดังนั้น เมื่อ PM2.5 ลอยเข้าไปในหลอดลมจนถึงปอด จะเข้าไปโดยที่เราไม่รู้สึกตัวและป้องกันไม่ได้ เมื่อเข้าไปในปอดแล้วก็จะทำให้เกิดการอักเสบ มีการกลายพันธุ์ของ DNA RNA หากร่างกายได้รับสาร PM2.5 ในปริมาณมากและยาวนานเกินไป ร่างกายต่อสู้ไม่ไหวจะทำให้กลายเป็นมะเร็งปอดได้ โดยมะเร็งที่พบสัมพันธ์กับ PM2.5 ก็คือเป็นชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมา (Adenocarcinoma) หรือมะเร็งชนิดต่อม ซึ่งผู้หญิงมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดชนิดนี้ได้มากกว่าผู้ชาย ส่วนคนที่สูบบุหรี่อยู่แล้ว เมื่อสูด PM2.5 เข้าไป ความเสี่ยงโรคมะเร็งปอดจะทวีคูณขึ้นเป็น 2 เท่า นอกจากนี้ รศ.พญ.บุษยามาส บอกว่า ในอดีตชนิดของมะเร็งปอดที่พบคนป่วยในภาคเหนือคือสแควมัสคาร์ซิโนมา (Squamous Carcinoma) แต่แนวโน้มในปัจจุบันพบมะเร็งชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมาในผู้ป่วยมากขึ้น

 

เรื่องที่ 3 ปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุของโรค “มะเร็งปอด”

บุหรี่ : การสูบบุหรี่สัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งปอดโดยตรง ซึ่งผู้สูบบุหรี่มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบถึง 10 เท่า รวมถึงผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่เองโดยตรง แต่สูดดมจากบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบก็มีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป เพราะในควันบุหรี่มีสารก่อมะเร็งมากกว่า 60 ชนิด

แร่ใยหิน : การได้รับแร่ใยหิน (แอสเบสตอส) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายชนิด เช่น การก่อสร้าง โครงสร้างอาคาร ผ้าเบรก ฉนวนกันความร้อน และการสัมผัสสารก่อมะเร็ง เช่น โครเมียม ไรแย่หิน แร่เรดอน นิกเกิล ผู้เสี่ยงคือผู้ที่อาศัยหรือทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีสารก่อมะเร็งเป็นเวลานาน ซึ่งอาจใช้เวลานานกว่าสิบปีในการทำให้เกิดมะเร็งปอด สำหรับผู้ไม่สูบบุหรี่แต่ทำงานกับฝุ่นแอสเบสตอส อาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดมากกว่าคนทั่วไปถึง 5 เท่า

PM2.5 :  จากการศึกษาพบว่า ฝุ่น PM2.5 ทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดได้มากถึง 1 – 1.4 เท่า ซึ่งถือว่ามีความร้อนแรงเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่เนื่องจากมีอนุภาคเล็กมากจนร่างกายไม่สามารถกรองฝุ่นชนิดนี้ออกไปได้ PM 2.5 จึงเข้าไปในปอดและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างง่ายดาย ที่น่าเป็นห่วงคือ ปัจจุบัน PM 2.5 ในอากาศบ้านเราเพิ่มสูงขึ้นจนน่าตกใจ และบางที่สูงจนเป็นพิษต่อร่างกายได้ และความร้ายกาจของ PM 2.5 คือ ไม่ได้มาเพียงลำพัง แต่ยังปะปนกับสารปรอท แคดเมียม โลหะหนักอื่นๆ รวมถึงสารก่อมะเร็งอีกมากมา และนี่คือคำตอบว่า PM 2.5 สามารถทำให้เราเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดได้จริง ซ้ำร้ายยังสามารถเหนี่ยวนำให้เป็นมะเร็งชนิดอื่นๆ ได้อีกด้วย

อายุ : ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยทั่วไปความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นหลังอายุ 40 ปี แต่สามารถพบได้ในคนอายุน้อยกว่า 40 ปี

