svasdssvasds
เนชั่นทีวี

Health & Lifestyle

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ฝันร้ายทั้งแม่และเด็ก

อันตรายของแม่และเด็ก “ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์” เกิดขึ้นได้อย่างไร? ใครบ้างเป็นกลุ่มเสี่ยง? เป็นแล้วหายใช่หรือไม่? พร้อมดูผลกระทบที่อาจเกิดกับคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์

เมื่อรู้ตัวว่าตั้งครรภ์สิ่งที่คุณแม่กังวลคงหนีไม่พ้นเรื่องของภาวะความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อลูกน้อยในครรภ์ ดังนั้น คุณแม่จึงต้องทำการฝากครรภ์เพื่อเฝ้าระวังภาวะเสี่ยงต่างๆ ซึ่งหนึ่งในเรื่องที่อาจเกิดขึ้นรวมไปถึง “ภาวะเบาะหวานขณะตั้งครรภ์” ที่ส่งผลต่อตัวคุณแม่และลูกน้อย เป็นอุปสรรคต่อการคลอด เพิ่มโอกาสในการแท้งบุตรสูงขึ้น ซ้ำร้ายอาจร้ายแรงถึงขั้นส่งผลให้เด็กพิการและเสียชีวิต

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ฝันร้ายทั้งแม่และเด็ก

“ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์” เกิดขึ้นได้อย่างไร?

สำหรับ "โรคเบาหวาน" เราคงคุ้นเคยกับชื่อและรู้จักเป็นอย่างดี โรคนี้เกิดจากภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ โดยที่ร่างกายจะไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้ และหากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอยู่เป็นระยะเวลานาน ก็อาจทำให้การทำงานของอวัยวะสำคัญๆ ของร่างกายผิดปกติได้

ซึ่งโรคเบาหวานสามารถจะเกิดขึ้นกับใครก็ได้ โดยในคนปกติหากไม่ได้ป่วยเป็นเบาหวานแต่มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคดังกล่าว เมื่อตั้งครรภ์มักแสดงอาการออกมา เนื่องจากในคนตั้งครรภ์จะมีการสร้างฮอร์โมนชนิดหนึ่งจากรกขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ต้านอินซูลิน จึงทำให้คนที่ตั้งครรภ์มีน้ำตาลสูงมากกว่าคนปกติ ทั้งนี้ เป็นกลไกของร่างกายที่ต้องการส่งน้ำตาลไปยังเด็กในครรภ์เพื่อการเจริญเติบโต แต่ในคนที่มีแนวโน้มว่าจะป่วยเป็นโรคเบาหวาน หากตั้งครรภ์อาจเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ขึ้น และไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม ล้วนส่งผลเสียต่อทั้งคุณแม่และเจ้าตัวเล็กที่อยู่ในท้องทั้งสิ้น

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ฝันร้ายทั้งแม่และเด็ก

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิด “ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์”

สำหรับภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์มีหลายปัจจัยที่สามารถส่งผลให้เกิดโรคได้ ทั้งปัจจัยด้านกรรมพันธุ์ ปัจจัยด้านอายุ ในสตรีที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปก็มีความเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากระบบของร่างกายที่เปลี่ยนไป ปัจจัยด้านประวัติการคลอดบุตร ในผู้ที่มีความเสี่ยงอาจเคยมีประวัติคลอดบุตรที่มีน้ำหนักแรกเกิดตั้งแต่ 4 กิโลกรัมขึ้นไป แม่ที่เคยคลอดบุตรที่มีความพิการแต่กำเนิดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือเคยมีประวัติทารกเสียชีวิตในครรภ์โดยไม่ทราบสาเหตุ รวมทั้งปัจจัยในเรื่องความอ้วน การมีความดันโลหิตสูง ก็เป็นปัจจัยที่จะนำไปสู่การเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้

 

สัญญาณเตือนอาการเบาหวานขณะตั้งครรภ์

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ มักไม่ก่อให้เกิดอาการ หรือไม่มีอาการแสดงที่เห็นได้ชัดเจน แต่ที่สังเกตได้บ่อยคือ คุณแม่ที่ตั้งครรภ์อาจมีอาการกระหายน้ำมากขึ้น ปัสสาวะบ่อยขึ้น

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ฝันร้ายทั้งแม่และเด็ก

การทดสอบกลูโคสในคุณแม่ตั้งครรภ์

ในขณะตั้งครรภ์คุณแม่ทุกคนควรได้รับการควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือดให้ใกล้เคียงภาวะปกติมากที่สุด ซึ่งเมื่อคุณแม่ไปฝากครรภ์ แพทย์จะทดสอบกลูโคสในร่างกายเมื่ออายุครรภ์ได้ 24–28 สัปดาห์ แพทย์ก็จะทำการตรวจคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อาจนัดตรวจครรภ์บ่อยกว่าปกติเพื่อประเมินภาวะสุขภาพของทั้งมารดาและทารก รวมทั้งตรวจเลือดเพื่อดูระดับน้ำตาลเพื่อประเมินและปรับเปลี่ยนการรักษาให้เหมาะสม

