svasdssvasds
เนชั่นทีวี

Health & Lifestyle

5 เรื่องต้องรู้ของสเตรปโตคอคคัส “โรคแบคทีเรียกินเนื้อ” ก่อนเที่ยวญี่ปุ่น

เปิดคำแนะนำสำหรับผู้เดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่น ล่าสุด กรมควบคุมโรค วิเคราะห์และประเมินความเสี่ยง กรณีพบผู้ป่วยกลุ่มอาการภาวะช็อกจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส (Streptococcal toxic shock syndrome (STSS)) เพิ่มสูงขึ้นในประเทศญี่ปุ่น

จากกรณีข่าวทางการญี่ปุ่นกำลังสืบค้นหาสาเหตุการเพิ่มขึ้นของ “โรคแบคทีเรียกินเนื้อ” โรคติดต่อเฝ้าระวังที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย "สเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ" หรือ Streptococcus กลุ่ม A ในประเทศญี่ปุ่น โดยคาดว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด 19 ร่วมกับอาจมีสาเหตุอื่นๆ ร่วมด้วยนั้น

ล่าสุด เพื่อเผยแพร่ข้อมูลให้แก่คนไทยโดยเฉพาะคนที่กำลังจะเดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข วิเคราะห์และประเมินความเสี่ยง กรณีพบผู้ป่วยกลุ่มอาการภาวะช็อกจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส (Streptococcal toxic shock syndrome (STSS)) เพิ่มสูงขึ้นในประเทศญี่ปุ่น มี 5 ประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

1) ภูมิหลังและความสำคัญ

Streptococcal toxic shock syndrome (STSS) เป็นภาวะติดเชื้อที่รุนแรงที่พบได้น้อยแต่เป็นอันตรายถึงชีวิต ส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus กลุ่ม A ซึ่งเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้พบได้บ่อยในลำคอและบนผิวหนังของคนเราทั่วไป และสามารถทำให้เกิดอาการคออักเสบได้ ในกรณีที่มีความรุนแรง หรือ invasive group A streptococcal disease (iGAS) เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้สามารถเข้าไปในเนื้อเยื่อส่วนลึกและปล่อยสารพิษผ่านระบบไหลเวียนเลือด กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ จนเกิดภาวะช็อก และภาวะล้มเหลวของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายตามมา จนเสียชีวิตได้ และสามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คน ผ่านละอองฝอยขนาดใหญ่ และการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย น้ำมูก ซึ่งจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางเยื่อบุคอ เยื่อบุเมือกต่าง ๆ และบาดแผลบนผิวหนัง ลักษณะอาการเริ่มด้วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ ไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว และประมาณ 24 ถึง 48 ชั่วโมง จะมีอาการรุนแรงเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

จากข้อมูลสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติญี่ปุ่น (National Institute of Infectious Diseases, Japan) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 17 มีนาคม 2567 ประเทศญี่ปุ่นมีรายงานพบผู้ป่วย STSS จำนวน 521 ราย ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อ Streptococcus กลุ่ม A จำนวน 335 ราย (ร้อยละ 64.3) ซึ่งสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปี โดยมีผู้ป่วยเสียชีวิต จำนวน 77 ราย ทั้งนี้รัฐบาลประเทศญี่ปุ่นได้ออกมาแจ้งเตือนเพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชนในประเทศญี่ปุ่นเฝ้าระวังอาการและเน้นย้ำการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล อาทิ การล้างมือ การสวมใส่หน้ากาก และการดูแลทำความสะอาดบาดแผล  

5 เรื่องต้องรู้ของสเตรปโตคอคคัส “โรคแบคทีเรียกินเนื้อ” ก่อนเที่ยวญี่ปุ่น

2) Streptococcal toxic shock syndrome (STSS) คืออะไร

สาเหตุ เป็นภาวะที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อ S. pyogenes เรียกว่า Streptococcus กลุ่ม A (Group A Strep) ซึ่งสามารถเข้าไปในเนื้อเยื่อส่วนลึกและปล่อยสารพิษผ่านระบบไหลเวียนเลือด กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ จนเกิดภาวะช็อก และภาวะล้มเหลวของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายตามมา จนเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ Streptococcus กลุ่ม B, C, G ก็ทำให้เกิด STSS ได้ แต่เกิดขึ้นน้อยกว่ากลุ่ม A

ลักษณะอาการ เริ่มด้วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ ไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว และโดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 24 ถึง 48 ชั่วโมง จะมีอาการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว และมีสัญญาณและอาการที่แสดงให้เห็นถึงภาวะล้มเหลวของอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับวาย ไตวาย ภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน เกิดลิ่มเลือดในกระแสเลือด การอักเสบของเนื้อเยื่อ ผื่นแดงทั่วตัว อาการทางระบบประสาท 

การติดต่อ เชื้อ Streptococcus กลุ่ม A แพร่เชื้อจากคนสู่คน ผ่านละอองฝอยขนาดใหญ่ และการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย น้ำมูก ซึ่งจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางเยื่อบุคอ เยื่อบุเมือกต่างๆ และบาดแผลบนผิวหนัง จากนั้นเชื้อจะแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อชั้นลึก และเข้าสู่กระแสเลือด

