สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย จัดโครงการ “มองจีนยุคใหม่ สิ่งที่สื่อไทยควรรู้” ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 24 – 26 ตุลาคมอบรมที่ประเทศไทย และ 27 – 30 ตุลาคม เป็นการศึกษาดูงานที่นครฉงชิ่ง (ChongQing) สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อให้สื่อมวลชนไทย มีความเข้าใจกับจีนยุคใหม่อย่างรอบด้าน หลังเศรษฐกิจจีน มีความก้าวหน้าอย่างมาก มีผู้บริโภคในตลาดมากที่สุด เพื่อนำไปสู่การรายงานข่าวสารได้อย่างถูกต้อง และเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนไทยกับหน่วยงานต่าง ๆ ของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยสถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี มีนายคัชฑาพงศ์ ลีลาพงศ์ฤทธิ์ ผู้สื่อข่าว เนชั่นทีวี เข้าร่วมการอบรมด้วย
“นครฉงชิ่ง” เป็นเมืองยุทธศาสตร์การพัฒนาในภาคตะวันตกของจีน ซึ่งปัจจุบันถือเป็นเมืองเส้นทางโลจิสติกส์ และเป็นเมืองเทศบาลนครที่ขึ้นตรงกับรัฐบาลกลางของจีน ซึ่งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของ “เฉิงตู” ในอดีต “ฉงชิ่ง” เคยเป็นเมืองหลวงในยุค “เจียง ไคเช็ก” มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาที่มีความทับซ้อนกัน ซึ่งหากแบ่งพื้นที่ออกเป็น 8 ส่วน ฉงชิ่งมีภูเขาไปแล้ว 6 ส่วน และเป็น “เมืองแห่งสะพาน” เพื่อเชื่อมพื้นที่ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน บางแห่งเป็นสะพาน 5 ชั้น 8 ทิศ ในอดีตจนถึงปัจจุบัน “ฉงชิ่ง” มีสะพานรวมกันในนครรวมราว 20,000 แห่ง
“ฉงชิ่ง” มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลายแห่ง เช่น หงหยาต้ง (HongYaDong) คล้ายถนนคนเดิน แต่ออกแบบเป็นเรือนไม้โบราณบนหน้าผา ประดับไฟในยามค่ำคืนอย่างสวนงาม เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งไฟที่ประดับตกแต่งนั้น ได้รับจากสนับสนุนจากรัฐบาลจีน โดยที่เอกชนจะรับผิดชอบค่าไฟเฉพาะภายในร้านที่ตนรับผิดชอบเท่านั้น ภายในหงหยาต้ง จะเต็มไปด้วยร้านขายของที่ระลึกของจีน และร้านหม้อไฟหม่าล่า ซึ่งถือเป็นอาหารขึ้นชื่อของฉงชิ่ง รวมถึงร้านอาหาร และเครื่องดื่มอื่น ๆ
นอกจากนั้น ยังมีสถานีรถไฟฟ้า “หลีจื่อป้า” หรือรถไฟฟ้าทะลุตึก ที่หลายคนสงสัยว่า สรุปแล้ว รถไฟฟ้าสร้างก่อน หรือตึกสร้างก่อน แต่คำตอบก็คือ ทั้งรถไฟฟ้า และตึก ถูกสร้างขึ้นมาพร้อมกัน โดยตึกนี้ มีทั้งสถานีรถไฟฟ้า ศูนย์การค้า และที่พักอาศัย เดิมทีรัฐต้องการจะเวนคืนพื้นที่เพื่อสร้างสถานีรถไฟฟ้า แต่กลับถูกโก่งราคาเวนคืน รัฐจึงหันไปศึกษาหาพื้นที่อื่นทดแทนแต่ก็พบว่า ไม่มีที่ใดเหมาะเท่าที่ดินผืนนี้อีกแล้ว จึงเกิดการพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน โดยครอบครัว และญาติ ๆ ที่พักอาศัยอยู่บนที่พักตึกแห่งนี้ ทราบว่า จะได้ใช้บริการรถไฟฟ้าฟรี (แต่ค่ารถไฟฟ้าของจีน ก็ราคาไม่ได้แพงนัก) ในอดีตสถานีรถไฟแห่งนี้ ยังไม่บูมเท่าไรนัก แต่เมื่อนักท่องเที่ยวมาถ่ายรูปกันมากขึ้น ภาครัฐก็ได้พัฒนาสถานรถนี้ไฟแห่งนี้รองรับการท่องเที่ยว
หากพูดถึงรถไฟแล้ว จีนยังไม่ได้มีแค่รถไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังมีรถไฟความเร็วสูงด้วย การเดินทางไปศึกษาดูงานในครั้งนี้ คณะผู้ศึกษาดูงานฯ ได้ลงเครื่องที่ “เฉิงตู” และนั่งรถไฟฟ้าความเร็วสูงไปยัง “ฉงชิ่ง” ระยะทางราว 300 กิโลเมตร แต่ใช้เวลาเดินทางเพียงชั่วโมงเศษ ๆ เท่านั้น แถมยังขับเคลื่อนด้วยความนิ่ง และเงียบ เรียกได้ว่า กาแฟไม่มีกระฉอกออกแก้วแม้แต่หยดเดียว