พันธุกรรม :  แม้โรคมะเร็งปอดจะไม่ได้ถ่ายทอดทางพันธุกรรมโดยตรง แต่พบว่าหากมีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งปอดตั้งแต่อายุน้อยๆ สมาชิกในครอบครัวก็มีความเสี่ยงที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน

เจาะลึก 10 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับ “มะเร็งปอด” No.1 มะเร็งโลก

เรื่องที่ 4 จับสัญญาณ "มะเร็งปอด"

- อาการไอเรื้อรังมากกว่า 1 เดือน อาจมีหรือไม่มีเสมหะก็ได้

- อาการไอเป็นเลือด

- หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ มีเสียงหวีด เนื่องจากก้อนมะเร็งโตขึ้น ทำให้เนื้อที่ปอดสำหรับหายใจเหลือน้อยลง หรือก้อนมะเร็งนั้นกดเบียดหลอดลม

- รู้สึกเจ็บหน้าอกเวลาหายใจ

- เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย 

- ปอดติดเชื้อบ่อย ปอดอักเสบ มีไข้

ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเกิดจากโรคอื่นที่เกี่ยวกับปอดได้เช่นกัน บางทีอาจไม่ใช่อาการของมะเร็งปอดเสมอไป

 

เรื่องที่ 5 ระยะและการรักษา "มะเร็งปอด"

ระยะของมะเร็งกำหนดจากตำแหน่งของเซลล์มะเร็ง การแพร่กระจายของมะเร็ง และการทำงานที่ผิดปกติของอวัยวะร่างกาย ระยะของมะเร็งมีความสำคัญต่อการรักษา เพราะช่วยให้แพทย์หาวิธีการรักษาที่เหมาะสม ส่งผลต่อการหายของโรคหรือการมีชีวิตที่ยืนยาวหรือดำรงชีวิตได้ดีขึ้น

ระยะของมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่

ระยะของมะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก แบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 พบมะเร็งเฉพาะที่บริเวณปอดเท่านั้น ไม่พบในต่อมน้ำเหลือง และยังไม่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง

ระยะที่ 2

- ระยะที่ 2A มะเร็งมีขนาดเล็กและพบแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอด

- ระยะที่ 2B มะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้นเล็กน้อยและแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอด หรือ เซลล์มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่น เช่น ที่ผนังทรวงอก

ระยะที่ 3

- ระยะที่ 3A เซลล์มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองในบริเวณอื่นที่ห่างจากปอด หรือพบมะเร็งในต่อมน้ำเหลืองรอบๆ ปอด และเซลล์มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังผนังทรวงอกหรือบริเวณกลางช่องอก

- ระยะที่ 3B เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองอีกด้านของช่องอกหรือต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้า หรือมีเนื้องอกมากกว่า 1 ก้อนในปอด หรือเนื้องอกเจริญเติบโตในอีกด้านของช่องอก เช่น หัวใจ หลอดอาหาร หรือมีของเหลวที่มีเซลล์มะเร็งอยู่รอบๆ ปอด

ระยะที่ 4 มะเร็งได้กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่น ตับ กระดูก สมอง

 

แนวทางการรักษา

สิ่งสำคัญของการรักษามะเร็งปอด คือ การพิจารณาตำแหน่ง ขนาด และระยะของเซลล์มะเร็ง รวมถึงสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย

การผ่าตัด

มีเป้าหมายเพื่อผ่าเอาก้อนมะเร็งที่ปอดและต่อมน้ำเหลืองที่ช่องอกออกให้หมด ซึ่งบางครั้งก้อนเนื้อนั้นอาจไม่ใช่เซลล์มะเร็งทั้งหมดก็ได้ โดยทั่วไปไม่ใช้ในการรักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็กซึ่งมักมีการแพร่กระจายตัวของเซลล์มะเร็งอย่างรวดเร็ว

วิธีนี้ใช้ในการรักษามะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก ในระยะที่ 1, 2 และ 3A

การฉายรังสี (radiotherapy)

เป็นการใช้พลังงานรังสีที่มีความเข้มข้นฉายไปยังตำแหน่งของเซลล์มะเร็งเพื่อทำลายกลุ่มก้อนเซลล์มะเร็งนั้น

