svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

หญิงไทยพบ “มะเร็งปากมดลูก” 15 คนต่อวัน แนะใช้สิทธิเก็บตัวอย่างด้วยตนเองฟรี

06 พฤษภาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมวิทย์ฯ-สำนักอนามัย กทม. รณรงค์ HPV DNA Self-sampling ทางเลือกใหม่คัดกรองมะเร็งปากมดลูก ลดกลัว ลดอาย ทำได้ด้วยตัวเอง ชวนหญิงไทยอายุ 30-60 ปีใช้สิทธิฟรี! เผยผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ยวันละ 15 ราย ขณะที่หญิงไทยกว่า 10 ล้านคนยังไม่เคยตรวจคัดกรอง

KEY

POINTS

  • 1 ใน 5 มะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงไทยคือ “มะเร็งปากมดลูก” พบผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ยวันละ 15 ราย แต่มีหญิงไทยกว่า 10 ล้านคนที่ยังไม่เคยตรวจคัดกรอง
  • สาเหตุหลัก “มะเร็งปากมดลูก” มาจากการติดเชื้อไวรัส Human Papillomavirus (HPV) ที่ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ การมีคู่นอนหลายคน มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย 
  • HPV DNA Self-Sampling สามารถตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเก็บตัวอย่างได้ด้วยตนเอง ลดความเสี่ยงการเกิดโรค ตรวจพบถึง 90% ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เพิ่มโอกาสในการรักษาหายขาดได้

ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุว่า “มะเร็งปากมดลูก” จัดอยู่ 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงไทย ซึ่งเป็นโรคมะเร็งที่ป้องกันได้ถึงร้อยละ 80 หากได้รับการตรวจคัดกรองหาเชื้อเอชพีวี (HPV) ที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งปากมดลูก

สาเหตุการเกิด “มะเร็งปากมดลูก”

มะเร็งปากมดลูก มีสาเหตุหลักมาจากการติดเชื้อไวรัส Human Papillomavirus (HPV) ที่ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้น การมีคู่นอนหลายคน การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย จึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น นอกจากนี้ การมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ก็เป็นอีกปัจจัยร่วมที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคอีกด้วย

ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ

  • อายุ ส่วนใหญ่มะเร็งปากมดลูกมักพบในผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป
  • มีคู่นอนหลายคน ทำให้มีโอกาสได้รับเชื้อ HPV มากขึ้น
  • สูบบุหรี่
  • มีบุตรจำนวนมาก
  • ร่างกายมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์)
  • ไม่เคยตรวจภายใน เพื่อค้นหารอยโรคระยะก่อนเป็นมะเร็ง (Precancercous lesion) ซึ่งในช่วงเวลานี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ แต่สามารถตรวจพบด้วยการตรวจทางเซลล์วิทยาที่เรียกว่า แป๊ปสเมียร์ (Pap smear) และสามารถรักษาได้ หากตรวจพบรอยโรคในระยะนี้ ก็จะสามารถป้องกันการเกิดเป็นมะเร็งปากมดลูกได้

สัญญาณเตือนของ “มะเร็งปากมดลูก”

  • มีตกขาว เลือด หรือของเหลวที่ผิดปกติออกทางช่องคลอด
  • ประจำเดือนมามากหรือนานกว่าปกติ
  • ในระยะลุกลามอาจมีอาการปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย
  • ปัสสาวะขัดหรือถ่ายอุจจาระลำบาก
  • เบื่ออาหาร
  • น้ำหนักลด เป็นต้น

 

รู้หรือไม่? หญิงไทยกว่า 10 ล้านคน ไม่เคยคัดกรอง “มะเร็งปากมดลูก”

ประเทศไทยจะมีนโยบายการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมาตั้งแต่ปี 2548 แต่ปัจจุบันยังมีผู้หญิงไทยบางส่วนที่ยังไม่ได้รับการคัดกรองด้วยเหตุผลหลายประการ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงผลักดันการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี “การเก็บสิ่งส่งตรวจทางช่องคลอดด้วยตัวเอง” (HPV Self-sampling) เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้หญิงไทยที่ยังไม่เคยเข้ารับการตรวจคัดกรองให้สามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ง่ายขึ้น ทำให้ผู้ที่มีความกลัวหรืออายในขั้นตอนการตรวจ ตัดสินใจเข้ารับการคัดกรองมากขึ้น ส่งผลให้ความครอบคลุมการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในระดับประชากรเพิ่มมากขึ้น นำมาสู่การลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตได้อย่างเป็นรูปธรรม

โดยการดำเนินการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีการเก็บสิ่งส่งตรวจทางช่องคลอดด้วยตนเอง เริ่มต้นจากโครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่บ้านด้วยตนเอง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข จัดให้เป็นของขวัญปีใหม่ 2565 ดำเนินการตั้งแต่ 1 มกราคม–31 ธันวาคม 2565 ให้บริการแก่ผู้หญิงไทยอายุ 30-60 ปี ที่ไม่เคยตรวจ HPV DNA Test มาก่อน จำนวน 80,000 คนทั่วประเทศ

หญิงไทยพบ “มะเร็งปากมดลูก” 15 คนต่อวัน แนะใช้สิทธิเก็บตัวอย่างด้วยตนเองฟรี

HPV DNA Self-sampling ทางเลือกใหม่คัดกรองมะเร็งปากมดลูก ลดกลัว ลดอาย ทำได้ด้วยตัวเอง

ล่าสุด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ร่วมรณรงค์ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีการเก็บตัวอย่างส่งตรวจด้วยตนเอง ในเขตกรุงเทพมหานคร ชวนหญิงไทยอายุ 30-60 ปี ตรวจคัดกรองทุก 5 ปี เพื่อหยุดมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทย ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงไทย และมีผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ยวันละ 15 ราย เสียชีวิตปีละกว่าสองพันสองร้อยราย หรือเฉลี่ยวันละ 6 ราย

นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมาก 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงไทย สาเหตุสำคัญมาจากการติดเชื้อเอชพีวี (HPV) สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนเอชพีวี และการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้ผู้หญิงไทยที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุก 5 ปี ที่ผ่านมาพบว่าหญิงไทยกลุ่มเป้าหมายเข้ารับการตรวจคัดกรองได้น้อย โดยล่าสุดปี 2566 พบว่าผู้หญิงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เข้าตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกน้อยที่สุดในประเทศ เพียงแค่ 30,000 คนต่อปี

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เพิ่มทางเลือกให้หญิงไทยที่ไม่เข้ารับการตรวจคัดกรองให้สามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ง่ายขึ้น โดยใช้ชุดเก็บตัวอย่างด้วยตนเองเพื่อส่งตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วยวิธี HPV DNA Test  ที่จะตรวจเชิงลึกถึงสารพันธุกรรมเชื้อไวรัสเอชพีวี ซึ่งอยู่ในสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกัน สุขภาพแห่งชาติ สำหรับสตรีไทย อายุ 30-60 ปี ครอบคลุมทุกสิทธิ์ทั่วประเทศ 

วิธีการเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง HPV DNA Self-sampling

วิธีการเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง HPV DNA Self-sampling

สำหรับข้อปฏิบัติในการตรวจคัดกรองมะเร็งแบบเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง ต้องให้ช่องคลอดอยู่ในสภาพปกติ โดยภายใน 48 ชั่วโมง ต้องงดเพศสัมพันธ์ ห้ามสวนล้างช่องคลอด และไม่ควรตรวจในช่วงที่มีประจำเดือน ฉะนั้น อย่ากลัวตรวจแล้วเจอโรค และอย่าชะล่าใจในการตรวจคัดกรองโรค เพราะยิ่งเจอเชื้อไว ยิ่งรักษาได้หายขาด และหากตรวจคัดกรองพบในระยะแรกสามารถหวังผลหายได้กว่า 90% ระยะที่สอง หวังผลหายได้ 75% ระยะที่สามหวังผลหายได้ 50% และระยะที่สี่ หวังผลหายได้ 20%

ทั้งนี้ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วยวิธี HPV DNA Test อยู่ในสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ สปสช. ได้เพิ่มให้กับสตรีไทย อายุ 30-60 ปี ครอบคลุมทุกสิทธิทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิผลของบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก จึงขอเชิญชวนหญิงไทยอายุ 30–60 ปีบริบูรณ์ ที่ไม่เคยรับการตรวจมะเร็งปากมดลูกในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยการตรวจหา HPV DNA จากการเก็บตัวอย่างด้วยตนเองแบบแยก 14 สายพันธุ์ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบสถานบริการใกล้บ้านเพื่อรับชุดเก็บตัวอย่างด้วยตนเองได้ที่ แอพเป๋าตัง หรือในเขตกรุงเทพมหานครสามารถรับบริการได้ที่สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร หรือสอบถามรายละเอียดได้  โทร. 0 2951 0000 ต่อ 99248 หรือสอบถามที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ใกล้บ้าน

 

logoline