ความนิยมของ Among Us คือเรื่องที่ผู้พัฒนายังตกใจ ถึงเป็นเกมที่ได้รับความนิยมสูงมากเมื่อปีที่แล้ว แต่แท้จริงนี่คือเกมที่เปิดตัวตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2018 ยาวนานเกือบสองปีกลับไม่มีผู้คนมาสนใจ กระทั่งในช่วงปี 2020 นี่เอง เกมนี้ก็ก้าวกระโดดจากผู้เล่นหลักพันสู่ผู้เล่นหลักล้านในข้ามคืน
ความซบเซาของกระแสเกม Among Us ช่วงแรก ส่วนหนึ่งมาจากความผิดพลาดด้านการตลาด ซึ่งมาร์คัส โบรแมนเดอร์ เกมดีไซน์เนอร์หนึ่งในทีมผู้พัฒนาออกมายอมรับจุดนี้ จากยอดดาวน์โหลดเพียง 1,000 ครั้งช่วงเปิดตัว แต่ภายหลังความนิยมพุ่งทะยานสิ่งเหล่านี้ล้วนเปลี่ยนไป กลายเป็นยอดดาวน์โหลดกว่า 264,000,000 ครั้ง
ในช่วงแรกที่เริ่มได้รับความนิยมทางผู้พัฒนา InnerSloth ก็ประกาศพัฒนาเกมภาคสอง แต่หลังจากนั้นพวกเขาจึงตัดสินใจพับโครงการหันมาเอาใจใส่เกมภาคแรก ด้วยความเป็นบริษัทขนาดเล็กมีพนักงานอยู่เพียง 3 คน พวกเขาจึงหันมาพัฒนาเกมภาคแรกให้ดีขึ้น ไม่ปล่อยโอกาสกับความนิยมที่ได้มาเสียเปล่า เพิ่มระบบและแผนที่ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
แน่นอนว่าบรรยากาศของเกมนี้ไม่ได้ไร้ที่มาแต่ต้นแบบชัดเจนว่ามาจากภาพยนตร์สยองขวัญในตำนานเรื่องหนึ่ง
The Thing ต้นตำรับความสยองขวัญและไม่ไว้ใจกัน
สำหรับคอหนังฝรั่ง นี่คือชื่อภาพยนตร์ในตำนานที่ต้องเคยรับชมผ่านตากันมาบ้าง กับภาพยนตร์สยองขวัญคลาสสิกเรื่อง The Thing(1982) ของผู้กำกับจอร์น คาร์เพนเทอร์ นำแสดงโดยดาราดัง เคิร์ท รัสเซล โดยมีต้นแบบมาจาก Who Goes There? นิยายปี 1938 นำมาดัดแปลงเนื้อเรื่องให้เราได้รับชม
ภายในภาพยนตร์เล่าถึงนักวิจัยที่บังเอิญเจอกับสุนัขตัวหนึ่งกำลังวิ่งหนีการไล่ยิงของเฮลิคอปเตอร์ ก่อนจบลงด้วยสุนัขตัวนั้นหลบเข้ามาในศูนย์วิจัยขณะที่เฮลิคอปเตอร์ลำดังกล่าวร่วงลง คนในศูนย์รับเอาเจ้าสุนัขตัวดังกล่าวมาดูแล โดยไม่ได้รู้เลยว่าแท้จริงนั่นไม่ใช่สุนัข แต่เป็นเอเลี่ยนที่กลืนกินและเลียนแบบสิ่งมีชีวิตได้ และมันคือต้นเหตุแห่งความสยองนับจากนั้น
เรื่องราวดำเนินไปในแนวทางความไม่ไว้ใจและหวาดระแวงของคนในศูนย์วิจัย ทำให้เต็มไปด้วยการนองเลือดฆ่าฟันโดยไร้เหตุผล ทั้งที่บางครั้งคนตายไม่ได้เป็นเอเลี่ยน กว่าจะรู้วิธีรับมือระบุตัวตนบีบให้มันแสดงตัวได้ ถึงตอนนั้นศูนย์วิจัยก็วอดวายในกองเพลิง เหลือทิ้งไว้เพียงตัวเอกกับตัวละครอีกตัวให้ตั้งคำถามว่าหนึ่งในพวกเขามีใครเป็นเอเลี่ยนตัวดังกล่าวหรือไม่?
เมื่อนำต้นแบบความสยองขวัญไม่ไว้ใจกันเหล่านั้นเป็นแกนกลาง ผ่านการปรับแต่งก็มาสู่เกมที่เรารู้จักกันดี เกม Among Us
สู่เกมยอดฮิตโหด มัน ฮา(และหัวร้อน)ในเวลาเดียวกัน
แน่นอนเกมแนวสร้างความหวาดระแวงไม่ไว้ใจกันประเภทนี้แท้จริงมีอยู่หลากหลาย ฝั่งเกมกระดานหรือบอร์ดเกมเองก็มีเกมแนวไล่ล่าหาตัวคนร้ายอย่าง Werewolf เกมยอดนิยมที่คนเคยเล่นบอร์ดเกมต้องเคยสัมผัส
ในวีดีโอเกมด้วยกันเองนี่ก็ไม่ใช่แนวใหม่ มีทั้ง Deceit เกมดังช่วงปี 2016 จับกลุ่มผู้เล่น 6 คน โดยมีหมาป่าอยู่ในนั้น 2 คน คอยขัดขวางผู้รอดชีวิตไม่ให้ออกจากพื้นที่, Project Winter เกมผสมผสานการสืบสวนเข้ากับแนวเอาตัวรอดใต้ผืนหิมะ หรือ Trouble in Terrorist Town(TTT) ด่านในเกม Garry mod ที่เปิดให้ผู้เล่นหาตัวผู้ทรยศโดยหยิบปืนมายิงกัน
แต่ส่วนสำคัญที่ทำให้เกม Among Us แตกต่างได้รับความนิยมมากกว่าเกมอื่น ส่วนหนึ่งมาจากความโชคดีด้วยฝีมือของสตรีมเมอร์ชื่อดังแห่งวงการเกม ตั้งแต่ Ninja หรือ PewDiePie สองอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังบนโลกออนไลน์ เช่นเดียวกับในไทยสตรีมเมอร์ขวัญใจมหาชน HEARTROCKER ทำให้เกมนี้แพร่หลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง
แต่ต้องชื่นชมไม่แพ้กันคือการออกแบบในทุกด้าน ตั้งแต่กราฟิกภายในเกมออกไปทางตัวการ์ตูน เรียบง่ายสะอาดตาดูน่ารักให้ความรู้สึกสบายใจเวลาเล่น ผิดกับเกมประเภทเดียวกันที่เคยกล่าวมา บางส่วนมืดมนกดดันมากไป กลายเป็นตัวจำกัดความนิยมของเกมเหล่านั้นเองต่อฐานผู้เล่นทั่วไปที่ต้องการความผ่อนคลาย
ส่วนระบบการเล่นที่แบ่งออกเพียงสองฝั่งทำให้เข้าใจง่าย ภารกิจในเกมให้เหล่าลูกเรือทั้งหลายเป็นมินิเกมแก้เบื่อแต่มีความสำคัญในภาพรวมส่งผลต่อแพ้ชนะ เมื่อลูกเรือทุกคน(รวมถึงคนที่ตายแล้ว)เสร็จสิ้นภารกิจครบจะได้รับชัยชนะทันที ระบบการโหวตคือการพามาดีเบตแล้วโหวตออก เช่นเดียวกับคนร้ายแค่ไล่ฆ่าลูกเรือแล้วทำตัวเนียนใส่ความคนอื่นให้ตัวเองรอดก็พอ รูปแบบเหล่านี้ง่ายต่อการเรียนรู้ต่อให้ไม่เคยเล่นก็จะเข้าใจในการทดลอง 2-3 ตา
อีกส่วนที่ต้องหยิบมาพูดคือความเข้าถึงง่ายของแพลตฟอร์ม ตัวเกม Among Us เองวางขายบน Steam ร้านค้าเกมรายยักษ์สนนราคาเพียง 99 บาท ถือเป็นราคาค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับเกมอื่น มากกว่านั้นคือในแพลตฟอร์มมือถือเปิดให้เข้าเล่นฟรีแค่รับชมโฆษณา ทำให้ผู้คนสามารถลองชักชวนกลุ่มเพื่อนมาลองเล่นได้ง่าย โดยสามารถจ่ายเงินเพื่อตัดโฆษณาเหล่านี้ออก หรือเพิ่มเติมของแต่งตัวให้ตัวละครของเราน่ารักยิ่งขึ้น สำหรับผู้ที่ชื่นชอบและอยากสนับสนุนผู้พัฒนา
ถึงเกม Among Us จะเป็นเกมหน้าตาน่ารักเข้าถึงง่ายกับทุกเพศทุกวัย อีกทั้งยังฟรีให้สามารถลองเล่นได้เต็มที่ แต่ตัวเกมก็รักษาบรรยากาศกดดันไม่ไว้วางใจที่ได้อย่างดี และฉากการตายทำเอาผู้เล่นต้องสะดุ้งเมื่อมันเกิดขึ้นกับเรา ซึ่งนี่คือสิ่งที่ได้รับสืบทอดมาจากหนังสยองขวัญต้นตำรับอย่าง The Thing
ตลอดเส้นทางเราไม่อาจรู้เลยว่า คนที่เดินผ่านหน้าไปเมื่อกี้หรือเดินตามหลังเราอยู่คือคนร้ายหรือไม่? คนที่เพิ่งล้มลงเมื่อกี้ถูกฆ่าด้วยฝีมือใคร? ทำไมเราจึงโดนใส่ความทั้งที่ทำเควสตามปกติ? รวมถึงความระทึกเวลาเล่นเป็นคนร้ายว่าเราจะโดนจับได้ตอนไหน? ทั้งหมดนี้คือความตื่นเต้นเร้าใจที่เรามักได้จากภาพยนตร์สยองขวัญ ผิดกันตรงคราวนี้เราได้ขับเคลื่อนมันเอง รวมถึงความรู้สึกเจ็บใจเมื่อคนในกลุ่มร่วมกันโหวตเราออกจากยาน หรือโดนเพื่อนที่เป็นคนร้ายหลอกมาทั้งเกมด้วย
แน่นอนว่าการที่เกม Among Us เดินทางมาถึงวันนี้ได้ นอกจากระบบเกมออกแบบมาดีแล้ว ยังต้องชื่นชมทีมผู้พัฒนาพยายามเรียนรู้ปรับตัวนับแต่เริ่มได้รับความนิยมมา ทั้งการรองรับขยายเซิฟเวอร์อย่างรวดเร็ว, ปรับเปลี่ยนโมเดลแผนการทำเกมยกเลิกภาค 2 หันมาปรับปรุงเกม Among Us ในตอนนี้ให้ดีขึ้นแทน รวมถึงระบบลูกเล่นมากมายที่พัฒนาเข้ามาต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าการที่เกมดังมาถึงวันนี้ไม่ได้มีแค่โชค แต่เป็นความสามารถของทีมผู้พัฒนา InnerSloth ด้วยเช่นกัน
นั่นทำให้ Among Us กวาดรางวัล Best Multiplayer กับ Best Mobile Game ในงาน The Game Awards 2020 ไปอย่างไร้ข้อกังขา