svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ และ ความงาม

สรุปครบสิทธิประโยชน์ ยกระดับ "บัตรทองพรีเมี่ยม" รักษาโรคร้าย เข้าได้ทุกรพ.

สรุปครบสิทธิประโยชน์ ยกระดับ "บัตรทองพรีเมี่ยม" รักษาโรคร้าย เข้าได้ทุกรพ.

กระทรวงสาธารณสุข ยกระดับ "บัตรทอง" เป็น "บัตรทองพรีเมี่ยม" ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มสิทธิรักษาโรคร้ายฟรี ย้ายสิทธิง่าย เพิ่มบริการครอบคลุมทุกกลุ่ม สิทธิประโยชน์มีอะไรบ้าง "เนชั่นออนไลน์"รวบรวมไว้ที่นี่

17 กันยายน 2565 กระทรวงสาธารณสุข ยกระดับ "บัตรทอง" หรือบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้เป็น “บัตรทองพรีเมี่ยม” เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ เพิ่มคุณภาพ และบริการ มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ ครอบคลุมทั้งผู้ป่วยโรคร้ายแรง ผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบาง และผู้ป่วยที่ต้องการเข้าถึงการวินิจฉัยและการดูแลสุขภาพผ่านทางออนไลน์ (Telemedicine) ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ของการเข้ารับการรักษาและดูแลสุขภาพในปัจจุบัน


น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพประชาชน และการเข้าถึงบริการภาครัฐของพี่น้องประชาชนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขพัฒนาบัตรทอง หรือบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้เป็น “บัตรทอง
พรีเมี่ยม” เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ เพิ่มคุณภาพ และบริการ


ผู้ถือบัตรทองสามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ในโรงพยาบาลรัฐที่เป็นโรงพยาบาลปฐมภูมิทั่วประเทศ นอนโรงพยาบาลโดยไม่ต้องมีใบส่งตัว นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงบริการอย่างปลอดภัย ไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลภายใน 72 ชั่วโมง หรือพ้นภาวะวิกฤติ

 

" เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาล สามารถเปลี่ยนสิทธิรักษามีผลทันทีไม่ต้องรอ 15 วัน ผ่านแอปพลิเคชั่นของ สปสช. หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด สะดวกสบาย ประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายและเวลาการเดินทางไปรักษา "

 

นอกจากนี้ ผู้ถือบัตรทอง ยังสามารถรับการบริการสาธารณสุขระบบทางไกล (Telehealth/Telemedicine) และการตรวจทางห้องปฏิบัติการนอกโรงพยาบาล สามารถรับยาที่ร้านขายยาแผนปัจจุบันใกล้บ้านสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หืด จิตเวช และโรคเรื้อรังอื่น ๆ บริการส่งยาเวชภัณฑ์ถึงบ้านทางไปรษณีย์ การใช้กัญชาทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง พาร์กินสัน ไมเกรน

 

ขณะที่จำนวนสถานพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพ มีถึง 15,505 แห่ง ครอบคลุมเขตพื้นที่ สปสช. ทั้ง 13 เขต

 

สำหรับข้อมูลการจำแนกสิทธิหลักประกันสุขภาพในประเทศไทย ประจำเดือนสิงหาคม 2565 (ข้อมูล ณ วันที่ 15 กันยายน 2565) โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จากจำนวนประชากรในประเทศ 67,286,989 ราย แบ่งเป็น

  • สิทธิ สปสช. (สิทธิบัตรทอง) จำนวน 47,232,289 ราย
  • สิทธิประกันสังคม จำนวน 12,721,515 ราย
  • สิทธิข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ 5,298,815 ราย
  • สิทธิพนักงานส่วนท้องถิ่น 637,991 ราย
  • สิทธิผู้ประกันตนคนพิการฯ 13,009 ราย


 

  สิทธิประโยชน์ "บัตรทองพรีเมี่ยม"  

