ในช่วงสภาพอากาศร้อนๆ และบางครั้งก็ฝนตกหนัก จนไม่แ่ใจว่าฤดูอะไรกันแน่ สำหรับในช่วงที่อกาศร้อนๆ บ้านไหนไม่มีแอร์คงต้องใช้วิธีเปิดพัดลมเป่าทั้งคืน เพื่อคลายร้อนและช่วยให้ "นอนหลับ" ได้ดี แต่คุณๆๆๆ รู้หรือไม่? การเปิดพัดลมจ่อใส่ตัวทั้งคืน อาจทำให้ป่วยง่าย ร่ายกายเมื่อยล้าและอิดโรยมากผิดปกติ!!
อ้างอิงชุดข้อมูลดีๆ จาก Sleep Advisor ระบุถึง ประโยชน์ของการเปิดพัดลมขณะนอนหลับไว้ว่า การนอนโดยเปิดพัดลมอาจมีประโยชน์สำหรับบางคนและบางสถานการณ์ โดยสามารถนำไปสู่การพักผ่อนที่มีคุณภาพดีขึ้น และเนื่องจากการนอนหลับมีความสำคัญต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจอย่างมาก การที่คนเรานอนหลับได้ดีในแต่ละคืนจึงสำคัญต่อคุณภาพชีวิตโดยรวม แต่การเปิดพัดลมนอนก็มีข้อดีและข้อเสียที่ควรรู้
ชวนคอข่าวคนรักสุขภาพมาเผยข้อดี-ข้อเสีย การเปิดพัดลมขณะนอนหลับ
ประเดิมเริ่มต้น มาส่องสำหรับข้อดีของการเปิดพัดลมขณะนอนหลับตอนกลางคืน ได้แก่ ช่วยให้รู้สึกเย็นสบาย จึงนอนหลับได้ดี (กรณีที่ไม่มีแอร์), ช่วยปรับอุณหภูมิห้องนอนให้เย็นเร็วขึ้น (กรณีเปิดแอร์), ช่วยให้อากาศในห้องนอนไหลเวียนมากขึ้น, ช่วยให้ห้องไม่อับชื้น, เสียงฮึมเบาๆ ของพัดลมเรียกว่า "เสียงขาว" ช่วยให้หลับได้ดี, ช่วยป้องกัน Sudden Infant Death Syndrome (SIDS) หรือภาวะไหลตายในเด็กได้ เนื่องจากการเปิดพัดลมช่วยลดอุณหภูมิและลดความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในห้องนอนได้
แต่ขณะเดียวกัน มีอีกหนึ่งชุดข้อมูลที่น่าสนใจมากๆ ว่าด้วย การเปิดพัดลมนอนก็อาจไม่เหมาะกับทุกคน โดยเฉพาะคนขี้ร้อนหากอยากเปิดพัดลมขณะนอนตอนกลางคืน ต้องรู้จักวิธีใช้พัดลมให้ถูกต้อง คือไม่ควรเปิดจ่อใส่ตัวหรือใบหน้าโดยตรง ซึ่งหากเปิดพัดลมจ่อใส่ตัวเป็นประจำอาจทำให้เกิดผลเสียตามมา ได้แก่
1. อาการภูมิแพ้กำเริบ แพ้ฝุ่น แพ้อากาศ : เมื่อพัดลมเป่าอากาศให้หมุนวนไปรอบๆ ห้อง จะทำให้ฝุ่นและละอองเกสรฟุ้งกระจายเข้าสู่จมูกของคนในห้องได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะหากคุณเป็นโรคภูมิแพ้หรือหอบหืดอยู่แล้ว ก็ไม่ควรเปิดพัดลมในห้องนอน เพราะจะทำให้อาการภูมิแพ้กำเริบ หรือทำให้แพ้อากาศได้
ทั้งนี้ควรดูแลทำความสะอาดพัดลมของคุณอยู่เสมอ หากมีฝุ่นสะสมบนใบพัดมากๆ เมื่อเปิดใช้งานฝุ่นเหล่านั้นก็จะยิ่งฟุ้งออกมาใส่เรามากขึ้น และทำให้มีอาการไอจามจากการแพ้ฝุ่น
2. ผิวแห้ง คอแห้ง ตาแห้ง ร่างกายขาดน้ำ : เมื่อเปิดพัดลม คลื่นแรงลมจะกระทบผิวกายของคุณอย่างต่อเนื่องทั้งคืน จนอาจทำให้ผิวแห้ง แต่เรื่องนี้สามารถป้องกันได้ง่ายๆ ด้วยการทาโลชั่นหรือมอยเจอร์ไรเซอร์ก่อนนอน