ในการไปศึกษาดูงานครั้งนี้ คณะผู้ศึกษาดูงาน ยังได้เยี่ยมชมโรงงาน “ฉางอัน” ผู้ผลิตรถยนต์ EV รายใหญ่รายหนึ่งของจีน และปัจจุบันได้ขยายตลาดสู่ประเทศไทยแล้ว ซึ่งโรงงานฉางอัน ในนครฉงชิ่ง ถือเป็นโรงงานใหม่ เพิ่งเปิดใช้งานไม่นาน และได้ต้อนรับคณะผู้ศึกษาดูงานคณะนี้ เป็นคณะแรก
ปัจจุบัน “ฉางอัน” (Chang An) มียอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2553 มียอดขายเพียง 5,000,000 คัน แต่ในปัจจุบัน 2567 มียอดขายแล้วกว่า 27,000,000 คัน และยังมีเป้าหมายในปี 2573 จะลงทุนในตลาดต่างประเทศให้ได้ถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมียอดขาย 1,200,000 คันต่อปี และสร้างแบรนด์ฉางอันให้เป็นแบรนด์ระดับโลก ซึ่งฉางอัน ได้ให้ความสำคัญกับการวิจัย และพัฒนา ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์วิจัยกระจายใน 6 ประเทศ รวมกว่า 10 แห่ง และยังมีศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ และวิจัยด้านเทคโนโลยี 16 แห่ง บริษัทด้านเทคโนโลยี 18 แห่ง และห้องทดลอง 18 แห่งมีบุคลากรด้านการวิจัยกว่า 18,000 คนใน 31 ประเทศ จากจุดแข็งด้านการวิจัย และพัฒนา ทำให้ฉางอันเป็นเจ้าของสิทธิบัตรด้านการพัฒนาเกี่ยวกับรถยนต์ เครื่องยนต์ และระบบต่าง ๆ ของรถยนต์หลายรายการ รวมถึงยังเป็นผู้นำด้านการพัฒนาระบบทดสอบรถยนต์ด้วย โดยตั้งเป้าหมาย จะก้าวขึ้นสู่อันดับหนึ่งของอุตสาหกรรมการพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์หลายรายการ เช่น การขับขี่อัจฉริยะ การโต้ตอบอัจฉริยะ และการควบคุมอัจฉริยะ
โรงงานผลิตรถยนต์ฉางอัน เป็นโรงงานผลิตรถยนต์อัจฉริยะ โรงงานฉางอันในฉงชิ่ง มีพื้นที่ราว 140,000 ตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่การผลิต, ศูนย์กระจายสินค้า, พื้นที่มัลติฟังก์ชั่น โดยเน้นการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม ในการผลิตรถยนต์ทุกกระบวนการ ตั้งแต่การออกแบบโรงงานอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยี AI เป็นโรงงานที่ใช้นวัตกรรมในการผลิต และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ในขั้นตอนการประกอบรถยนต์ มีระบบการขึ้นรูปแบบไฮบริดอัตโนมัติ 100% สามารถสลับชิ้นส่วนรถยนต์ส่วนต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว การประกอบรถยนต์แต่ละรุ่น จึงทำได้อย่างแม่นยำ และรวดเร็ว รวมถึงยังมีการตรวจสอบคุณภาพรถยนต์ด้วยระบบภาพถ่าย AI ตรวจจับภาพ 360 องศา สามารถตรวจสอบรอยแตกร้าวรอบคันได้ 100% ใช้ระบบการตรวจสอบคุณภาพแบบออนไลน์ ทำให้ตรวจสอบแบบเรียลไทม์ แก้ไขความผิดปกติได้ทันที รวมถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยอื่น ๆ เพื่อพาฉางอันมุ่งสู่การเป้าหมายของฉางอันในการเป็นผู้นำนวัตกรรมแห่งยานยนต์
ขณะที่ ระบบการศึกษาในระบบ “อาชีวะ” ของฉงชิ่งนั้น ยังสอดคล้องกับตลาดอุตสาหกรรมของจีนอย่างที่ “วิทยาลัยอาชีวศึกษาและเทคนิควิศวกรรมฉงชิ่ง” ซึ่งเป็นวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่มีชื่อเสียงของโลก และอันดับหนึ่งของฉงชิ่ง ได้พัฒนาการเรียนการสอนระดับนานาชาติ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระดับชาติ และขยายความร่วมมือกับวิทยาลัยอาชีวศึกษากับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะกับประเทศไทย ที่น่าสนใจคือ วิทยาลัยจะมีความร่วมมือกับ ภาคเอกชน และภาครัฐท้องถิ่น เพื่อร่วมกันกำหนดหลักสูตรตามความต้องการของเอกชน เพื่อการันตีว่า อย่างน้อยเมื่อนักศึกษาสำเร็จการศึกษาแล้ว จะไม่ตกงาน และจะมีทักษะความรู้ตามที่ผู้ประกอบการต้องการ ภายใต้การควบคุมคุณภาพจากรัฐ