สิทธิบัตรทอง นอกจากจะใช้กับกรณีการเจ็บป่วยทั่วไป บดเจ็บ ประสบอุบัติเหตุ เจ็บป่วยฉุกเฉิน และเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต (UCEP) ยังมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ครอบคุลมผู้มีสิทธิบัตรทองกว่า 47 ล้านคน ดังนี้

  • สิทธิการรักษาโรคร้าย โดยผู้ป่วยมะเร็งสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเฉพาะทาง และรักษามะเร็งได้ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกที่
  • สิทธิฟอกไตฟรี สำหรับผู้ป่วยโรคไต
  • รับการรักษาโควิด-19 ฟรี ที่สถานพยาบาล หรือผ่านระบบปรึกษาแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ผ่านแอปพลิเคชั่นที่ร่วมโครงการ
  • บริการสำหรับแม่และเด็ก เช่น การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก การเพิ่มวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก คัดกรองภาวะ Down Syndrome ในหญิงตั้งครรภ์ (อายุไม่เกิน 35 ปี) ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมสำหรับเด็กหูหนวก และการให้บริการแว่นตาเด็ก
  • บริการสำหรับวัยเจริญพันธุ์และการวางแผนครอบครัว เช่น การคุมกำเนิด ด้วยยาคุมกำเนิดหรือถุงยางอนามัย
  • สำหรับผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบาง ให้การดูแลและรักษาระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ การรักษาผู้ป่วยติดบ้านหรือผู้ป่วยติดเตียงในชุมชนทุกสิทธิและทุกกลุ่มอายุ และแจกผ้าอ้อมผู้ใหญ่และแผ่นรองซับการขับถ่าย เพื่อดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ป่วยที่มีปัญหากลั้นขับถ่าย จำนวน 3 ชิ้น/คน/วัน
  • เพิ่มการเข้าถึงบัญชียา โรคมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและต่อมน้ำเหลือง โรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี การป้องกันและรักษาโรคเอดส์ด้วยยาต้านไวรัส HIV
  • เพิ่มสิทธิด้านวัคซีน 5 ชนิด ได้แก่ คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ไวรัสตับอักเสบบี และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
  • ผู้ถือบัตรทองยังสามารถ รับการบริการสาธารณสุขระบบทางไกล (Telehealth/Telemedicine) และการตรวจทางห้องปฏิบัติการนอกโรงพยาบาล
  • บริการรับยาที่ร้านขายยาแผนปัจจุบันสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หืด จิตเวช และโรคเรื้อรังอื่น ๆ
  • บริการส่งยาเวชภัณฑ์ถึงบ้านทางไปรษณีย์
  • การใช้กัญชาทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง พาร์กินสัน ไมเกรน


นอกจากนี้ สปสช. เปิดให้ผู้มีสิทธิบัตรทองที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษา สามารถเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ที่หน่วยบริการปฐมภูมิใดก็ได้ โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว และผู้ป่วยใน ไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว รวมถึง สามารถเปลี่ยนหน่วยบริการประจำใหม่ และใช้สิทธิบัตรทองได้ทันที ไม่ต้องรอระยะเวลาเกิดสิทธิ 15 วัน (สามารถเปลี่ยนหน่วยบริการประจำได้ไม่เกิน 4 ครั้ง ต่อปีงบประมาณ)


ทั้งนี้ สปสช. ได้รับการจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 198,891.79 ล้านบาท เป็นงบฯเหมาจ่ายรายหัวประจำปีงบประมาณ 2565 ไว้ที่ 158,294.42 ล้านบาท เพื่อดูแลประชากรผู้มีสิทธิบัตรทอง 47.66 ล้านคน (เฉลี่ย 3,329.22 บาท/ต่อหัว)


สำหรับรายละเอียดของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2565 มีดังนี้

