ย้อนกลับไปในอดีตเคยมีการศึกษาสารเคมีในอาหารกระป๋อง ซึ่งพบการรั่วไหลของอะลูมิเนียมที่ใช้ทำกระป๋องและอาหารที่ไม่ได้คุณภาพ อีกทั้งยังมีการเจือปนของสาร Bisphenol A หรือสาร BPA ซึ่งเป็นสารเจือปนที่น่ากลัวที่สุดในอาหารกระป๋อง และมีผลกระทบต่อสุขภาพที่ร้ายแรงกว่าที่คิดถึงขั้นที่สามารถส่งต่อไปยังลูกหลานของเราได้อีกหลายชั่วรุ่น
สำหรับสาร Bisphenol A หรือ BPA เป็นสารประกอบในการผลิตพลาสติกและผลิตภัณฑ์จำพวกยาง มักถูกใช้ในกระบวนการผลิตพลาสติกทั่วไปตั้งแต่ปี 1960 ไม่ว่าจะเป็นพลาสติกที่ใช้บรรจุอาหาร หรือขวดน้ำดื่ม และใช้เคลือบด้านในกระป๋องอาหารและเครื่องดื่มที่เราบริโภคกัน ซึ่งหากกินนานๆ ครั้ง ปริมาณที่พบได้น้อยนิดอาจไม่เป็นผล แต่หากบริโภคจำนวนมากและสะสมเป็นเวลานาน มีผลการวิจัยที่เกี่ยวกับผลกระทบจากสาร BPA ถูกตีพิมพ์ลงในวารสารงานวิจัยในต่างประเทศ บอกผลสรุปที่น่าทึ่งเลยทีเดียว
โดยการวิจัยครั้งนั้นให้หนูทดลองกลุ่มหนึ่งกินอาหารที่มีสาร BPA เจอปนเพียงเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณที่พบในอาหารกระป๋องที่เรากิน และหนูอีกกลุ่มกินอาหารธรรมดา ปรากฏว่าหนูกลุ่มที่ได้รับสาร BPA นี้มีอาการเก็บตัวกว่าอีกกลุ่มมาก ไม่เดินสำรวจกรงหรือของเล่นในกรงเหมือนเคย สังสรรค์กับหนูตัวอื่นน้อยลงมาก และมีอาการคล้ายกับเด็กที่เป็นออทิสติกหรือโรคสมาธิสั้นด้วย ผลสรุปประการแรกจากการทดลองนี้คือ สาร BPA สามารถทำลายการทำงานของสมองและฮอร์โมนในสมองได้ นอกจากนี้ นักวิจัยเปิดเผยว่าพฤติกรรมแปลกๆ ที่เกิดจากการที่สมองถูกทำลายไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะตัวหนูทดลองกลุ่มที่กินสาร BPA เข้าไปเท่านั้น แต่ยังส่งต่อไปถึงลูกหลานของหนูกลุ่มนี้อีกถึง 3 ทอดให้มีลักษณะของการที่สมองถูกทำลายเช่นกัน ซึ่งข้อสรุปอีกข้อที่ได้ก็คือ ฤทธิ์ของสาร BPA สามารถทำลายพันธุกรรมได้มากถึง 4 ชั่วรุ่น
หลังจากนั้นยังมีงานวิจัยที่ระบุความเชื่อมโยงของสารนี้กับปริมาณฮอร์โมนในร่างกายมนุษย์ มะเร็งเต้านม และภาวะการมีบุตรยาก แต่ล่าสุดมีงานวิจัยใหม่ซึ่งเป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์พบความเชื่อมโยงของสาร BPA กับโรคออทิสติกและสมาธิสั้นในมนุษย์!!
“นี่คือหลักฐานทางชีวเคมีชิ้นแรกที่แสดงว่ามีความเชื่อมโยงระหว่าง BPA กับการพัฒนาของโรค ASD และ ADHD” T. Peter Stein ศาสตราจารย์ผู้เขียนงานวิจัยจาก owan-Virtua School of Osteopathic Medicine กล่าว
ทีมวิจัยได้ศึกษาเด็ก 3 กลุ่ม โดยแบ่งเป็นคนที่เป็น ASD 66 คน, เป็น ADHD 46 คน และคนที่เป็นโรคทางระบบประสาทอีก 37 คน แล้ววิเคราะห์กระบวนการกูลโคโรไนเตชัน (Glucuronidation) ซึ่งเป็นกระบวนการทางเคมีที่ร่างกายใช้ล้างสารพิษในเลือดผ่านทางปัสสาวะ
พวกเขาพบว่าเด็กที่เป็น ASD และ ADHD กำจัดสาร BPA ได้ไม่ดีเท่าเด็กคนอื่นๆ โดยคนที่เป็น ASD กำจัดได้น้อยลง 11% และคนที่เป็น ADHD กำจัดได้ลดลง 17% นั่นหมายความว่าเด็กต้องสัมผัสกับสารนี้นานขึ้นและมากขึ้น จนอาจทำให้พัฒนาการและการทำงานของเซลล์ประสาทเสียหาย
ทั้งนี้ งานวิจัยนี้ระบุถึงความเชื่อมโยงกันเท่านั้น ไม่ได้ระบุว่า BPA เป็นสาเหตุของโรค หรือโรคเป็นสาเหตุที่ทำให้ร่างกายกำจัด BPA ได้น้อยลง อีกทั้ง ASD และ ADHD เป็นโรคที่มีความซับซ้อนกับมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยมากๆ ไม่เพียงเท่านั้นยังมีงานวิจัยน้อยเกี่ยวกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงกับยีน แต่ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นเบาะแสให้นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นหาคำตอบเพื่อขยายผลต่อไปในอนาคต
source : sciencealert / journals.plos