svasdssvasds
เนชั่นทีวี

Health & Lifestyle

รู้ทัน ‘ภาวะไขมันในเลือดสูง’ อันตรายที่มีสัญญาณเตือน

เดินเซ ผิวหนังเริ่มผิดปกติ ปวดท้อง อาจเป็นสัญญาณอาการที่ร่างกายกำลังบอกว่า “เรามีไขมันในเลือดสูง” เช็กอันตราย ผลข้างเคียง และความเสี่ยงของคนที่มีไขมันในเลือดสูง พร้อมติดตามวิธีการดูแลสุขภาพ เลือกกินอย่างไรให้ห่างไกลโรคไขมัน

“โรคไขมันในเลือดสูง” เป็นภาวะที่ร่างกายมีไขมันในเลือดสูงกว่าเกณฑ์ปกติ ส่วนใหญ่จะมีปัจจัยมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เเละการรับประทาน “อาหารที่มีไขมันสูง” โดยเฉพาะไขมันจากสัตว์ ส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอล หรือระดับไตรกลีเซอไรด์สูงได้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออาจจะสูงพร้อมกันทั้งสองชนิด นอกจากนี้ หากในร่างกายมีการสะสมไขมันที่มีปริมาณสูงกว่าปกติ  ก็จะส่งผลให้หลอดเลือดตีบตัน โดยเฉพาะหลอดเลือดที่ไหลไปยังอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย

สัญญาณที่ร่างกายกำลังบอกว่าเราอาจมีภาวะไขมันในเส้นเลือดสูง

  • ปวดท้อง บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นตับอ่อนอักเสบได้
  • ปื้นเหลืองที่ผิวหนัง มีลักษณะเป็นปื้นหนา โดยตรงกลางมีสีเหลือง ส่วนฐานของเม็ดพุพองนี้จะมีลักษณะสีแดง จะพบเมื่อไตรกลีเซอร์ไรด์สูงอย่างมาก จุดที่เกิด เช่น หนังตา ข้อศอก เข่า ฝ่ามือ
  • ระบบประสาททำงานผิดปกติ ผู้ป่วยบางรายมีอาการเดินโซเซ และกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง
  • ปวดข้อ แขน ขา ตึง เหยียดได้ไม่ถนัด
  • หลอดเลือดแดงแข็ง มีผลทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอเกิดอัมพาตได้

 

ผลข้างเคียงและความเสี่ยงของคนที่มีไขมันในเลือดสูง 
ภาวะที่มีระดับกลุ่มไขมัน LDL สูง ถือเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งนำไปสู่โรคหัวใจขาดเลือด และอัมพฤกษ์ อัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง จากการที่ไขมันในเลือดสูงไปทำให้หลอดเลือดแดงใหญ่แข็งตัว ซึ่งเรียกว่าโรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis)

รู้ทัน ‘ภาวะไขมันในเลือดสูง’ อันตรายที่มีสัญญาณเตือน

ใครบ้างที่ควรตรวจระดับไขมันในเลือด? 
ควรตรวจเมื่ออายุเกิน 35 ปีขึ้นไป ถ้าปกติ และไม่ได้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดตีบอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ อายุยังไม่เกิน 45 ปี (ผู้ชาย) หรือ 55 ปี (สำหรับผู้หญิง) ไม่มีประวัติโรคหลอดเลือดหัวใจในครอบครัวตั้งแต่อายุน้อย (ผู้ชายไม่เกิน 55 ปี และผู้หญิงไม่เกิน 65 ปี) และยังไม่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง ควรตรวจซ้ำในอีก 5 ปีข้างหน้า หากมีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวแล้วและตรวจพบไขมันในเลือดปกติก็ตรวจซ้ำในอีก 1-3 ปี

รู้จัก “ระดับของไขมันในเลือด” เรื่องที่ต้องควบคุม

1. คอลเลสเตอรอล

เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์ขึ้นได้เองจากตับและลำไส้ พบมากในเนื้อสัตว์ ซึ่งค่าของคอลเลสเตอรอล ไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถ้าหากรวมกัน โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด

        • ไขมันชนิด LDL (Low Density Lipoprotein)
เป็นไขมันที่มีคอเลสเตอรอลอลสูง ตัวไขมันจะมีหน้าที่นำคอเลสเตอรอลไปสู่เซลล์ต่างๆ ที่ต้องการใช้งาน เเต่หากมีค่าสูงเกิน130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ก็จะส่งผลให้หลอดเลือดตีบตัน หรือเปราะบาง เเละนำไปสู่ความเสี่ยงของการเกิดโรคเส้นเลือดตีบตัน

       •  ไขมันชนิด HDL (High Density Lipoprotein)
เป็นไขมันดีที่ทำหน้าที่นำคอเลสเตอรอลที่สะสมตามผนังหลอดเลือดและตามเนื้อเยื่อต่างๆ ไปทำลายที่ตับ เเละยังช่วยลดโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดตีบตันอีกด้วย เเละผู้ชายมีค่ามากกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ส่วนผู้หญิงมีมากกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตร  