วิธีนี้ใช้ไม่ได้ผลกับระยะมะเร็งที่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนต่างๆ แต่อาจใช้เฉพาะจุดเพื่อควบคุมการลุกลาม

การฉายรังสีใช้เวลาไม่นานและไม่ทำให้เจ็บปวด แต่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น กลืนลำบาก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ระคายเคืองผิวหนังบริเวณที่ฉายรังสี

การใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (immunotherapy) เพื่อให้ภูมิคุ้มกัน ระบบการทำงานของภูมิคุ้มกัน การตรวจจับและการทำลายเซลล์มะเร็งมีประสิทธิภาพ

การให้ยาเคมีบำบัด (chemotherapy) เป็นการใช้ยากำจัดและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งที่มีอยู่ทั่วร่างกาย โดยทั่วไปยาเคมีบำบัดที่ใช้กับมะเร็งปอดเป็นรูปแบบยาฉีดเข้าเส้นเลือด

การรักษาแบบเฉพาะเจาะจง (targeted therapy) เป็นการรักษาโดยการใช้ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง โดยไม่ส่งผลต่อเซลล์ปกติ ให้ประสิทธิผลในการรักษาและไม่ทำให้เกิดอาการข้างเคียงเหมือนเช่นยาเคมีบำบัด

การรักษาด้วยการผสมผสาน โดยทั่วไปการรักษามะเร็งจะใช้มากกว่าหนึ่งวิธีขึ้นไป ผู้ป่วยควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาและผลข้างเคียงของแต่ละวิธี เพื่อให้ความร่วมมือในการรักษาให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

เจาะลึก 10 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับ “มะเร็งปอด” No.1 มะเร็งโลก

เรื่องที่ 6 การตรวจคัดกรองมะเร็งปอด ช่วยลดอัตราการตายได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์

ปัจจุบันการตรวจคัดกรองโรคมีความสำคัญอย่างยิ่งในการจำแนกผู้ที่มีโรคให้ได้รับการวินิจฉัย และรับการรักษาก่อนที่จะแสดงอาการของโรค ผู้ป่วยในบางครั้งเริ่มมีอาการของโรคเกิดขึ้น แต่ยังไม่แสดงอาการ ถึงแม้ว่าจะมีผู้ป่วยหลายรายที่ตรวจสุขภาพเป็นประจำ แต่ไม่สามารถคัดกรองโรคมะเร็งปอดในระยะต้นๆ ได้อาจเป็นเพราะการตรวจสุขภาพนั้นเป็นแบบกว้าง ซึ่งอาจไม่ละเอียดเพียงพอหรืออาจเกิดจากผู้ป่วยไปตรวจตอนที่มีอาการแล้ว เช่น ไอหรือเหนื่อย ซึ่งมักจะพบในโรคมะเร็งปอดระยะท้ายๆ ทำให้โอกาสการรอดชีวิตค่อนข้างต่ำ จากข้อเท็จจริงนี้ส่งผลทำให้เริ่มมีการส่งเสริมการคัดกรองความเสี่ยงมะเร็งปอดมากขึ้น

รายงานการวิจัยของ "สมาคมนานาชาติมะเร็งปอด" ( international association for the study of lung cancer: IASLC) ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการทำเอ็กซเรย์ปกติ ( Chest x-ray) กับเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ( Low dose Computed tomography chest screening: LDCT ) ในกลุ่มประชากรที่ความเสี่ยงพบว่าการทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (LDCT) สามารถพบมะเร็งปอดได้ดีกว่าการทำเอ็กซเรย์ปกติ ( rate ratio 1.13: 95% confidence interval, 1.03 to 1.23) และยังสามารถทำให้ลดอุบัติการณ์การเสียชีวิตจากมะเร็งปอดในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยง ได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์

กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง High risk group ที่ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดกรองอาการ คือคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป และกลุ่มคนที่กำลังสูบบุหรี่ หรือเคยสูบบุหรี่ระยะเวลาเฉลี่ยมากกว่า 20 ปี และมากกว่า 1 ซองต่อวัน เช่น สูบบุหรี่มา 10 ปี เฉลี่ยวันละ 2 ซอง หรือสูบบุหรี่มา 20 ปี เฉลี่ยวันละ 1 ซอง หรือ มีประวัติเสี่ยง เช่น ทำในโรงงานโลหะหนักหรือมีประวัติครอบครัวสายตรงเป็นโรคมะเร็งปอด

สำหรับประโยชน์ของการคัดกรองความเสี่ยงมะเร็งปอด นอกจากจะลดโอกาสการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดแล้ว ยังสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและเพิ่มโอกาสการเจอโรคอื่น ๆ นอกจาก มะเร็งปอดที่ต้องได้รับการรักษา “เพราะสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งตรวจพบได้เร็ว ยิ่งเพิ่มโอกาสการรอดชีวิต”

 

เรื่องที่ 7 บ้านที่มีคนสูบบุหรี่เสี่ยงมะเร็งปอดเพิ่ม 24%

สถานการณ์การบริโภคยาสูบในประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มอัตราการสูบบุหรี่ค่อนข้างคงที่ โดย ศจย. ได้ศึกษาพบว่า มีครัวเรือนที่มีคนสูบบุหรี่ มากถึง 4,962,045 ครัวเรือน คนที่ไม่สูบบุหรี่จึงได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน โดยเฉลี่ยมากถึง 10,333,653 คน มีผลการวิจัยพบว่า ผู้หญิงที่มีสามีสูบบุหรี่ หรือผู้ที่ทำงานในสถานที่ที่มีคนสูบบุหรี่มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 24% และ 19% ตามลำดับเด็กทารกที่มีผู้ปกครองสูบุบหรี่มีโอกาสเกิดภาวะไหลตายเพิ่มขึ้น 2 เท่า มีโอกาสเกิดหลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบเพิ่มขึ้น 47% และมีโอกาสเป็นโรคหอบหืดเพิ่มขึ้น 39%

ศูนย์สร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ได้ศึกษาเด็กก่อนวัยเรียนอายุต่ำกว่า 6 ปี ที่มีคนในครอบครัวสูบบุหรี่ พบว่า 50% ของผู้สูบบุหรี่ มีการดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย และเด็ก 16% ตรวจพบสารโคตินินในปัสสาวะ แสดงถึงสารพิษตกค้างในตัวเด็กจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง และเด็กกลุ่มที่ผู้ปกครองร่วมโครงการเลิกบุหรี่มือสอง มีระดับโคตินินในปัสสาวะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แสดงให้เห็นว่า การได้รับพิษภัยจากบุหรี่มือสองและมือสาม (ควันบุหรี่ที่ติดตามเสื้อผ้า ของใช้ในบ้านและรถยนต์) เป็นภัยร้ายที่ไม่คาดคิดต่อชีวิตของลูกน้อย เพราะเด็กต้องใช้อากาศหรือสิ่งของร่วมกันกับผู้ใหญ่

 

เรื่องที่ 8 "พฤศจิกายน" เดือนแห่งการรณรงค์ต้านภัยมะเร็งปอด

กรมการแพทย์ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เชิญชวนคนไทยให้ตระหนักถึงภัยมะเร็งปอด เนื่องจากพบบ่อยในคนไทย และผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดระยะแรกมักจะไม่มีอาการ แต่เมื่อโรคดำเนินไปมากขึ้นก็จะมีอาการ แต่ก็มักไม่จำเพาะ จึงอาจทำให้เกิดการวินิจฉัยที่ล่าช้า มีผลต่อระยะของโรคที่ลุกลามหรือแพร่กระจายไปมาก ส่งผลให้การรักษาได้ผลไม่ดีเท่าที่ควรและมีโอกาสการรักษาหายจากโรคน้อย 

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดที่มีประสิทธิภาพในระดับประชากร แต่มีคำแนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งปอดเข้ารับการตรวจคัดกรองโดยการเอกซเรย์ปอดเป็นประจำทุกปี อย่างไรก็ตาม การป้องกันมะเร็งปอดจากการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคลงได้

