svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

‘มะเร็งปอด’ ใครบ้างมีความเสี่ยง และใครบ้างที่แพทย์แนะนำให้รีบไปตรวจ

พฤศจิกายน : เดือนแห่งการรณรงค์ต้านภัยมะเร็งปอด (Lung Cancer Awareness Month) เปิดความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด โรคที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกเป็นอันดับต้นๆ พร้อมเตือนใครบ้างมีความเสี่ยง และใครบ้างที่แพทย์แนะนำให้รีบไปตรวจ

เดือนพฤศจิกายน นับเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ต้านภัยมะเร็งปอด (Lung Cancer Awareness Month) ซึ่งความสำคัญของการรณรงค์นี้ คือการสร้างความตระหนักรู้ ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคมะเร็งปอดมากขึ้น เข้าใจถึงความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด (บุหรี่ แร่ใยหิน มลพิษทางอากาศ) รวมถึงการรณรงค์ให้ประชาชนได้รับการ “ตรวจคัดกรองมะเร็งปอด” โดยประชาชนทั่วไปควรเอกซเรย์ปอดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง พิจารณาทำ Low dose CT scan ในกลุ่มเสี่ยงสูงคือ สูบบุหรี่จัด หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งปอด ซึ่งการตรวจคัดกรองประชาชนได้มากและเร็วจะทำให้มีโอกาสพบโรคมะเร็งปอดระยะแรกๆ มีอัตราการรักษาหายขาดและการรอดชีวิตสูง

‘มะเร็งปอด’ ใครบ้างมีความเสี่ยง และใครบ้างที่แพทย์แนะนำให้รีบไปตรวจ

เรื่องของโรคมะเร็งปอด เป็นที่กล่าวถึงจากอุทาหรณ์ที่ถูกแชร์ต่อและทุกคนร่วมส่งแรงใจไปให้ในกรณีเคสเรื่องราวของ นายแพทย์กฤตไท ธนสมบัติกุล อาจารย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก "สู้ดิวะ" ที่ล่าสุดได้แบ่งปันเรื่องราวป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดระยะสุดท้าย และโพสต์แจ้งข่าวร้ายว่าน่าจะมีชีวิตอยู่ถึงเพียงกลางเดือนหน้า ซึ่งมีชาวเน็ตให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก 

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด สามารถจำแนกเป็นปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ และปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้

ปัจจัยที่ควบคุมได้

สูบบุหรี่ : บุหรี่เป็นปัจจัยหลักต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดมากที่สุด คาดการณ์ว่ากว่า 80-90% ของการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด เกี่ยวข้องโดยตรงกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ทั้งในแง่ปริมาณและระยะเวลาที่สูบ นอกจากนี้ควันบุหรี่มือสองก็เป็นสาเหตุสำคัญต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดด้วย

สัมผัสกับก๊าซเรดอน (Radon) : เป็นสารกัมมันตภาพรังสีที่เกิดจากการสลายตัวของเรเดียมหรือยูเรเนียม มักพบในอาคารหรือสิ่งก่อสร้าง ซึ่งมีหิน ดิน ทราย เจือปนแร่เรเดียม

แร่ใยหิน : ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมผลิตวัสดุก่อสร้าง ผ้าเบรก ฉนวนกันความร้อน พบว่ามีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าคนปกติถึง 7 เท่า

สารก่อมะเร็งอื่น ๆ : เช่น สารหนู ถ่านหิน สารพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ รวมถึงฝุ่น PM 2.5

ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้

พันธุกรรม หรือมีประวัติเป็นมะเร็งในครอบครัว ย่อมมีความเสี่ยงสูงกว่ากลุ่มที่ไม่มีประวัติมะเร็งในครอบครัว

อายุที่มากขึ้น โดยทั่วไปความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นหลังอายุ 40 ปี แต่สามารถพบได้ในคนอายุน้อยกว่า 40 ปี โดยเฉพาะคนที่สูบบุหรี่

