ข่าวผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 กลายเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง หลัง “หมอธีระวัฒน์” เผยพบ "แท่งย้วยสีขาว" ในหลอดเลือดมนุษย์ หลังฉีดวัคซีนโควิด และในวันเดียวกัน "หมอธีระ" เตือนระวังข่าวลวง ปั่นให้กลัววัคซีนโควิด mRNA ในขณะที่แพทย์นิติเวช ยืนยันข่าวการเสียชีวิตของผู้รับวัคซีน mRNA พบสิ่งประหลาดในหลอดเลือด ไม่ใช่เรื่องจริง! เรียกว่าอาจจะยังหาข้อสรุปเรื่องนี้ไม่ได้ หากยังไม่มีงานวิจัยที่ชัดเจน
โดยที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค เปิดเวทีรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการเกี่ยวกับประโยชน์และผลเสียจากวัคซีนโควิด-19 ยืนยันผลการวิเคราะห์อัตราการตายส่วนเกิน ยังไม่พบหลักฐานว่าการได้รับวัคซีนโควิดชนิด mRNA เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต อีกทั้งยังไม่สัมพันธ์กับการตายในกลุ่มโรคหลอดเลือดสมอง และกลุ่มโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แต่จะทำการศึกษาเพิ่มเติมจากฐานข้อมูลมาประกอบการวิเคราะห์ต่อไป
mRNA คืออะไร?
mRNA (อ่านว่า เอม-อาร์-เอน-เอ) ย่อมาจากคำว่า “messenger Ribonucleic Acid” เป็นสารพันธุกรรมที่อยู่ในเซลล์ของร่างกาย ทำหน้าที่ออกคำสั่งให้เซลล์ผลิตโปรตีนขึ้นตามรหัสคำสั่งนั้นๆ ซึ่งเป็นกลไกปกติของร่างกาย
อธิบายเพิ่มขึ้นคือ วัคซีนต้านโควิด-19 ชนิด mRNA ผลิตโดยการสังเคราะห์ mRNA ที่เป็นรหัสพันธุกรรมสำหรับการสร้างโปรตีนหนามของเชื้อก่อโรค์โควิด-19 หรือ SARS-CoV-2 (spike protein) เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกาย mRNA จะทำให้เซลล์สร้างโปรตีนหนามของไวรัส และกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ SARS-CoV-2
เนื่องจาก mRNA เป็นรหัสพันธุกรรมเฉพาะส่วนโปรตีนหนามไม่ใช่ไวรัสทั้งตัว จึงไม่ทำให้ผู้ได้รับวัคซีนป่วยเป็นโรคโควิด-19 แต่ร่างกายจะรู้จักส่วนสำคัญที่สุดของไวรัส และสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้านไวรัสนี้ได้
วัคซีนป้องกันโควิด ชนิด mRNA แตกต่างจากวัคซีนป้องกันโควิดชนิดอื่นอย่างไร?
วัคซีน mRNA แตกต่างจากวัคซีนป้องกันโควิดชนิดอื่นๆ ตรงเทคโนโลยีการผลิต และกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกัน โดยวัคซีน mRNA ใช้หลักการ ฉีดสารพันธุกรรมที่สังเคราะห์จากส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างโปรตีนปุ่มหนามของเชื้อไวรัส เข้าสู่ร่างกาย ทำให้แอนติเจนรู้จักเชื้อไวรัสโควิด-19 และกระตุ้นการสร้างแอนติบอดีขึ้นมา
การรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO)
วัคซีนชนิด mRNA ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยกำหนดให้ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับบริษัทผู้ผลิต
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น คือ อาการปวด บวมบริเวณที่ฉีด เวียนศีรษะ มีไข้ และคลื่นไส้
อาการแพ้แบบรุนแรง เช่น หายใจลำบาก ปากบวม หน้าบวม หัวใจเต้นเร็วกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ มีโอกาสเกิดน้อย
ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า วัคซีนชนิด mRNA แม้จะกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ได้น้อยลง แต่ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับวัคซีนชนิดอื่น
mRNA ส่งผลต่อดีเอ็นเอจริงหรือไม่?
คำตอบในเบื้องต้นของเรื่องนี้คือ ไม่จริง เพราะโมเลกุลของ mRNA ในวัคซีนไม่ได้เข้าถึงนิวเคลียส หรือใจกลางของเซลล์ จึงไม่อาจเข้าไปพัวพัน ทำปฏิกิริยา หรือส่งผลกระทบต่อสารพันธุกรรม หรือดีเอ็นเอ (DNA) ที่อยู่ภายในนิวเคลียสได้ นอกจากนี้ สารพันธุกรรม mRNA เหล่านี้ยังถูกขจัดออกจากร่างกายภายในระยะเวลาไม่นาน จึงไม่สะสม ฝังตัวอยู่ในนิวเคลียสของเซลล์ หรือตกค้างในร่างกายแต่อย่างใด ทั้งนี้ ยังคงต้องรอการยืนยันที่ชัดเจนจากงานวิจัยหรือการอ้างอิงที่พิสูจน์ได้