เจาะลึก 10 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับ “มะเร็งปอด” No.1 มะเร็งโลก

เรื่องที่ 9 กินอาหารบำรุงปอด ลดความเสี่ยง “มะเร็งปอด”

วิธีในการบำรุงปอดอย่างง่ายที่สุด คือการรับประทานอาหารที่มีคุณสมบัติในการต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระที่อาจะไปทำร้ายเนื้อเยื้อปอดได้ จากข้อมูลบทความวิชาการที่เผยแพร่ในวารสารต่างประเทศ ระบุว่ามีแหล่งอาหาร 10 ชนิด หากรับประทานเป็นประจำจะส่งผลดีต่อการทำงานของปอด ประกอบด้วย 

1. ขิง เป็นสมุนไพรที่ดีต่อระบบทางเดินอาหาร ช่วยต้านการอักเสบ

2. พริกหวาน เป็นแหล่งวิตามินซีที่ดี ช่วยต้านอนุมูลอิสระและทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้เป็นปกติ

3. แอปเปิ้ล มีใยอาหาร วิตามินซีและมีสารต้านอนุมูลอิสระ

4. ฟักทอง มีสารอาหารที่ส่งเสริมสุขภาพปอดหลายชนิด โดยเฉพาะแคโรทีนอยด์ เบต้าแคโรทีน ลูทีน และซีแซนทีน

5. ขมิ้นชัน มีสารเคอร์คูมินเป็นส่วนประกอบหลักการศึกษาวิจัยพบว่าการบริโภคเคอร์คูมินมีความสัมพันธ์กับการทำงานของปอดที่ดีขึ้น

6. มะเขือเทศ มีสารไลโคปีน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มแคโรทีนอยด์ ที่จะช่วยลดการอักเสบของทางเดินหายใจในผู้ที่เป็นโรคหอบหืดและช่วยเรื่องการทำงานของปอดในผู้ที่เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

7. ธัญพืชเต็มเมล็ด ที่ไม่ผ่านการขัดสีหรือขัดสีน้อย เช่น ข้าวกล้อง ข้าวบาร์เลย์ ข้าวฟ่าง เป็นต้น เป็นอาหารที่มีเส้นใยสูงอุดมด้วยวิตามินอี ซีลีเนียมและกรดไขมันจำเป็น ซึ่งดีต่อสุขภาพปอด

8. น้ำมันมะกอก เป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีเพราะมีสารโพลีฟีนอลและวิตามินอีที่ช่วยป้องกันโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ

9. หอยนางรม อุดมด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อสุขภาพปอด ได้แก่ สังกะสี ซีลีเนียม วิตามินบีและทองแดง และ

10. ผลไม้ตระกูลเบอร์รี เช่น สตรอว์เบอรี บลูเบอร์รี มีฟลาโวนอยด์ที่เรียกว่าแอนโธไซยานิน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง เป็นต้น

ทั้งนี้ การกินผักและผลไม้เป็นประจำให้ได้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม โดยแบ่งเป็นผักสุก 3 มื้อ ๆ ละ 2 ทัพพี ผลไม้ตามฤดูกาลวันละ 3-5 ส่วน จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคปอด เนื่องจากผักและผลไม้อุดมไปด้วยวิตามินและ แร่ธาตุต่างๆ เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินดี สังกะสี ซิลิเนียม สารอาหารเหล่านี้มีส่วนช่วยสร้างภูมิต้านทานและเสริมการทำงานของเม็ดเลือดขาวให้สามารถกำจัดเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ผักและผลไม้ยังมีสาร ฟลาโวนอยด์ มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เซลล์ปอดถูกทำลายได้

 

เรื่องที่ 10 “มะเร็งปอด” คร่าชีวิตคนดัง

“หม่อมน้อย” หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล

วิทยา ศุภพรโอภาส

"เอก" สรพงศ์ ชาตรี

"อาต้อย" เศรษฐา ศิระฉายา

โรเบิร์ต สายควัน

น้าเฉื่อย ระเบิดเถิดเทิง

พนม พลราชม

ประจวบ ไชยสาส์น

อู เดย์ทริปเปอร์