แต่สิ่งที่ต้องระวังมากไปกว่านั้นคือ บางคนนอนหลับโดยเปลือกตาปิดไม่สนิท อาจดูแปลกแต่ก็เกิดขึ้นได้กับบางคนจริงๆ เมื่อเปิดพัดลมจ่อใส่ตัวหรือใบหน้าขณะนอนหลับ กระแสแรงลมจะทำให้ “ดวงตาแห้ง” และอาจทำให้เกิดการระคายเคืองอย่างรุนแรงได้ ขณะที่บางคนนอนหลับโดยมักอ้าปาก ทำให้แรงลมจากพัดลมที่มากเกินไปทำให้ “ปากแห้งคอแห้ง” ได้ จนต้องตื่นมาจิบน้ำกลางดึก ซึ่งนั่นไม่ดีต่อคุณภาพการนอนหลับ
3. ไซนัสระคายเคือง : การเปิดพัดลมจ่อใส่ตัวทั้งคืนจะทำให้มีแรงลมปะทะมากเกินไป ซึ่งมีแนวโน้มที่จะทำให้โพรงจมูกแห้ง ซึ่งอาจส่งผลให้ไซนัสระคายเคืองรุนแรง เมื่อโพรงไซนัสในจมูกระคายเคือง ร่างกายของเราจะผลิตเมือกส่วนเกินออกมาเพื่อให้ไซนัสกลับมาชุ่มชื้นเพื่อลดอาการระคายเคือง ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะทำให้เมือกอุดตันทางเดินหายใจ ทำให้เกิดอาการคัดจมูก หายใจไม่สะดวก และปวดโพรงไซนัสได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม
นอกจากข้อเสียต่างๆ ข้างต้น อีกหนึ่งผลเสียทางอ้อมของการเปิดพัดลมนอนทั้งคืน ก็คือ อาจเกิดอาการ "เจ็บกล้ามเนื้อ" โดยหากเราเปิดพัดลมจ่อตัวโดยตรง แรงลมจะกระทบร่างกายต่อเนื่อง หลังจากตื่นนอนอาจมีอาการตึงหรือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เนื่องจากอากาศเย็นที่เข้มข้นจะทำให้กล้ามเนื้อเกร็งและเป็นตะคริวได้ ปัญหานี้พบได้บ่อยกับคนที่นอนโดยเปิดพัดลมเป่าใส่ใบหน้าและลำคอโดยตรง ซึ่งอาจตื่นมาพร้อมกับอาการปวดเมื่อยได้
ขณะที่หากย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน ก็เคยมีข้อมูลในทำนองเดียวกันนี้ จากนายแพทย์ทานากะ ผู้อำนวยการคลีนิคมินาโตะมิไร ประเทศญี่ปุ่น ระบุไว้ว่า
การนอนเอาพัดลมจ่อใส่ใบหน้าและร่างกายโดยตรงจะทำให้ป่วยและร่างกายรู้สึกเมื่อยล้า รวมถึงอาจเกิดภาวะร่างกายขาดน้ำ, คุณภาพการไหลเวียนโลหิตต่ำลง, แรงพยุงร่างกายถดถอยลงในผู้สูงอายุ อาจเกิดอุบัติเหตุหกล้ม ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้สูงอายุได้เช่นกัน
ดังนั้น เวลานอนไม่ควรเปิดพัดลมเป่าใส่ร่างกายโดยตรง แต่วิธีที่แนะนำคือ ให้เปิดพัดลมโดยหันพัดลมไปในทิศทางอื่น แล้วกดให้พัดลมส่ายไปมา เน้นให้พัดลมทำหน้าที่ช่วยให้อากาศในห้องเคลื่อนตัว มากกว่าจะให้กระแสแรงลมมากระทบตัวโดยตรง นอกจากนี้ยังทำให้เปิดแอร์ (25-28 องศาฯ) แล้วห้องเย็นเร็วขึ้น และประหยัดไฟได้มากขึ้น
ทั้งนี้ สภาพแวดล้อมสำหรับการนอนหลับที่ดีที่สุดคือ การที่อากาศในห้องมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอด แต่ควรเคลื่อนไหวไปอย่างช้าๆ ในทางกลับกัน หากเปิดพัดลมเป่าร่างกายติดต่อกันตลอดคืนจะทำให้ร่างกายต้องใช้พลังงานเยอะขึ้น จนรู้สึกเหนื่อยและร่างกายอิดโรยหลังตื่นนอนได้นั่นเอง
สรุปให้ฟัง
ขอขอบคุณที่มา กรุงเทพธุรกิจ และ ข้อมูลอ้างอิงจาก : SleepAdvisor.org, HealthLine, JapanSalaryman