svasdssvasds
เนชั่นทีวี

Health & Lifestyle

อย.ตรวจพบ “ไซบูทรามีน” สารที่เป็นอันตรายถึงชีวิตในผลิตภัณฑ์ดัง

ภัยสุขภาพ : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประกาศผลการตรวจพิสูจน์ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีดาราดังเป็นพรีเซ็นเตอร์ พบมีสาร “ไซบูทรามีน” ที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิต จัดเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท

นับเป็นข่าวการตรวจพบสารอันตรายต้องห้ามตามกฎหมายที่ทำเอาหลายคนตะลึงโดยเฉพาะคนรักสุขภาพ ที่กำลังลดน้ำหนัก เมื่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประกาศผลการตรวจพิสูจน์อาหาร อย. ตรวจพบ “ไซบูทรามีน” (Sibutramine) ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อิชช่า เอ็กซ์เอส (ตรา อิชช่า) วันที่ผลิต MFG : 10/01/2024 วันหมดอายุ EXP : 09/01/2026

โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  ได้ซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผ่านช่องทางออนไลน์จากเฟซบุ๊กเพจชื่อร้าน “ITCHA XS by เบนซ์ พรชิตา–เพจหลัก” ส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยฉลากระบุรายละเอียดผลิตภัณฑ์ ดังนี้

อย.ตรวจพบ “ไซบูทรามีน” สารที่เป็นอันตรายถึงชีวิตในผลิตภัณฑ์ดัง

“ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อิชช่า เอ็กซ์เอส (ตรา อิชช่า) อย.10-1-03464-5-0018 ผลิตโดย : บริษัท คาร์บีบ๊อค แลบบอราทอรี่ส์ จำกัด เลขที่ 41/160-161 ถนนกัลปพฤกษ์ แขวงบางแค เขตบางแค จังหวัดกรุงเทพมหานคร 10160 จัดจำหน่ายโดย : บริษัท ไบโอ จีโนมิคส์ จำกัด 30 ซอยสุขุมวิท 61 (เศรษฐบุตร) แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา จังหวัดกรุงเทพมหานคร 10110 น้ำหนักสุทธิ : 10 แคปซูล (6.26 กรัม)...วันที่ผลิต MFG : 10/01/2024 วันหมดอายุ EXP : 09/01/2026”

ผลการตรวจวิเคราะห์พบ “ไซบูทรามีน (Sibutramine)” ซึ่งมีรายงานถึงผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิต จัดเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 1 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 พ.ศ.2565 ซึ่งเป็นอาหารที่น่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรืออนามัยของประชาชน

และเพื่อป้องกันผลกระทบเป็นวงกว้างต่อประชาชน จึงประกาศเตือนให้ประชาชนระมัดระวังในการซื้อหรือบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารดังกล่าว ทั้งนี้ อย. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิด

หากมีข้อสงสัยเรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถสอบถามหรือแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook : FDAThai หรือ E-mail : [email protected] ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

 

ไซบูทรามีน คืออะไร ทำไมกฎหมายห้าม!!

ประเทศไทยจัดไซบูทรามีน (Sibutramine)  เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด เป็นยาที่ยกเลิกทะเบียนตำรับไปแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เนื่องจากมีรายงานถึงผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิต จัดเป็นยาที่มีฤทธิ์รุนแรง เป็นยาผิดกฎหมายห้ามนำเข้าหรือจำหน่าย แต่ก็มักมีการลักลอบนำไปผสมใน "อาหารเสริม" หรือ “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” ที่มีผลในการลดน้ำหนัก หรือยาลดความอ้วน รวมถึงนำไปโฆษณาจนเกินความเป็นจริง ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว

ฤทธิ์เภสัชวิทยาของไซบูทรามีน

กองควบคุมวัตถุเสพติด กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ฤทธิ์เภสัชวิทยาของไซบูทรามีน คือยับยั้งการดูดเก็บกลับของสารสื่อประสาทบางประเภท เช่น Serotonin, Norepinephrine  ทำให้สารเหล่านี้ทำงานนานขึ้น ส่งผลให้ความอยากอาหารลดลงและอิ่มเร็วขึ้น ทั้งกระตุ้นกระบวนการเผาผลาญของร่างกายด้วย

ข้อบ่งใช้ไซบูทรามีน

ใช้ควบคุมน้ำหนักร่วมกับโปรแกรมควบคุมน้ำหนักในผู้ที่มีมีดัชนีมวลกายตั้งแต่ 30 kg/m2 หรือผู้ที่มีมีดรรชนีมวลกายตั้งแต่ 27 kg/m2 แต่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง และความดัน โลหิตสูงที่ควบคุมได้ โดยแนะนำให้ใช้ในขนาด 10–15 มิลลิกรัมต่อวัน

อาการไม่พึงประสงค์ที่พบในผู้ใช้ไซบูทรามีน 

สำหรับอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยามีตั้งแต่ ท้องผูก ปากแห้ง นอนไม่หลับ คลื่นไส้ หลอดเลือดขยาย ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น สับสน อ่อนแรง ปวดหัว โดยอุบัติการณ์การเกิดแตกต่างกันไป แต่ปัญหาที่ทั่วโลกให้ความสนใจคือ ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด  

อันตรายในผู้ที่มีโรคประจำตัว

การใช้ไซบูทรามีน อาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต หากผู้ใช้มีโรคประจำตัว เช่น

  • โรคหัวใจ
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคตับ
  • โรคต้อหิน
  • โรคไต
  • ภาวะซึมเศร้า
  • โรคลมชัก
  • ภาวะเลือดไหลผิดปกติ
  • โรคนิ่วในถุงน้ำดี
  • ภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis)
  • โรคไทรอยด์
  • ภาวะความดันโลหิตสูงชนิดรุนแรงหรือชนิดที่ไม่สามารถควบคุมได้

นอกจากนี้แล้ว หญิงที่ตั้งครรภ์ หรือผู้ที่กำลังให้นมบุตร ผู้สูงอายุ และเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี อาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากการใช้ยานี้เช่นกัน

ทั้งนี้ ยังปรากฏอันตรายของไซบูทรามีนผู้ป่วยที่กำลังใช้ยาบางชนิด เช่น ยาต้านเศร้า ยาแก้แพ้ ยาแก้ปวด ยาแก้หวัด ยารักษาไมเกรน ยาเสพติด และยากระตุ้นความอยากอาหาร