  • งบฯเหมาจ่ายรายหัว จำนวน 158,294.42 ล้านบาท
  • (หลังหักเงินเดือนภาครัฐ 53,388.62 ล้านบาท เป็นงบฯ สปสช. นำมาบริหาร 104,905.79 ล้านบาท)
  • งบฯผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ จำนวน 3,768.11 ล้านบาท
  • งบฯผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง จำนวน 9,731.34 ล้านบาท
  • งบฯควบคุมป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง จำนวน 1,154.78 ล้านบาท
  • งบฯเพิ่มเติม โรงพยาบาลพื้นที่กันดาร เสี่ยงภัย และจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,490.29 ล้านบาท
  • งบฯผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน จำนวน 990.11 ล้านบาท
  • งบฯเพิ่มเติมบริการปฐมภูมิ จำนวน 319.28 ล้านบาท
  • งบฯบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 2,769.93 ล้านบาท
  • งบฯบริการกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 825.08 ล้านบาท
  • งบฯช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการและผู้ให้บริการ จำนวน 283.03 ล้านบาท
  • งบฯสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จำนวน 19,265.42 ล้านบาท


ส่วนงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2566 มีวงเงิน 204,140.02 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบฯเหมาจ่ายรายหัว 161,602.66 ล้านบาท (เฉลี่ย 3,385.98 บาท/ต่อหัว) และที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้เห็นชอบข้อเสนอหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริการจัดการกองทุนไปแล้ว เมื่อ 29 กรกฎาคม 2565 และเริ่มใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2565

 

โรคโควิด-19 ตั้งงบฯต่ออีก 1,358.86 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดการบริหารจัดการงบประมาณเบื้องต้น ดังนี้

  • บริการโรคโควิด-19 จำนวน 1,358.86 ล้านบาท
  • นโยบายยกระดับบัตรทอง จำนวน 1,987.64 ล้านบาท
  • บริการยาราคาแพงเพื่อรักษามะเร็ง จำนวน 125.31 ล้านบาท
  • บริการยาที่มีส่วนผสมของกัญชาที่บรรจุในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติ จำนวน 44.41 ล้านบาท
  • ปรับการจ่ายตามรายการบริการ สำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 และความดันโลหิตสูง จำนวน 908 ล้านบาท
  • เพิ่มสัดส่วนสมทบกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพในระดับจังหวัดตามความพร้อมแต่ละพื้นที่ จำนวน 822.19 ล้านบาท
  • การผ่าตัดข้อเข่าและผ่าตัดต้อกระจก ปรับเป้าหมายตามบริบทพื้นที่ จำนวน 1,777.99 ล้านบาท
  • บริการดูแลระยะยาวสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง (LTC) ปรับจ่ายตามแผนการดูแลแต่ละบุคคล (Care plan) และปรับรอบการจ่ายเป็นทุก 15 วัน จำนวน 1,265,65 ล้านบาท
  • บริการไตวายเรื้อรัง จำนวน 9,952.18 ล้านบาท
  • แผนและวงเงินการจัดหายา วัคซีน เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษ ปี 2566 วงเงิน 12,162.83 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ สปสช. ยังมีการเพิ่มการสนับสนุนบริการใหม่ให้กับประชาชน ในปีงบประมาณที่จะถึงนี้ เช่น

  • การดูแลภาวะความดันเลือดในปอดสูงในทารกแรกเกิด (Persistent Pulmonary Hypertension of the Newborn)
  • บริการด้านทันตกรรม Vital Pulp Therapy
  • รากฟันเทียม
  • บริการห้องฉุกเฉินคุณภาพภาครัฐ
  • บริการผ้าอ้อมผู้ใหญ่และแผ่นรองซับ
  • บริการยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (HIV-PEP)
  • เพิ่มยาในบัญชียาที่จำเป็นต้องใช้สำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย (บัญชี จ.2) จำนวน 14 รายการ
  • บริการดูแลผู้ป่วยกึ่งเฉียบพลัน บริการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับพิษ
  • บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอื่น ๆ
     
News Hub