ผลกระทบกับคุณแม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์

คุณแม่ที่ระดับน้ำตาลสูงจะทำให้มีความเสี่ยง เช่น เสี่ยงต่อการเกิดครรภ์เป็นพิษ ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ การเกิดภาวะเสื่อมของระบบหลอดเลือด ตา ไต และปลายประสาท นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะได้ง่ายขึ้น

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ฝันร้ายทั้งแม่และเด็ก

ผลกระทบต่อลูกน้อยในครรภ์

ระดับน้ำตาลที่สูงจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของทารกในครรภ์ ทำให้ทารกจะมีร่างกายใหญ่กว่าปกติ เป็นอุปสรรคต่อการคลอดจนอาจได้รับอันตรายขณะคลอด โอกาสที่จะแท้งบุตรอาจสูงขึ้น และอาจเพิ่มโอกาสที่ทารกจะเสียชีวิตในครรภ์ได้ หลังคลอดระบบการหายใจของทารกอาจมีปัญหาไม่สามารถหายใจได้เองเมื่อแรกคลอด  นอกจากนั้นในระยะหลังคลอด อาจเกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ตัวเหลือง ระดับเกลือแร่ในร่างกายอาจผิดปกติได้

การควบคุมระดับน้ำตาลเพื่อลดความเสี่ยงการเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์

  • ควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีน
  • ลดอาหารจำพวกแป้ง
  • รับประทานผักให้มากขึ้น
  • ควรงดหรือหลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสหวานจัด
  • ออกกำลังกายเพื่อสร้างสมดุลร่างกาย

การควบคุมระดับน้ำตาลในหญิงตั้งครรภ์กรณีที่พบความผิดปกติ

ขั้นตอนแรกแพทย์จะให้โภชนากรมาให้ความรู้กับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ถึงเรื่องอาหารการกิน เพื่อควบคุมภาวะเบาหวานไม่ให้น้ำตาลสูงเกินไป จากนั้นจะให้คุณแม่ติดตามและบันทึกผลระดับน้ำตาลก่อนอาหารและหลังอาหารตามช่วงเวลาที่กำหนด และถ้าหากพบว่าระดับน้ำตาลเกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้ แพทย์จะทำการฉีดอินซูลินและปรับการใช้ยา เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลไม่ให้เป็นอันตรายต่อตัวทารกในครรภ์ แต่ถ้าหากสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี ก็จะใช้วิธีควบคุมอาหารเพียงอย่างเดียว

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ฝันร้ายทั้งแม่และเด็ก

อาหารที่ควรรับประทานในคุณแม่ที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์

คุณแม่ควรทานอาหารทั่วไปให้ครบ 5 หมู่ แต่ไม่ควรทานอาหารที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป และควรหลีกเลี่ยงของทอด เน้นผักผลไม้เป็นสำคัญ

นอกจากภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ที่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์แล้ว ภาวะเบาหวานก่อนตั้งครรภ์ก็เป็นอันตรายเช่นกันและมีความอันตรายสูงกว่า เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจพิการในตัวเด็กค่อนข้างมาก หากป่วยเป็นเบาหวานแล้วมีแผนที่จะตั้งครรภ์ คุณแม่จะต้องควบคุมระดับน้ำตาลให้ดีเสียก่อน

โดยปกติผู้ป่วยเบาหวานหากตั้งครรภ์และทำการฝากครรภ์ในครั้งแรก แพทย์มักให้นอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล เพื่อเฝ้าระวังระดับน้ำตาล รวมถึงจะต้องมีการปรับการใช้ยาใหม่ เนื่องจากยาที่เคยใช้อาจควบคุมระดับน้ำตาลขณะตั้งครรภ์ได้ไม่ดีพอ

“เบาหวานขณะตั้งครรภ์” เป็นแล้วหายไหม

หลังคลอดบุตร คุณแม่ควรมาพบแพทย์ตามเวลานัดหมาย (Follow-up) และตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดหลังคลอด เพื่อให้แน่ใจว่าระดับน้ำตาลในเลือดกลับมาเป็นปกติ หากพบว่าคุณแม่เสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แพทย์จะทำการวินิจฉัยและรักษาต่อไป

 

 

 

source : โรงพยาบาลสมิติเวช / คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี