svasdssvasds
เนชั่นทีวี

Health & Lifestyle

หมอเตือน "นอนดึก กินดึก" ระวังไขมันพอกตับ เสี่ยงมะเร็งไม่รู้ตัว วิธีไหนช่วยดูแลตับบ้าง?

23 เมษายน 2568
เกาะติดข่าวสาร >> NationTV
logoline

หมอเจด เตือน "นอนดึก กินดึก" ระวังไขมันพอกตับ เสี่ยงมะเร็งไม่รู้ตัว พร้อมแนะนำ วิธีไหนช่วยดูแลตับบ้าง? ชี้ทำตามนี้ก็จะลดความเสี่ยงได้ ไม่ต้องรอให้เจ็บก่อนแล้วค่อยรักษา

23 เมษายน 2568 "หมอเจด" นายแพทย์เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ได้โพสต์ให้ความรู้ด้านสุขภาพ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก "หมอเจด" โดยระบุว่า นอนดึก กินดึก ระวังไขมันพอกตับ เสี่ยงมะเร็งไม่รู้ตัว!

คนส่วนใหญ่ชอบคิดว่า ไขมันพอกตับไม่ใช่เรื่องของคนดื่มเหล้าหนัก หรือคนที่อ้วนเท่านั้น

แต่ถ้าใครมีพฤติกรรมแบบนี้

  • นอนดึก
  • ชอบกินข้าวดึก
  • ทำงานเป็นกะ

ชีวิตไม่เคยมีเวลาแน่นอน

ขอบอกเลยว่า คุณเองก็เสี่ยงตับพังแบบไม่รู้ตัว และในระยะยาว มันไม่ได้หยุดแค่ไขมันพอกตับนะครับ เพราะมันอาจลุกลามไปถึงมะเร็งตับได้เลย ถึงไม่เคยดื่มเหล้านะ 

วันนี้ผมขอสรุปแบบเข้าใจง่ายๆ ลองอ่าน 5 ข้อนี้ดูครับ

1. ตับกับสมองทำงานร่วมกัน

ล่าสุดมีงานวิจัยจากวารสาร npj Metabolic Health and Disease (2025) ของทีม Gachon กับคณะ ที่ค้นพบว่า "ตับ" กับ "สมอง" มีการสื่อสารกันอยู่ตลอด ผ่านระบบที่เรียกว่า นาฬิกาชีวภาพ (biological clock)

พอเราใช้ชีวิตแบบผิดจังหวะ เช่น กินข้าวผิดเวลา, นอนหลับไม่แน่นอน, หรือทำงานกะดึกบ่อยๆ ตับจะเริ่มรวน และระบบเมตาบอลิซึมจะเสียสมดุล เกิดภาวะไขมันพอกตับ (MASLD)

แต่ที่พีคคือ พอตับพัง มันดันส่งผลกลับไปที่สมองอีก ทำให้วงจรการนอน อารมณ์ และพฤติกรรมบางอย่างรวนไปด้วย

2. สมองไม่ได้สั่งอย่างเดียว ตับก็ส่งสัญญาณกลับได้นะ

ในร่างกายเรามีเส้นประสาทที่คอยเชื่อมอวัยวะภายในกับสมอง โดยเฉพาะเส้นที่ชื่อว่า vagus nerve และระบบประสาทอัตโนมัติ (ANS) มันคือสายสื่อสารระหว่างสมองกับตับ ซึ่งในคนที่เป็น MASLD ระยะที่ตับเริ่มมีพังผืด เส้นประสาทบางเส้นเริ่มเสื่อม ส่งสัญญาณไม่ปกติ สมองก็เลยรับข้อมูลผิดๆ จากตับ ส่งผลให้จังหวะชีวิตทั้งร่างกายรวนหมดเลย ไม่แปลกเลยที่คนเป็นโรคตับเรื้อรัง มักจะมีปัญหานอนไม่หลับ เพลียง่ายหรืออารมณ์แปรปรวน เพราะ "ตับส่งสัญญาณผิด" ไปหลอกสมอง

3. ตับมี "นาฬิกาชีวภาพ"

