svasdssvasds
เนชั่นทีวี

Health & Lifestyle

'หวานตัดขา' อันตรายของโรคเบาหวาน ป้องกันอย่างไรไม่ให้เสียขา

เปิดวิธีดูแลสุขภาพของชาวเบาหวาน ป้องกันตัวเองอย่างไรไม่ให้ถูก "ตัดขา" แนะเทคนิคปรับพฤติกรรมการบริโภค พร้อมวิธีการสังเกตแผลที่เท้าก่อนสายเกินแก้!!!

วลี "หวานตัดขา" ไม่ได้มาเล่นๆ แต่เป็นเรื่องจริง เพราะหากพูดถึงปัญหาสุขภาพที่มาพร้อมกับความหวาน "โรคเบาหวาน" เป็นโรคแรกที่หลายคนรู้จักันดี ซึ่งที่มาของคำนี้มาจากภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังจนเกิดอาการต่างๆ ตามมา

\'หวานตัดขา\' อันตรายของโรคเบาหวาน ป้องกันอย่างไรไม่ให้เสียขา

ทำความเข้าใจโรคเบาหวาน

"โรคเบาหวาน" เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกิดจากความผิดปกติในการผลิตหรือตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินของร่างกาย ทำให้ไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้อวัยวะเสื่อมสมรรถภาพ เป็นเหตุให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ตาสูญเสียการมองเห็น ไตวายเรื้อรัง หัวใจขาดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาต ชาปลายมือปลายเท้า รวมถึงเป็นแผลหายยาก ซึ่งบางรายอาจจำเป็นต้อง "ตัดขา"

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะโดยปกติเมื่อเรากินอาหารเข้าระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อกินอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต อย่าง "แป้งและน้ำตาล" ตับอ่อนของเราก็จะผลิตฮอร์โมนที่ชื่อ "อินซูลิน" เพื่อมาพาน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลล์ต่างๆ  เพื่อเป็นพลังงาน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดกลับมาสู่ระดับปกติ

แต่ในคนที่เป็นโรคเบาหวานร่างกายจะไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เลย (เบาหวานชนิดที่ 1) หรือเซลล์ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้ไม่ดีจนน้ำตาลในเลือดไม่สามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานได้และตับอ่อนผลิตอินซูลินได้น้อยลง (เบาหวานชนิดที่ 2) ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติและทำให้เซลล์ภายในร่างกายอักเสบและผิดปกติ ทั้งหลอดเลือด เซลล์ผิวหนัง เซลล์ประสาท และเซลล์อื่นๆ นานวันเข้าการอักเสบเรื้อรังจึงทำให้เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรงขึ้น ส่งผลให้เซลล์ประสาทรับความรู้สึกได้น้อยลง เลือดไหลเวียนได้น้อยลง เซลล์ก็เริ่มอ่อนแอ เพราะขาดออกซิเจนและสารอาหารที่ลำเลียงผ่านเลือด

 

เชื่อหรือไม่?

-มีผู้ป่วยเบาหวานถึงร้อยละ 20 ที่ต้องรับไว้ในโรงพยาบาลเนื่องจาก "มีแผลที่เท้า"

- โรคเบาหวานเป็นสาเหตุของการถูกตัดเท้าหรือขา "ร้อยละ 40-70"

- ผู้ป่วยเบาหวานที่ถูกตัดเท้า "ร้อยละ 85 เริ่มจากการมีแผลที่เท้ามาก่อน"

- "ทุกๆ 30 วินาที" มีผู้ป่วยเบาหวานสูญเสียเท้าจากการถูกตัด

- ผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงในการถูกตัดเท้าสูงกว่าผู้ไม่เป็นมากถึง "40 เท่า"

แล้วทำไมต้องตัดขา?

ผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงที่จะเกิดเส้นประสาทเสื่อม (ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท) และมีภาวะเลือดไปเลี้ยงที่เท้าไม่เพียงพอ (ภาวะขาดเลือด) ซึ่งทั้งสองภาวะนี้เป็นเหตุทำให้เกิดแผลที่เท้าและหายยาก ซึ่งเมื่อมีการติดเชื้อก็อาจต้องลงเอยด้วยการตัดเท้า