การวินิจฉัยโรคและการรักษา ใช้อาการทางคลินิกร่วมกับผลการตรวจแยกเชื้อ โดยผู้ป่วยควรได้รับการรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์

3) สถานการณ์ปัจจุบัน

สถานการณ์การติดเชื้อ Streptococcus กลุ่ม A  รวมทั้งการเกิด Streptococcal toxic shock syndrome (STSS) ในประเทศญี่ปุ่น มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาตั้งแต่ปี 2566 โดยพบผู้ป่วย จำนวน 941 ราย

จากข้อมูล Infectious Diseases Weekly Report (IDWR) ตั้งแต่ 1 มกราคม – 17 มีนาคม 2567 มีรายงานผู้ป่วย STSS จำนวน 521 ราย ซึ่งสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปี ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อ Streptococcus กลุ่ม A

จำนวนผู้ติดเชื้อ 335 ราย (ร้อยละ 64.3)

  • เพศชาย 192 ราย (ร้อยละ 57)
  • หญิง 143 ราย (ร้อยละ 43)

แบ่งตามอายุ ดังนี้

  • ต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 13 ราย
  • ช่วงอายุ 20 จำนวน 6 ราย
  • ช่วงอายุ 30 ปี จำนวน 22 ราย
  • ช่วงอายุ 40 ปี จำนวน 46 ราย
  • ช่วงอายุ 50 ปี จำนวน 44 ราย
  • ช่วงอายุ 60 ปี จำนวน 68 ราย
  • ช่วงอายุ 70 ปี จำนวน 76 ราย
  • ช่วงอายุ 80 ปีขึ้นไป จำนวน 60 ราย

มีผู้ป่วยเสียชีวิตรวม 77 ราย

  • เพศชาย จำนวน 44 ราย (ร้อยละ 57.1)
  • เพศหญิง จำนวน 33 ราย (ร้อยละ 42.9)
  • พบมากที่สุดในช่วงอายุ 50 ปี จำนวน 60 ราย

4) คำแนะนำสำหรับผู้เดินทาง

ก่อนการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น

  • ตรวจสอบสถานการณ์โรคในพื้นที่ที่จะเดินทางไป โดยติดตามการระบาดของโรคได้ที่เว็บไซต์ทางการของประเทศญี่ปุ่น www.niid.go.jp
  • เตรียมอุปกรณ์ในการป้องกันตนเองให้พร้อม เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ อุปกรณ์ทำความสะอาดบาดแผล เป็นต้น
  • แนะนำให้ซื้อประกันสุขภาพล่วงหน้าก่อนการเดินทาง

ระหว่างการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น (ระหว่างอยู่ที่ประเทศปลายทาง)

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่แออัด
  • รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ และทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร สวมหน้ากากอนามัย ปิดปากหรือจมูกเมื่อไอหรือจาม และระมัดระวังไม่ให้ผิวหนังเกิดบาดแผล และเมื่อมีบาดแผลให้ทำความสะอาดอย่างถูกวิธี
  • สังเกตอาการผิดปกติของตนเอง หากมีอาการเบื้องต้น ได้แก่ เจ็บคอ มีไข้ ให้รีบพบแพทย์ และแยกตัวเองจากบุคคลใกล้ชิด
  • ผู้เดินทางกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว และมีบาดแผลหรือแผลผ่าตัด ควรเพิ่มความระมัดระวังตนเอง

หลังกลับจากการเดินทาง

  • ขณะนี้ยังไม่มีคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลกเรื่องการจำกัดการเดินทางในกรณีดังกล่าว ทั้งนี้ยังไม่มีคำแนะนำการคัดกรองผู้เดินทาง ณ บริเวณช่องทางเข้าออกประเทศ หากผู้เดินทางมีข้อสงสัยสามารถสอบถามและขอคำแนะนำได้จากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่าน  
  • กรณีท่านมีอาการผิดปกติเข้าได้กับอาการแรกเริ่มของ STSS เช่น ไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว ให้รีบพบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทางให้แพทย์ทราบ
  • สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากรู้สึกไม่สบาย หรือมีอาการเบื้องต้น ได้แก่ เจ็บคอ มีไข้ ให้รีบพบแพทย์ และแจ้งประวัติการเดินทางให้แพทย์ทราบ

5) ข้อมูลสำหรับแพทย์และเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข

เนื่องด้วยอาการ STSS มีอาการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น หน่วยงานบริการสาธารณสุขต้องเฝ้าระวังโรคในผู้เดินทาง หากพบผู้ป่วยเข้าได้กับลักษณะอาการของ STSS และมีประวัติการเดินทางมาจากพื้นที่ที่พบผู้ป่วย ควรรีบประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วย เพื่อให้การรักษาอย่างรวดเร็วก่อนเกิดภาวะช็อก ลดความรุนแรง และการแพร่กระจายของโรคในประเทศไทย

ทั้งนี้ ข้อมูลข้างต้น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดทำขึ้นเพื่อสื่อสารอย่างเร็ว อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ โปรดตรวจสอบข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ (1)(2)(3)(4)