svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ท่องเที่ยว

เปิดตำนาน “เขาวงพระจันทร์” ปีนบันได 3,790 ขั้น เตรียมตัวอย่างไร??

ย้อนตำนาน “เขาวงพระจันทร์” จังหวัดลพบุรี ต้องปีนบันได 3,790 ขั้น นมัสการ "รอยพระพุทธบาท" ต้องเตรียมตัวอย่างไร ... ??

เปิดตำนาน “เขาวงพระจันทร์” ปีนบันได 3,790 ขั้น เตรียมตัวอย่างไร??

 

เริ่มแล้วสำหรับเทศกาลพิชิต “วัดเขาวงพระจันทร์” ประจำปี 2565 ที่เปิดให้ผู้มีจิตศรัทธาเดินขึ้นบันได 3,790 ขั้น เพื่อนมัสการรอยพระพุทธบาท ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ซึ่งปีนี้ไม่ได้จัดงานใหญ่โต เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย แต่ทางวัดได้มีการเปิดไฟทางขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มาแสวงบุญทุกคน สามารถเดินขึ้นเขาได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

แต่ก่อนจะเดินทางไปยังสถานที่ที่มีประวัติศาสตร์แห่งนี้  เราต้องเข้าใจถึงที่มาที่ไป รวมถึงวิธีเตรียมตัวอย่างไร เพื่อพิชิตบันได 3,790 ขั้น ซึ่งหากร่างกายไม่พร้อมก็อาจจะเดินขึ้นไปไม่ถึง ดังนั้น เนชั่นออนไลน์จึงรวบรวมข้อมูลเหล่านี้มาฝากกัน

 

เปิดตำนาน “เขาวงพระจันทร์” ปีนบันได 3,790 ขั้น เตรียมตัวอย่างไร??

สำหรับ “วัดเขาวงพระจันทร์” อยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองลพบุรี ประมาณ 28 กิโลเมตร ตามเส้นทางถนนพหลโยธิน ตรงหลักกม.ที่ 178 มีทางแยกเลี้ยวขวาอีก 5 กม. ตั้งอยู่ในเขตตำบลห้วยโป่ง อำเภอโคกสำโรง บริเวณเชิงเขาจะเป็นที่ตั้งของวัดเขาวงพระจันทร์ มีทางบันไดไต่ขึ้นไปสู่ยอดเขาประมาณ 3,799 ขั้น

 

ยอดเขานี้สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 650 เมตร ถ้าวัดจากเชิงเขาถึงยอดเขาโดยแนวบันไดจะยาว 1,680 เมตร ใช้เวลาเดินทางจากเชิงเขาถึงยอดเขาประมาณ 2-3 ชั่วโมง สองข้างทางจะเต็มไปด้วยป่าไม้ขึ้นสลับซับซ้อนเต็มไปหมด บางแห่งจะเป็นที่ลาด บางแห่งจะเป็นที่ชัน เมื่อขึ้นไปถึงยอดเขาวงพระจันทร์จะมองเห็นทิวทัศน์เบื้องล่างได้ไกลสุดสายตา สถานที่นี้เป็นแหล่งสะสมวัตถุโบราณ ของหายากมากมาย และพระพิมพ์ต่างๆ เพราะ “หลวงปู่ฟัก” อดีตเจ้าอาวาสเป็นนักสะสมพระเครื่องมาก่อนที่ท่านจะบวช ซึ่งมีการจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ได้ชมกันอีกด้วย

 

เปิดตำนาน “เขาวงพระจันทร์” ปีนบันได 3,790 ขั้น เตรียมตัวอย่างไร??

 

เปิดตำนาน “เขาวงพระจันทร์” ปีนบันได 3,790 ขั้น เตรียมตัวอย่างไร??

