svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

บทสรุปงานวิจัย “ยาขมิ้นชันไทย” ใช้รักษาโรคกระเพาะอาหาร เทียบยาแผนปัจจุบัน

30 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แพทย์จุฬาฯ ร่วมกับกรมแพทย์แผนไทย วิจัยพิสูจน์ “ยาขมิ้นชันไทย” ใช้รักษา “โรคกระเพาะอาหาร” ได้เทียบเท่ายาลดกรดแผนปัจจุบัน เตรียมต่อยอดงานวิจัยชู ThaiCureMin สู่ตลาดโลก

ศาสตร์การใช้ยาสมุนไพรในการบรรเทาและรักษาโรคเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่มีมาช้านาน ล่าสุดมีงานวิจัยยืนยันถึงการใช้สมนุไพรอย่าง “ขมิ้นชัน” ในการรักษา “โรคกระเพาะอาหาร” ซึ่งได้ผลเทียบเท่าประสิทธิภาพจากการใช้ยาลดกรดแผนปัจจุบัน

คำถามสำคัญสำหรับคนที่เป็น “โรคกระเพาะ” ที่บางคนอาจกินยาลดกรดเพื่อบรรเทาอาการ และกินสมุนไพรไทยอย่าง “ยาขมิ้นชัน” ร่วมด้วย คือ

  • ขมิ้นชันจะทดแทนยาลดกรดในการรักษาโรคกระเพาะได้หรือ?
  • ใช้ผสมผสานกัน? มีผลข้างเคียงหรือเปล่า?

รองศาสตราจารย์ ดร.นพ. กฤษณ์ พงศ์พิรุฬห์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการแพทย์บูรณาการเชิงป้องกัน Center of Excellence in Preventive & Integrative Medicine (CE-PIM)

เพื่อไขข้อสงสัยเหล่านี้ รองศาสตราจารย์ ดร.นพ.กฤษณ์ พงศ์พิรุฬห์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการแพทย์บูรณาการเชิงป้องกัน Center of Excellence in Preventive & Integrative Medicine (CE-PIM) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงออกแบบงานวิจัยเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของแคปซูลขมิ้นชันไทย เมื่อเทียบกับยาลดกรดแผนปัจจุบัน โดยร่วมมือกับกรมการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก ทีมนักวิจัยที่เป็นแพทย์ระบบทางเดินอาหารจากโรงเรียนแพทย์หลายแห่งในประเทศ และองค์การเภสัชกรรมที่สนับสนุนแคปซูลขมิ้นชันสำหรับใช้ในงานวิจัย

“ขมิ้นชันมีสรรพคุณช่วยเรื่องลม ปัญหาจุกเสียด แน่นท้อง เป็นสมุนไพรที่ได้รับความนิยมและใช้อย่างแพร่หลาย แต่ที่ผ่านมายังไม่มีผลวิจัยที่พิสูจน์อย่างชัดเจนว่าขมิ้นชันมีข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคกระเพาะอาหารได้ มีเพียงงานวิจัยที่ทำเทียบกับยาหลอกที่ไม่ออกฤทธิ์เท่านั้น ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงนับเป็นครั้งแรกที่หยิบเอาขมิ้นชันมาทำวิจัยเทียบกับยาลดกรดของฝรั่ง” รศ.ดร.นพ.กฤษณ์ อธิบายความเป็นมาในการออกแบบงานวิจัย

บทสรุปงานวิจัย “ยาขมิ้นชันไทย” ใช้รักษาโรคกระเพาะอาหาร เทียบยาแผนปัจจุบัน

ยาขมิ้นชันไทยรักษาโรคกระเพาะอาหาร เทียบเท่ายาลดกรดแผนปัจจุบัน

รศ.ดร.กฤษณ์ เริ่มการศึกษาวิจัยทางคลินิกตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 จนถึงเดือนเมษายน 2563 โดยมีอาสาสมัครที่เป็นผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหาร (ระยะเริ่มต้น) และผ่านการตรวจแล้วว่าไม่ติดเชื้อเอชไพโลไร เข้าร่วมโครงการวิจัยทั้งสิ้น 151 ราย ทั้งนี้ งานวิจัยแบ่งอาสาสมัครเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่รับประทานขมิ้นชัน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน (แบ่งทาน 4 เวลา) เพียงอย่างเดียว, กลุ่มที่รับประทานยาลดกรด Omeprazole ขนาด 20 มิลลิกรัมต่อวัน ร่วมกับยาหลอก และกลุ่มที่รับประทาน ทั้งขมิ้นชันขนาด 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน และยา Omeprazole 20 มิลลิกรัมต่อวัน