อาการมะเร็งปอด

ในระยะแรกของมะเร็งปอดมักจะไม่แสดงอาการ แต่อาการมักจะเพิ่มขึ้น เมื่อมะเร็งมีการเจริญเติบโตขึ้น และอาการขึ้นอยู่กับตำแหน่งของก้อน โดยอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • ไอเรื้อรัง พบได้ประมาณ 50-75%
  • ไอมีเสมหะปนเลือด ซึ่งอาจมีปริมาณเล็กน้อย หรือเลือดสดก็ได้
  • เหนื่อยง่ายหายใจลำบาก เจ็บแน่นหน้าอก หายใจมีเสียงดังผิดปกติ เสียงแหบ
  • เบื่ออาหารหรือน้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ
  • รวมถึงอาการที่เกิดจากการลุกลามของมะเร็ง เช่น ปวดกระดูก ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดศีรษะ กล้ามเนื้ออ่อนแรง

‘มะเร็งปอด’ ใครบ้างมีความเสี่ยง และใครบ้างที่แพทย์แนะนำให้รีบไปตรวจ

ใครบ้างมีความเสี่ยงโรคมะเร็งปอด

  • คนที่สูบบุหรี่
  • คนที่ในครอบครัวสูบบุหรี่ หรือได้รับควันบุหรี่ (ควันบุหรี่มือสอง)
  • คนที่ทำงานใกล้ชิดสารเคมี หรือสารก่อมะเร็ง
  • คนที่สัมผัสฝุ่นควัน หรือมลพิษทางอากาศเป็นระยะเวลานาน
  • คนที่มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งปอด

 

ใครบ้างที่แพทย์แนะนำให้รีบไปตรวจคัดกรองมะเร็งปอด

  • คนที่สูบบุหรี่จัด มีอายุ 50 ปีขึ้นไป หรือเลิกสูบบุหรี่แล้ว แต่ยังหยุดสูบไม่ถึง 15 ปี เนื่องจากการสูบบุหรี่ถือเป็นปัจจัยสำคัญหลักในการเกิดโรคมะเร็งปอด รวมไปถึงมะเร็งชนิดอื่นๆ ด้วน เช่น มะเร็งหู คอ จมูก มะเร็งกระเพาะปัสสาวะเป็นต้นจากการที่เป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก จึงมีคำแนะนำให้คนที่สูบบุหรี่ ที่อายุตั้งแต่ 55 ปี สูบวันละประมาณ 1 ซอง มานานกว่า 30 ปี ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปอดโดยใช้การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำซึ่งจะมีความละเอียดมากกว่าเอกซเรย์ธรรมดา
  • คนที่การทำงานในอุตสาหกรรมที่มีสารก่อมะเร็ง เช่น โครเมียม แร่ใยหิน แร่เรดอน นิกเกิล เรดอน เป็นต้น
  • คนที่มีประวัติโรคปอดเรื้อรังเดิม เช่น โรคถุงลมปอดโป่งพองเรื้อรัง และภาวะผังผืดที่ปอด พบว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดสูงขึ้น
  • คนที่ต้องอยู่สภาวะแวดล้อม ฝุ่นละอองพิษเป็นเวลานาน เนื่องจากมีการศึกษาหลายการศึกษาพบว่า ฝุ่น PM 2.5 มีความสัมพันธ์และอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะมะเร็งปอด แต่ยังไม่ทราบว่า ขนาดและปริมาณการได้รับที่ทำให้เกิดมะเร็งปอดนั้นอยู่ในปริมาณที่เท่าไหร่
  • คนที่กำลังสงสัยว่าตัวเองเป็นโรคมะเร็งปอด หรือมีอาการผิดปกติ อาทิ ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด มีไข้เรื้อรัง เสียงแหบ หายใจไม่สะดวก เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ

สำหรับใครที่เข้าข่ายมีอาการผิดปกติดังที่กล่าวมา อย่าปล่อยไว้นาน เพราะ "โรคมะเร็งปอด" ตรวจก่อน รู้ก่อน ป้องกันได้ก่อนโรคลุกลาม