ตับมี "นาฬิกาชีวภาพ" เป็นของตัวเองนะครับ ไม่ได้รอแค่สมองสั่ง โดยนาฬิกานี้ถูกควบคุมด้วยยีน ที่ชื่อว่า BMAL1, CLOCK, PER, CRY ซึ่งจะหมุนวนตามรอบ 24 ชั่วโมง

หน้าที่ของนาฬิกานี้คือช่วยให้ตับรู้ว่า

  • ควรผลิตน้ำดีเมื่อไหร่
  • เผาผลาญไขมันตอนไหน
  • ปล่อยน้ำตาลเข้าเลือดยังไงให้พอดี

แล้วอะไรเป็นตัวตั้งเวลาให้ตับ? คำตอบคือ "เวลาในการกิน" ถ้าเรากินตอนกลางคืน หรือกินดึกบ่อยๆ → นาฬิกาตับรวน → ทำงานผิดจังหวะ → สะสมไขมัน → อักเสบเรื้อรัง

ยิ่งไปกว่านั้น มันยังไปรบกวนนาฬิกาของลำไส้ กล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อไขมันอีกด้วย เพราะงั้นกินให้ถูกเวลาตับก็ทำงานดีขึ้นนะ

4. ไขมันพอกตับ ไม่ใช่แค่ตับอย่างเดียว

งานวิจัยนี้ยังบอกอีกว่า MASLD โดยเฉพาะ MASH ที่มีการอักเสบร่วมด้วย สามารถส่งคลื่นกระแทกออกไปยังอวัยวะอื่นๆ ทั่วร่างกายเลย เช่น

  • SCN (ศูนย์ควบคุมนาฬิกาชีวิตในสมอง) → นอนผิดเวลา ตื่นไม่สด
  • Arcuate nucleus → ทำให้รู้สึกหิวตลอดเวลา กินไม่หยุด
  • กล้ามเนื้อ → เผาผลาญน้ำตาลไม่ได้ดี → เสี่ยงเบาหวาน
  • ปอดกับภูมิคุ้มกัน → เพิ่มการอักเสบโดยไม่รู้ตัว

MASLD ไม่ใช่แค่โรคของ "ตับ" แต่เป็น โรคที่ทำให้ทั้งนาฬิกาชีวิตของร่างกายรวนหมด


5. วิธีดูแลตับ

นอกจากแค่ลดแป้ง ลดไขมัน งานวิจัยยังแนะนำต่อว่า การตั้งเวลาใหม่ให้ชีวิตคือกุญแจสำคัญ

  • กินเป็นเวลา เช่น กินในช่วง 8–10 ชม. ต่อวัน (time-restricted feeding)
  • นอนให้ตรงเวลา การฟื้นฟูตับจากพังผืดช่วยให้จังหวะนอนกลับมาดีขึ้นจริงในบางคน
  • ยากลุ่มใหม่ เช่น ROR / REV-ERB agonists กำลังทดลองในสัตว์ → ช่วยปรับจังหวะชีวภาพและลดไขมันตับได้


ฝากด้วยนะครับ ไขมันพอกตับไม่ใช่แค่โรคเงียบ แต่มันเป็นสัญญาณเตือนว่าเราใช้ชีวิตผิดอยู่ ลองกลับมาดูแลตัวเองด้วยสิ่งง่ายๆ

  • นอนให้พอ
  • กินให้เป็นเวลา
  • ขยับร่างกายทุกวัน
  • ปรับการกิน ลดแป้ง และน้ำตาล
     

นายแพทย์เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ (ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก หมอเจด) นายแพทย์เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ (ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก หมอเจด)

"หมอเจด"
ทิ้งท้ายว่า ใครที่มีความเสี่ยงไขมันพอกตับ อาหารเสริมก็ช่วยได้นะครับ อย่างอาหารเสริมก็เป็นอีกทางเลือกช่วยได้ อย่าง โคลีน (Choline) อันนี้เป็นตัวที่จะช่วยขับไขมันออกจากตับ โอเมก้า-3 ลดการอักเสบของตับ 

ทำตามนี้ก็จะลดความเสี่ยงได้นะครับ ไม่ต้องรอให้เจ็บก่อนแล้วค่อยรักษา

ขอบคุณข้อมูลจาก : เพจ หมอเจด

logoline