svasdssvasds
เนชั่นทีวี

Health & Lifestyle

อาจไม่ใช่ลองโควิด! สังเกต “ไอแห้ง ไอเรื้อรัง” จากผลข้างเคียงยาลดความดัน

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสุขภาพ : กลุ่มยารักษาโรคความดันโลหิตอาจเป็นต้นเหตุให้เกิด “ไอแห้ง ไอเรื้อรัง” ได้จริง แพทย์ย้ำไม่ได้เป็นอันตราย แต่สร้างความรำคาญใจ หากรบกวนคุณภาพชีวิตอาจจำเป็นต้องเปลี่ยนยา แต่ห้ามหยุดยาเอง

“ไอแห้ง ไอเรื้อรัง” เป็นหนึ่งในอาการของภาวะลองโควิด (Long Covid) ที่หลายคนเป็นหลังจากที่หายป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 แล้ว เรื่องนี้เป็นที่รู้กันและสังเกตอาการได้ แต่สำหรับบางคนที่มีอาการ “ไอแห้ง ไอเรื้อรัง” อาจเป็นเพราะใช้ “ยาลดความดันโลหิต” อยู่ เรื่องนี้หลายคนยังไม่รู้!!

สถานการณ์ปัจจุบันพบประชากรไทย 1 ใน 4 ป่วยเป็น "โรคความดันโลหิตสูง" ซึ่งเป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยปัญหาหลักของการควบคุมโรคความดันโลหิต คือการที่ผู้ป่วยไม่ได้ตระหนักว่าตนเองเป็นโรค หรือแม้จะตระหนักก็ยังไม่ให้ความสำคัญและไม่ได้เข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องจนทำให้โรครุนแรง มีโรคแทรกซ้อนเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นสาเหตุที่คร่าชีวิตของคนไทยจำนวนมากในแต่ละปี ทั้งจากภาวะหัวใจล้มเหลว โรคไตเรื้อรัง หรือโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น

ปัจจุบันมีการรักษาโรคความดันโลหิตสูงที่เป็นมาตรฐานอยู่สองวิธี หนึ่งคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต และอีกวิธีคือการให้ยาลดความดันโลหิต โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสามารถทำได้โดยการลดน้ำหนัก ปรับรูปแบบของการบริโภคอาหาร จำกัดปริมาณเกลือและโซเดียมในอาหาร ออกกำลังกาย จำกัดหรืองดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเลิกบุหรี่

ในส่วนของการให้ยาลดความดันโลหิต ผู้ป่วยจะได้รับยาลดความดันโลหิตที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสม ซึ่งการใช้ยาลดความดันโลหิตมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากช่วยลดอัตราการเกิดโรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด และลดอัตราการตาย ดังนั้น ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ได้รับยาลดความดันโลหิตควรใช้ยาอย่างสม่ำเสมอตามคำสั่งของแพทย์

อย่างไรก็ตาม ยาทุกชนิดเมื่อมีประโยชน์ก็อาจมีผลข้างเคียง ซึ่งผลข้างเคียงของยาลดความดันโลหิตมีได้หลากหลาย เช่น ความดันต่ำ วูบ หน้ามืด หรือขาบวม แต่ผลข้างเคียงที่ผู้ป่วยมักพบแต่ไม่ทราบว่าเกิดจากการใช้ยากลุ่มนี้ คือ  “อาการไอ” ซึ่งไม่สัมพันธ์กับการเป็นหวัด หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ สัมผัสควันบุหรี่ มลพิษทางอากาศ

รู้ได้อย่างไรว่าอาการไอ เกิดจากการใช้ยาลดความดันโลหิต?

อาการไอ เป็นการตอบสนองของร่างกายอย่างหนึ่งต่อสิ่งผิดปกติในทางเดินหายใจ และเป็นกลไกป้องกันที่สำคัญของร่างกายในการกำจัดเชื้อโรค เสมหะ หรือสิ่งแปลกปลอมในทางเดินหายใจ ซึ่งหากแบ่งตามระยะเวลา อาการไอสามารถแบ่งได้ 2 ชนิด คือ

1) อาการไอเฉียบพลัน (ไอน้อยกว่า 3 สัปดาห์) มักมีสาเหตุจากการติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน หลอดลมอักเสบ การกำเริบของโรคถุงลมโป่งพอง การมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในหลอดลมและการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศ

2) อาการไอเรื้อรัง (ไอมากกว่า 3 สัปดาห์)  มักมีสาเหตุส่วนใหญ่จากการใช้ยาลดความดันโลหิต โรคหืด โรคกรดไหลย้อน หรือโรควัณโรคปอด

หากแบ่งตามลักษณะของอาการ สามารถแบ่งอาการไอได้เป็น 2 ชนิด คือ

1) ไอแห้ง เกิดจากการระคายคอหรือระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง และจะไม่มีเสมหะปน เช่น อาการไอจากกรดไหลย้อน โรคหลอดลมอักเสบ และการใช้ยาลดความดันโลหิต

