svasdssvasds
เนชั่นทีวี

Health & Lifestyle

สังเกตอาการเมื่อ"ติดเชื้อ HPV"เป็นอย่างไร และใครคือกลุ่มเสี่ยง!!

รวมสาระน่ารู้ของเชื้อไวรัส HPV โรคที่ติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ ติดง่ายแค่ไหน ใครคือกลุ่มเสี่ยง การแพร่กระจายเชื้อเป็นอย่างไร พร้อมแนะวิธีสังเกตอาการเมื่อติดเชื้อ HPV รวมถึงวิธีป้องกันเชื้อไวรัส และการรักษาหากติดเชื้อ HPV

เชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) หรือเชื้อแปปิโลมา เป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อเนื้อเยื่อบุผิว และก่อที่ก่อโรคบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนักทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย จากการสัมผัสเชื้อโดยตรง หรือการมีเพศสัมพันธ์ โดยมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่อันตรายต่อร่างกายมากที่สุดคือ สายพันธุ์ 16 และ 18

สังเกตอาการเมื่อ\"ติดเชื้อ HPV\"เป็นอย่างไร และใครคือกลุ่มเสี่ยง!!

HPV ติดง่ายแค่ไหน การแพร่กระจายเชื้อเป็นอย่างไร

การติดเชื้อ HPV มักติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก ปาก โดยแพร่เชื้อผ่านรอยแผล หรือรอยขีดข่วนตามผิวหนัง หรือสัมผัสผิวหนัง อีกทั้งสิ่งของปนเปื้อนเชื้อจากผู้ป่วย ที่น่าเป็นห่วงคือ หญิงตั้งครรภ์ที่มีเชื้อ HPV อาจแพร่เชื้อสู่ลูกระหว่างการคลอดได้ ด้วยการสัมผัสเชื้อโดยตรงหรือการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งผู้ที่มีเชื้อ HPV อยู่ในร่างกายมักไม่มีอาการแสดงใดๆ  จึงอาจแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว

อาการเมื่อติดเชื้อ HPV เป็นอย่างไร

ผู้ที่ติดเชื้อ HPV ส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการ เพราะระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะกำจัดเชื้อไวรัสได้ก่อนเป็นหูด ซึ่งลักษณะของหูดจะแตกต่างตามสายพันธุ์ไวรัส ได้แก่

  • หูดทั่วไป จะเป็นตุ่มเล็ก ๆ ที่อาจขึ้นตามมือ นิ้ว ข้อศอก มีสีเนื้อ สีขาว สีชมพู สีน้ำตาลอ่อน บริเวณที่พบคือ มือ นิ้วมือ ข้อศอก แม้ไม่อันตราย แต่อาจทำให้เจ็บปวด โดยผิวหนังที่เกิดหูดอาจมีเลือดออกได้ง่าย
  • หูดแบนราบ จะมีสีเข้มกว่าปกติและนูนขึ้นมาเล็กน้อย มีขนาดเล็ก พื้นเรียบ เกิดขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกาย โดยผู้หญิงมักพบที่ขา ผู้ชายมักพบที่เครา เด็กมักพบที่ใบหน้า
  • หูดบริเวณอวัยวะเพศ หรือหูดหงอนไก่ เป็นติ่งเนื้อคล้ายดอกกะหล่ำที่เกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศหญิง อวัยวะเพศชาย และทวารหนัก มักรู้สึกคัน แต่ไม่เจ็บปวด
  • หูดบริเวณฝ่าเท้า มักขึ้นตรงส้นเท้าหรือเนินปลายเท้า มีลักษณะเป็นตุ่มแข็ง ไม่ว่ายืนหรือเดินจะรู้สึกเจ็บ

ใครคือกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ HPV

  • หญิง-ชายที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • เด็กและวัยรุ่น โดยเฉพาะเด็กวัยเจริญพันธุ์
  • ผู้ที่มีแผลหรือรอยขีดข่วนตามผิวหนัง
  • ผู้ที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ ฯลฯ
  • ผู้ที่สัมผัสหูดหรือสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อโดยไม่ได้สวมถุงมือเพื่อป้องกัน
  • ผู้ที่ใช้สถานที่ที่มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย เช่น ห้องอาบน้ำสาธารณะ สระว่ายน้ำ ฯลฯ