“ผลการวิจัยสรุปได้ว่า ยาขมิ้นชันขององค์การเภสัชกรรม และยาลดกรด Omeprazole ให้ผลในการรักษาโรคกระเพาะอาหารได้ไม่แตกต่างกัน และการใช้ยาทั้งสองอย่างร่วมกัน ไม่ได้มีประโยชน์ในการรักษาเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด”

ผลการรักษาอาจจะทัดเทียมกัน แต่ผลข้างเคียงนั้น ยาขมิ้นชันไทยมีน้อยกว่า รศ.ดร.กฤษณ์ กล่าว

“เรายังไม่พบรายงานผลข้างเคียงรุนแรงจากการรับประทานขมิ้นชันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต่างจากคนไข้ที่ได้รับยาลดกรด Omeprazole ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นคือกรดในกระเพาะอาหารลดลง ทำให้แบคทีเรียไม่ดีเดินทางไปถึงลำไส้ และทำให้การดูดซึมสารอาหารบางอย่างผิดปกติไป”

ผลพิสูจน์ “ยาขมิ้นชัน” ขององค์การเภสัชกรรม นอกจากจะเห็นประโยชน์ในทางการรักษาที่ทัดเทียมแต่ผลข้างเคียงที่น้อยกว่าแล้ว รศ.ดร.นพ.กฤษณ์ กล่าวถึงข้อดีอื่นๆ ของยาขมิ้นชันว่า “ยาขมิ้นชันราคาถูกกว่ายาฝรั่ง หาซื้อได้ง่าย ทานยาขมิ้นชันตัวเดียวสามารถรักษาได้หลายอาการ และปริมาณยาที่ทานแต่ละครั้งก็ไม่สูงเกินไป ในขณะที่เมื่อทานยาฝรั่ง (แผนปัจจุบัน) อาจต้องทานยาหลายตัว รักษาแยกอาการ เช่น ยาลดกรด ยาลดแก๊ส เป็นต้น”

ยาขมิ้นชัน ไม่เท่ากับ สารสกัดขมิ้น Curcuminoids

รศ.ดร.นพ.กฤษณ์ กล่าวย้ำว่างานวิจัยนี้พิสูจน์และรับรองผลเฉพาะยาขมิ้นชันที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรมเท่านั้น ไม่ได้รับรองขมิ้นชันแบรนด์อื่น ๆ ที่มีวางขายในตลาด นอกจากนี้ รศ.ดร.นพ.กฤษณ์ ยังชี้ให้เห็นข้อแตกต่างระหว่าง “ยาขมิ้นชัน” และ “สารสกัดขมิ้นชัน” ที่หลายคนอาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่

“สารสกัดขมิ้น” (Curcuminoids) อย่างที่มีการวิจัยและใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศ ออกฤทธิ์ช่วยลดปวด ฆ่าเชื้อ ลดการอักเสบ ไม่ใช่ตัวเดียวกันกับ “ยาขมิ้นชัน” (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Turmeric หรือ Curcumin) เพราะยาขมิ้นชันที่ใช้ในงานวิจัยนี้เป็นขมิ้นชันของไทย ไม่ใช่สารสกัด แต่เป็นขมิ้นชันที่มาจากการตากแห้งและบดผง ซึ่งมีทั้งสาร Curcuminoids และสารตัวอื่นๆ รวมถึงกลุ่มน้ำมันหอมระเหย (Volatile oil)”

ชูยาขมิ้นไทย ThaiCureMin รักษาโรคกระเพาะอาหาร

ด้วยผลพิสูจน์จากการวิจัย รศ.ดร.กฤษณ์ กล่าวว่าจุฬาฯ จับมือกับองค์การเภสัชกรรม เตรียมผลักดัน “ยาขมิ้นชัน” ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหารได้ ออกสู่ตลาดโลกภายใต้ชื่อแบรนด์ ThaiCureMin

“ขมิ้นชันเป็นสมุนไพรไทยที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติที่คนไทยสามารถเข้าถึงได้อยู่แล้ว และล่าสุดยังได้รับการยกย่องจากกระทรวงสาธารณสุขของไทยให้เป็นหนึ่งในสมุนไพรแชมเปี้ยน (Herbal champion) ขมิ้นชันมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง ขนาดตลาดระดับโลกกว่าหมื่นล้านบาท และมีความพร้อมในการพัฒนาส่งเสริมแหล่งปลูก สร้างมาตรฐานการปลูกและการแปรรูป และเพิ่มมูลค่าเพื่อสร้างโอกาสทางการค้า”

ในอนาคต รศ.ดร.นพ.กฤษณ์ วางแผนจะหาเกษตรกรและแหล่งปลูกขมิ้นแบบออแกนิกที่สามารถตรวจสอบที่มาได้ชัดเจน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อเพิ่มมูลค่าและความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคอีกด้วย

 

อ้างอิง : Chulaงานวิจัยฉบับเต็ม

logoline