2.  ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride)

เป็นไขมันที่สร้างขึ้นมาเองจากเเป้ง เเละน้ำตาล หรือจากอาหารที่รับประทานเข้าไป ช่วยให้รู้สึกอิ่มท้องได้นาน เเต่หากมีค่าสูงเกิน 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจตีบมากขึ้น

รู้ทัน ‘ภาวะไขมันในเลือดสูง’ อันตรายที่มีสัญญาณเตือน

 เลือกกินอย่างไรให้ห่างไกลโรคไขมันในเลือดสูง

  1. ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลรวมกันเกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน เเละผู้ที่มีโรคประจำตัว ไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน
  2. เลือกทานอาหารที่กากใยสูง เช่น แอปเปิ้ล ฝรั่ง ผักใบเขียว ข้าวกล้อง เเละธัญพืชต่างๆ
  3. หลีกเลี่ยงอาหารที่หวานๆ หรือมัน เช่น เบเกอรี่ อาหารฟาสต์ฟู้ด เนย
  4. เน้นอาหารประเภทปลา เช่น ปลาทูน่า ปลาทู ปลาเเซลมอน ควรรับประทานอย่างน้อย 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์
  5. เลือกทำอาหารด้วยวิธีการอบ นึ่ง ย่าง ต้ม  เเทนการทอด

แนะนำอาหารที่ควรกิน และอาหารที่ไม่ควรกิน

หมวดเนื้อสัตว์และถั่วเมล็ดแห้ง

อาหารที่รับประทานได้ : เนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน เช่น ปลา อกไก่ หมูเนื้อแดง ถั่วเหลือง  ถั่วแดง เต้าหู้

เนื้อสัตว์ติดมันทุกชนิด : เครื่องในสัตว์ สมองสัตว์ หมูสามชั้น อาหารทะเล เช่น หอยนางรม ปลาหมึก

หมวดธัญพืช

อาหารที่รับประทานได้ : ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต ก๋วยเตี๋ยวมันชนิดต่างๆ

อาหารที่ควรลด : เนื้อสัตว์ติดมันทุกชนิด เครื่องในสัตว์ สมองสัตว์ หมูสามชั้น อาหารทะเล เช่น หอยนางรม ปลาหมึก

หมวดผัก

อาหารที่รับประทานได้ : ผักสด ผักต้ม หรือผักที่ทำให้สุกโดยไม่ใช้น้ำมัน ถั่วลันเตา ข้าวโพดอ่อน

อาหารที่ควรลด : ผักที่ทำให้สุกโดยใช้น้ำมัน เช่นผักทอด ผักผัดน้ำมัน ผักราดกะทิ

หมวดผลไม้

อาหารที่รับประทานได้ : ผลไม้สด เช่น ส้มเขียวหวาน กล้วยส้มโอ ฝรั่ง มะม่วง แอปเปิ้ล  ลูกแพร์  ผลไม้แห้ง เช่นลูกพรุน

อาหารที่ควรลด : อโวคาโด

หมวดไขมัน

อาหารที่รับประทานได้ : ไขมันจากพืช เช่น น้ำมันเมล็ดทานตะวัน น้ำมันข้าวโพด น้ำมันงา น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันสลัด ที่ทำจากพืชในปริมาณจำกัด

อาหารที่ควรลด : ไขมันสัตว์ เช่น แคบหมู น้ำมันหมูน้ำมันมะพร้าว

หมวดเบ็ดเตล็ด

อาหารที่รับประทานได้ : วุ้นธรรมดา เยลลี่ ซุปใส(เอาไขมันออก) ซุปผัก

อาหารที่ควรลด : ขนมเค้กชนิดต่าง ๆ คุกกี้พายขนมหวานใส่กะทิ ขนมที่ทอดด้วยน้ำมัน ซุปอื่นๆ ช็อกโกแลต ทอฟฟี่ ลูกกวาด แกงกะทิ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

การปฏิบัติตัวของผู้ที่มีภาวะไขมันในเส้นเลือดสูง

1. เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร

2. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

3. งดการสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่จะทำให้ HDL ในเลือดต่ำลง เพราะบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด

4. หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา เบียร์ เพราะแอลกอฮอล์ เพราะมีฤทธิ์สะสมไขมันตามเนื้อเยื่อ

5. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายจะช่วยลดปริมาณไขมันในเลือด และเพิ่มระดับของ HDL ควรทำอย่างต่อเนื่องสัปดาห์ละ 3 - 4 ครั้ง ครั้งละ 20 - 30 นาที การออกกำลังกายที่ดี เช่น การเดินเร็ว จ๊อกกิ้ง เต้นรำ ขี่จักรยาน

6. หลีกเลี่ยงภาวะเครียด

7. ปรึกษาแพทย์ ติดตามผล การปฏิบัติตัวบางระยะอาจต้องใช้ยาช่วยปรับระดับไขมันในเลือดสูง ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้แนะนำ และติดตามผลการรักษาต่อไป