2) ไอแบบมีเสมหะ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียของระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ปอดอักเสบ หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เนื่องจากร่างกายมีการสร้างเมือกเพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ จึงทำให้มีอาการไอร่วมกับมีเสมหะ

อาการไอ ผลข้างเคียงจากการใช้ยาลดความดัน

สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามและอาจจะเป็นสาเหตุของการไอ อีกสาเหตุหนึ่งก็คือการได้รับยาประจำตัวบางอย่าง ยาบางชนิดมีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดอาการไอ ซึ่งยาลดความดันในกลุ่มที่อาจทำให้ไอ ได้แก่ angiotensin-converting enzyme inhibitors (ACEIs) และ beta-blockers เช่น

  • อีนาลาพริล (Enalapril)
  • ไลซิโนพริล (Lisinopril)
  • รามิพริล (Ramipril)
  • เพอรินโดพริล (Perindopril)

อาการไอจากยาลดความดันโลหิตกลุ่ม ACEIs

ยาลดความดันโลหิตกลุ่ม ACEIs ออกฤทธิ์ลดความดันโลหิตโดยขยายหลอดเลือดและลดการดูดกลับน้ำที่ไต ส่งผลให้ความดันโลหิตลดลง และสามารถชะลอการเสื่อมของไตได้ โดย ACEIs ทำให้เกิดอาการไอจากการไปรบกวนการกำจัดออกของสารที่ทำให้เกิดอาการไอ คือ bradykinin ซึ่งมีหน้าที่ขยายหลอดเลือด แต่การมี bradykinin สะสมมากในร่างกาย สามารถส่งผลให้เกิดอาการไอในผู้ที่ใช้ยา โดยผู้ป่วยมีโอกาสเกิดอาการไอหลังจากใช้ ACEIs ประมาณ 35% ซึ่งอาการไอที่พบมักมีลักษณะไอแห้งๆ ติดต่อกันโดยเกิดจากความรู้สึกระคายคอ ซึ่งอาการจะเพิ่มมากขึ้นในเวลากลางคืนหรือเมื่อนอนราบ ดังนั้นถ้าหากมีอาการไอแบบมีเสมหะอาจไม่ได้เป็นผลจากยา ACEIs โดยตรง โดยความรุนแรงของอาการไอนั้นจะขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ส่วนมากอาการไอจะไม่ก่อให้เกิดอันตราย เพียงแต่จะสร้างความรำคาญให้แก่ตัวผู้ป่วยเท่านั้น ซึ่งในผู้ป่วยบางรายอาจไม่พบผลข้างเคียงด้านอาการไอเลยก็เป็นได้

อาการไอจากยาลดความดันโลหิตกลุ่ม beta-blockers

ยากลุ่ม beta-blockers ออกฤทธิ์ลดอัตราการเต้นของหัวใจ ส่งผลให้ความดันโลหิตในร่างกายลดลง แต่สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไอ คือ ยาสามารถทำให้หลอดลมหดตัว ทำให้อาจมีการหายใจลำบากและเกิดอาการไอ ซึ่งภายหลัง beta-blockers รุ่นใหม่ ได้แก่ atenolol, metoprolol, nebivolol และ bisoprolol ได้รับการพัฒนาให้จำเพาะต่อหัวใจและลดผลข้างเคียงที่ทำให้หลอดลมหดตัว จึงอาจลดผลข้างเคียงด้านอาการไอได้มากขึ้น โดยอาการไอที่พบจากการใช้ beta-blockers จะมีลักษณะไอแห้งและอาการจะรุนแรงขึ้นเมื่อออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรง โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เกิดอาการไอจากการได้รับยากลุ่มนี้มักเป็นผู้ป่วยที่เป็นโรคหืดหรือปอดอุดกั้นเรื้อรังร่วมด้วย เนื่องจากผู้ป่วยมีหลอดลมที่ตีบแคบอยู่เดิม

ทั้งนี้ ถือเป็นอาการไอที่ไม่ได้เป็นอันตราย แต่อาจสร้างความรำคาญใจให้แก่ผู้ที่เป็นได้ หากมีอาการมากจนรบกวนคุณภาพชีวิต อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนยา โดยสามารถปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการใช้ยา ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาเปลี่ยนยาให้ผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้เปลี่ยนหรือหยุดใช้ยาเอง เนื่องจากยารักษาโรคความดันโลหิตสูงต้องใช้เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อคุมความดันให้ได้ตามค่าเป้าหมายและลดความรุนแรงของโรค ซึ่งผู้ป่วยหลายคนอาจเข้าใจว่าการรับประทานยาลดความดันโลหิตแล้วค่าความดันจะกลับมาปกติคือการหายจากโรคความดันโลหิตสูง จึงไม่รับประทานยาต่อ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคเรื้อรังจึงต้องใช้ยาเพื่อคุมความดันให้ปกติและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

 

แหล่งอ้างอิง :