 

 

สำหรับตำนานเขาวงพระจันทร์ มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า ท้าวกกขนาก ยักษ์ตนสุดท้ายที่ไม่ยอมแพ้พระราม ตามตำนานเรื่องรามเกียรติ์  จึงถูกพระรามแผลงศรโดนยักษ์กระเด็นลอยละลิ่วข้ามมหาสมุทรอินเดียมาตกที่ยอดเขาลูกนี้ แล้วพระรามก็สาปให้ศรปักอกเอาไว้หากวันใดที่ศรเขยื้อนจะให้หนุมานลูกพระพาย (ลูกลม ถ้าตายเมื่อต้องลมพัดผ่าน จะกลับฟื้นคืนชีพ หนุมานจึงไม่รู้จักตาย) เอาฆ้อนมาตอกย้ำลูกศร ให้ปักอกไว้เช่นเดิม แต่ยักษ์โดนเข้าขนาดนี้ก็ยังไม่ตายนอนรอความตาย ฝ่ายนางนงประจันทร์ลูกสาวท้าวกกขนากก็เหาะตามมาเพื่อปรนนิบัติดูแลพ่อ เพราะพ่อยังไม่ตาย ท้าวกกขนากได้แต่นอนแอ้งแม้งอยู่ในถ้ำยอดเขานางพระจันทร์นี้และต่อมาเมื่อนางทราบว่าหากได้น้ำส้มสายชูมารดที่โคนศรแล้วศรจะเขยื้อนหลุดออกมาได้ แต่หากศรเขยื้อน ไก่แก้วก็จะขันเรียกหนุมานเอาฆ้อนมาตอกศร จึงเป็นเหตุผลให้เมืองลพบุรีไม่มีน้ำส้มสายชูขายมานาน จากตำนานนี้จึงเรียกเขาลูกนี้ว่า เขานงประจันต์หรือนางพระจันทร์ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2496 หลวงพ่อโอภาสี ได้ขึ้นมาบนเขานี้ และเห็นว่าบริเวณเขาทั้ง 4 ด้าน เป็นรูปเขาโค้ง มองทางไหนก็เห็นเป็นวงโอบล้อมอยู่ จึงขนานนามว่า "เขาวงพระจันทร์" นับตั้งแต่นั้นมา

 

อีกหนึ่งตำนาน เล่าว่า ขันหมากเจ้ากรุงจีน มีพ่อค้าจีนชื่อ กงจีน หรือ เจ้ากรุงจีน เดินทางมาค้าขายโดยเรือสำเภา พ่อค้าคนนี้ร่ำรวยเป็นเศรษฐี และได้มาพบสาวงามชื่อนางนงประจันทร์ เกิดรักใคร่ขึ้น จึงมาสู่ขอกับพ่อของนาง ตอนที่ขบวนเรือขันหมากแล่นมาใกล้เมืองลพบุรี (ต่อมาสถานที่นั้นกลายเป็นคลองชื่อ คลองบางขันหมาก) เมื่อชายหนุ่มที่เป็นคนรักของนางนงประจันทร์ทราบเรื่อง ก็แปลงกายเป็นจรเข้ตัวใหญ่มากไปขวางขบวนเรือ และทำลายเรือขันหมาก ลูกเรือก็กระโดดน้ำหนี (บริเวณตรงนั้นปัจจุบันกลายเป็นภูเขาเตี้ย ๆ ชื่อเขาจีนโจน) มีลูกเรือบางส่วนขึ้นฝั่งได้ก็พากันมามองหาเรือและตามเก็บของที่ลอยน้ำมา (บริเวณนี้กลายเป็นภูเขาชื่อเขาจีนแล)

 

ส่วนเรือสำเภาที่ล่มกลายเป็นภูเขาชื่อเขาตะเภา ข้าวของที่พ่อค้านำมาเป็นสินสอดมีผ้าแพรที่พับไว้อย่างดีซึ่งจมน้ำ ต่อมากลายเป็นภูเขามีลักษณะเป็นชั้น ๆ ชื่อเขาพับผ้า หรือเขาหนีบ ส่วนแก้วแหวนเงินทองงมาจมลงที่เดียวกันกลายเป็นภูเขาชื่อเขาแก้ว มีตะกร้าที่นำมาด้วยจมอยู่กลายเป็นภูเขาชื่อเขาตะกร้า และมีพวกขนมที่นำมารวมกองกันอยู่กลายเป็นภูเขาที่มีลักษณะคล้ายขนมเข่งขึ้นรา ชื่อเขาขนมบูด ส่วนนางนงประจันทร์ระหว่างรอขบวนขันหมากและเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกิดตกใจตกลงไปในน้ำ นางจึงจมน้ำตายและกลายเป็นภูเขาชื่อเขานงประจันทร์ หรือเขานางพระจันทร์ (ต่อมาเรียกเพี้ยนไปเป็นเขาวงพระจันทร์ แต่เรื่องนี้เป็นคนละตำนานกับตำนานเขาวงพระจันทร์)

 

สำหรับจรเข้หนุ่มเมื่อล่มเรือขันหมากแล้วเห็นคนรักตกน้ำพยายามจะว่ายไปช่วยแต่หมดแรงก่อนจึงจมน้ำตายกลายเป็นภูเขาชื่อเขาตะเข้ หรือเขาจรเข้

 

 

สำหรับ "เขาวงพระจันทร์" มีสิ่งมหัศจรรย์ 9 อย่าง ประกอบด้วย

 

  • รอยพระพุทธบาทแท้ (รอยพระบาทที่ 4)
  • รอยเขี้ยวแก้วพระพุทธเจ้าแท้
  • หลวงปู่ฟัก อายุ 93 ปี อดีตเจ้าอาวาส ฉันมังสะวิรัติตลอดชีวิต,ไม่สรงน้ำ(อาบน้ำ)ตลอดชีวิต
  • พระบรมสารีริกธาตุเสด็จมาเองจำนวนมาก
  • พิพิธภัณฑ์ พ้นล้าน
  • บันไดขึ้นเขา 3,799 ขั้น
  • ต้นปลัดขิก ธรรมชาติ
  • ควาย 3 เขา แห่งเดียวในโลก
  • งาช้างสีดำ แห่งเดียวในโลก

 

งานประเพณีที่สำคัญของวัด

 

เทศกาลขึ้นเขาวงพระจันทร์ จัดขึ้นประมาณเดือนสามช่วงเทศกาลตรุษจีนของทุกปี ประชาชนโดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายจีนทั้งใกล้ และไกลจะหลั่งไหลกันมานมัสการรอยพระพุทธบาทและพระพุทธรูปบนยอดเขาแห่งนี้อย่างเนืองแน่นเป็นประจำตลอดช่วงเทศกาล สิ่งก่อสร้างและรูปแบบของการแสดงความเคารพที่วัดแห่งนี้จึงมีอิทธิพลจีนนิกายฝ่ายมหายานอยู่มาก

 

เขาวงพระจันทร์ได้ชื่อว่าเป็นเขาที่สูงที่สุดของจังหวัดลพบุรี และเป็นภูเขาที่สร้างชื่อเสียงให้ผู้คนรู้จักเมืองลพบุรีมาช้านาน

 

 

การเตรียมตัวขึ้นเขา

 

  • ช่วงเทศกาล 1 – 15 กุมภาพันธ์ สามารถเดินขึ้นได้ทั้งวันทั้งคืน 24 ชั่วโมง
  • ส่วนช่วงเวลาปกติจะเปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 05.00-18.00 น. หากเดินทางมาช่วงกลางคืนต้องมีไฟฉายเฉพาะ
  • เวลาขึ้นเขาที่แนะนำ ช่วงเช้าเวลา 05.00 น. ถึง 09.00 น. ส่วนช่วงเย็นเวลา 16.00 น. ถึง 19.00 น.
  • โปรดนำอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับขึ้นเขา และยาประจำตัว เช่น ยาดม ยาลม ยาหม่อง และของจำเป็นอื่น ๆ ติดตัวมาด้วย

 

 

หากต้องการติดต่อสำนักงานเลขานุการ

วัดเขาวงพระจันทร์ โทร 061-070-7161