วิธีป้องกันการติดเชื้อ HPV ทำอย่างไร

  • ผู้ที่มีอายุ 9 – 26 ปี แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก 4 ชนิด
  • ผู้หญิงที่มีอายุ 21 – 65 ปี ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุกปี
  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • ไม่ควรแกะหรือเกาหูดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น
  • สวมรองเท้าเมื่ออยู่ในสถานที่ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น สระว่ายน้ำสาธารณะ ห้องอาบน้ำรวม ฯลฯ

สังเกตอาการเมื่อ\"ติดเชื้อ HPV\"เป็นอย่างไร และใครคือกลุ่มเสี่ยง!!

การตรวจคัดกรองและการฉีดวัคซีนช่วยลดความเสี่ยงได้

- ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุก 3 ปี และตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ทุก 5 ปี

- ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปี

- วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ทางเลือกของการเสริมภูมิคุ้มกันโดยในปัจจุบันประเทศไทยมีวัคซีนอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด คือ

  • วัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์ (Bivalent vaccine: Cervarix) คือ วัคซีนที่ป้องกันเชื้อไวรัส HPV ได้ 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก
  • วัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ (Quadrivalent vaccine: Gardasil ) คือ วัคซีนที่ป้องกันเชื้อไวรัส HPV ได้ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ 6, 11, 16 และ 18 ซึ่งสายพันธุ์ 6 และ 11 ทำให้เกิดหูดหงอนไก่
  • วัคซีนชนิด 9 สายพันธุ์ (6/11/16/18/31/33/45/52/58)

วัคซีนชนิด 9 สายพันธุ์กับการป้องกันโรคในผู้หญิงอายุ 9-45 ปี ช่วยป้องกันโรคดังนี้

  • มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับที่ 2 ในผู้หญิงไทย
  • มะเร็งปากช่องคลอด และช่องคลอด (Vulvar and vaginal cancers)
  • รอยโรคก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก ปากช่องคลอด ช่องคลอด และทวารหนัก
  • มะเร็งทวารหนัก (Anal cancer)
  • หูดที่อวัยวะเพศ

เกณฑ์ในการฉีดวัคซีนจะแบ่งตามช่วงอายุ โดยวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่บรรจุในวัคซีน ได้มากกว่า 90%

  • อายุ 9 – 14 ปี ฉีดจำนวน 2 เข็ม
  • สำหรับอายุ 15 ปี ขึ้นไป ฉีดจำนวน 3 เข็ม

เพื่อประสิทธิภาพที่ดีที่สุด ควรฉีดวัคซีนในช่วงเด็ก หรือก่อนมีเพศสัมพันธ์ เพราะหากได้รับเชื้อมาแล้วจะไม่สามารถป้องกันจากเชื้อนั้นได้

วิธีการรักษาหากติดเชื้อ HPV เป็นอย่างไร

หากติดเชื้อ HPV วิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการที่พบเป็นสำคัญ โดยผู้ที่เป็นหูดจะรักษาโดยการใช้ยา ส่วนผู้ที่เป็นมะเร็งอาจต้องเข้ารับการฉายรังสีหรือผ่าตัด หากรู้เร็วจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาและมะเร็งไม่ลุกลามจนสายเกินไป

ตรวจเชื้อ HPV ด้วยตัวเองทำอย่างไร

ปัจจุบันมี HPV Self–Collected Test ชุดเก็บตัวอย่างเซลล์ด้วยตัวเองเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ที่ออกแบบเพื่อเก็บสิ่งตรวจไปตรวจวิเคราะห์การติดเชื้อ HPV ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก โดยจะมีไม้เก็บสิ่งตรวจและชุดน้ำยาที่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกา (US-FDA) ในการเก็บสิ่งตรวจจากปากมดลูกชั้นในของคุณผู้หญิงเพื่อนำไปใช้ทดสอบกับชุดตรวจแอพติมาเอชพีวี คลามัยเดีย ทราโคมาติส และนีสซีเรีย โทโนเรียในห้องปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์ผลต่อไป