คณะผู้ศึกษาดูงาน ยังได้เข้าศึกษาดูงานกลุ่มธุรกิจ Tencent ผู้ผลิตโปรแกรม QQ โปรแกรมแชทบนคอมพิวเตอร์ และแอพลิเคชัน WeChat ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 1,300 ล้านคน เป็นอันดับ 2 รองจาก Google และ WeChat ก็แทบจะเป็นทุกอย่างของคนจีน ทั้งสนทนา จ่ายเงิน อ่านข่าว และสั่งอาหาร
Tencent ยังไม่ได้มุ่งพัฒนาเพียงเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่ยังขยายธุรกิจไปยังงานโฆษณา และซีรีส์-ภาพยนตร์ เพื่อร่วมผลักดันวัฒนธรรม และความเป็นจีนในปัจจุบัน เพื่อให้ชาวต่างชาติได้รู้ว่า ปัจจุบันจีนเป็นอย่างไร นอกจากนี้ยังมีการทำงานร่วมกันหน่วยงานรัฐ เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ อย่างการผลักดันซีรีส์จีนสู่ต่างประเทศ ซึ่งถูกบรรจุในนโยบายระดับชาติ มีการกำหนดเป้าหมายการผลิตซีรีส์อย่างชัดเจน ซึ่งในปี 2566 มีการเผยแพร่ซีรีส์ 803 เรื่อง รวมกว่า 142,000 ตอน สามารถสร้างรายได้ได้ 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
“อิทธิพลซีรีส์จีนในต่างประเทศตอนนี้มาแรงมาก ซึ่งถือเป็นนโยบายระดับชาติที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญ และสนับสนุน ซึ่งนอกจากจะเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมจีนแล้ว ยังเป็นการสะท้อนภาพประเทศจีนให้ชาวโลกได้รับรู้ว่า ประเทศจีนในปัจจุบันเป็นอย่างไร” กั้วอี้ (Guo yi) ศาสตราจารย์ และผู้อำนวยการสถาบันการสื่อสารนานาชาติ มหาวิทยาลัยฉงชิ่ง ระบุ
ศาสตราจารย์กั้ว ยังบอกว่า ซีรีส์จีนเป็นสินค้าเชิงวัฒนธรรมที่ส่งออก ซึ่งจริง ๆ รัฐบาลจีน ได้ดำเนินการมานานแล้วในการส่งออกซีรีส์ เช่น ในยุค 80 มีเรื่องไซอิ๋ว ยาวมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งหลาย ๆ เรื่อง ไม่ได้เป็นแค่การส่งออกแค่วัฒนธรรม แต่ยังได้รับความสำเร็จเป็นอย่างดี มีผู้ชมต่างประเทศมากกว่า 1,000 ล้าน
ศาสตราจารย์กั้ว ยังยอมว่า สิ่งที่มีปัญหาที่สุดของซีรีส์ คือรายละเอียดทางวัฒนธรรม ส่งผลให้การแปลซีรีส์ ทำให้เข้าใจได้ยาก หรือเกิดการแปลคลาดเคลื่อน เช่น ลำดับนางสนม, ศัพท์เฉพาะในเกมจีนและซีรีส์จีน ที่ใช้ทับศัพท์จีนแล้วมีความไพเราะมาก แต่เมื่อแปลเป็นภาษาอื่นแล้ว กลับไปเป็นคนละทิศคนละทาง ซึ่งอนาคตก็จะมีการแก้ไขไปเรื่อย ๆ และหวังว่า คนไทยจะติดงามผลงานประเทศจีนต่อไป
ในปี 2568 ไทย-จีน จะมีการเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย – จีน โดยจะมีการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมตั้งแต่ปลายปี 2567 นี้ ไปจนถึงปี 2568 ซึ่งในวันที่ 4 ธันวาคม 2567 นี้ จะเริ่มต้นกิจกรรมด้วยการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ หรือ พระเขี้ยวแก้ว มาประดิษฐานที่ไทยเป็นการชั่วคราว (73 วัน) รวมถึงการนำแพนด้ายักษ์คู่ใหม่ มาเป็นทูตสันถวไมตรีเชื่อมสัมพันธ์ไทย-จีน แก่ประเทศไทยอีกครั้งด้วย
คัชฑาพงศ์ ลีลาพงศ์ฤทธิ์
รายงานจากนครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน