ประเพณีผีตาโขน ของ อ.ด่านซ้าย จ.เลย ที่เป็นประเพณีสืบทอดจนกลายเป็นจุดขายของจังหวัด ซึ่งจุดเด่นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวคือความสนุกสนาน ซุกซน ทะเล้นตึงตัง ของบรรดาผีตาโขน ที่วาดลวดลายลีลาการเต้นสุดกวน หรือแม้แต่มุขทะลึ่งตึงตังที่ทุกคนจะได้เห็นจนเป็นเรื่องชินตา ทำให้ในสมัยก่อนผีตาโขนมักเป็นผู้ชาย ไม่ว่าจะเด็กเล็ก เด็กรุ่น หรือชายหนุ่ม เพราะต้องคอยวิ่งโลดโผน กระเซ้าเย้าแหย่ ผู้คน ซึ่งผู้หญิงนั้นจะเขินอายและไม่กล้าแสดงออก
แต่เมื่อยุคสมัยและบริบททางสังคมเปลี่ยนไป ผู้หญิงทั้งเด็ก วัยรุ่น และสาวเล็กสาวใหญ่ ต่างพร้อมใจสวมหน้ากากผีตาโขน ออกมากระโจนโลดโผน โยกย้ายส่ายสะโพก ได้ทำในสิ่งที่พวกเธออาจไม่กล้าทำเมื่อไม่ได้สวมใส่หน้ากาก เพราะการสวมหน้ากากคล้ายกับการสร้างอัตมโนทัศน์ (self-concept) ในอุดมคติทั้งส่วนตัว ว่าเราอยากเห็นตัวเราเป็นอย่างไร และส่วนรวมว่าเราอยากให้คนอื่นเห็นตัวเราเป็นอย่างไร ผู้ใดเมื่อได้สวมหน้ากากอาจรู้สึกปลอดโปร่ง ประหนึ่งได้ปลกแอกตัวเองจากอัตมโนทัศน์เชิงสังคมสู่ความเป็นตัวตนที่แท้จริง และทำในสิ่งที่ใจต้องการที่ภายใต้หน้ากากที่หลบซ่อนอยู่
ภาพ ชาลินี ถิระศุภะ (Chalinee Thirasupa) #NationPhoto#ประเพณีผีตาโขน #ผีตาโขน #หน้ากาก #ด่านซ้าย #เลย