\'หวานตัดขา\' อันตรายของโรคเบาหวาน ป้องกันอย่างไรไม่ให้เสียขา

ด้วยภาวะข้างต้น หากคนที่เป็นเบาหวานเผลอไปเดินเหยียบของมีคม เศษหิน หรือเกิดแผลที่เท้าก็อาจจะไม่รู้สึกเจ็บ เนื่องจากเซลล์ประสาทที่เท้าเสียหาย จึงขาดการดูแลแผลอย่างเหมาะสม บวกกับการที่เลือดไหลเวียนได้น้อยลง แผลเบาหวานก็จะหายช้ากว่าคนทั่วไปหลายเท่า จนอาจทำให้แผลเกิดการติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว ซึ่งก็อาจทำให้ผิวหนังและเนื้อเยื่อรอบแผลเริ่มเน่าและตายลง ถ้าไม่ได้ไปหาหมอเนื้อที่เน่าก็จะลามไปบริเวณใกล้เคียงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนี่คือจุดเริ่มต้นของ "หวานตัดขา" เพราะการรักษาแผลเบาหวานต้องใช้เวลา ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานจนไม่สามารถรักษาได้ หมอก็อาจจำเป็นต้องตัดเนื้อที่ตายแล้วทิ้งเพื่อไม่ให้แผลลุกลาม ส่วนที่ต้องตัดทิ้งก็อาจจะมีตั้งแต่เนื้อเท้าบางส่วน นิ้วเท้า เท้า หรือในที่ร้ายแรงก็คือขาทั้งขานั่นแหละ และต่อให้ตัดขาไปแล้ว แต่ผู้ป่วยยังดูแลตัวเองไม่ดีหรือร่างกายอ่อนแอมากๆ ก็อาจจะติดเชื้อซ้ำได้ด้วย ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ เกี่ยวข้อง เช่น เชื้อชาติ ภูมิอากาศ และสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกตัดเท้า ก็ยังพบว่าการถูกตัดเท้าในผู้ป่วยเบาหวานจะสูงกว่ากรณีอื่นๆ จึงถือว่าการเกิดแผลที่เท้าในเบาหวาน ส่งผลบั่นทอนคุณภาพชีวิตอย่างมาก

ป้องกันตัวเองอย่างไรไม่ให้ถูก "ตัดขา"

- หมั่นตรวจเท้าทุกวัน สำรวจรอยขีดข่วน รอยบาด ตุ่มน้ำพอง รอยฟกช้ำ หรือมีสีผิวเปลี่ยนแปลงไป อาการบวมและแผลเปิด ถ้ามีควรแจ้งให้แพทย์ผู้ดูแลรับทราบทันที อาจใช้กระจกเงาหงายดูฝ่าเท้า หรือถ้าไม่สะดวกควรขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น

- ล้างทำความสะอาดเท้าด้วยสบู่กับน้ำเปล่าทุกวัน โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้า จากนั้นเช็คหรือเป่าให้แห้งอย่างระมัดระวัง ใช้น้ำมันหรือโลชั่นทาผิวหนังบริเวณเท้า เพื่อให้ผิวอ่อนนุ่ม หลีกเลี่ยงบริเวณซอกนิ้วเท้า

- ตรวจสอบภายในรองเท้าก่อนสวมใส่ทุกครั้ง เพื่อขจัดสิ่งแปลกปลอม โดยเฉพาะเศษก้อนหิน วัตถุแหลมคม หรือสังเกตว่ามีส่วนที่ขรุขระมาขูดข่วนเท้าหรือไม่

- ควรสวมถุงเท้าเพื่อป้องกันการเสียดสี บาดเจ็บ โดยถุงเท้า ไม่ควรจะรัดแน่นเกินไปและไม่มีรูโหว่

- เลือกซื้อรองเท้าคู่ใหม่ในช่วงบ่าย เพื่อให้เท้าขยายตัวเต็มที่และเลือกรองเท้าได้ขนาดที่เหมาะสมพอดีกับเท้า

- ตรวจสอบเท้าโดยทีมดูแลสุขภาพเป็นระยะ

- ตัดเล็บเท้าตรงในแนวขวาง แล้วใช้ตะไบลมคมที่ปลายเล็บ

- ถ้ามีแผล ควรทำความสะอาดและปิดแผลด้วยวัสดุที่ฆ่าเชื้อแล้ว

- ระมัดระวังโดยสวมรองเท้าทุกขณะ ไม่ว่าจะอยู่ภายในบ้าน หรือนอกสถานที่ เพื่อหลีกเลี่ยงภยันตรายต่อเท้า

- ควรเลี่ยงรองเท้าปลายแหลม ส้นสูง มีรูเปิด ไร้สายรัด หรือไม่หุ้มส้นด้านหลัง

- ไม่สวมถุงเท้าที่รัดแน่นเกินไป

- ห้ามใช้กระเป๋าน้ำร้อน หรือเครื่องทำความร้อนประคบหรือเป่าที่เท้า

- หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่า แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องเดินอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเหยียบย่ำบนผิวทางเดินที่ร้อนจัด

- หลีกเลี่ยงการใช้ยาทาตาปลา ยาจี้หูด หรือมีดโกนกับเท้าด้วยตนเอง ควรปรึกษาแพทย์ก่อน

- ลดหรือควบคุมน้ำหนักไม่ให้มากเกินไป

- งดสูบบุหรี่ เนื่องจากทำให้หลอดเลือดตีบ เลือดไปเลี้ยงเท้าน้อยลง

- ไม่สวมเครื่องประดับที่เท้า

\'หวานตัดขา\' อันตรายของโรคเบาหวาน ป้องกันอย่างไรไม่ให้เสียขา

การป้องกันโรคเบาหวานควรปฏิบัติดังนี้ 

1.เลือกรับประทานอาหารให้หลากหลาย เน้นผัก ผลไม้ และธัญพืชต่างๆ ลดอาหารประเภทหวาน มัน เค็ม  

2.ควรออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง  

3.ทำจิตใจให้แจ่มใส นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน  

4.ไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์  

5.ผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจสุขภาพทุกปี