ทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยนิตยสารฉลาดซื้อ มีพันธกิจเฝ้าระวังคุณภาพสินค้าและบริการมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน “ฉลาดซื้อได้รับคำถามและข้อเสนอจากผู้บริโภคว่า องุ่นไชน์มัสแคทที่มีขายอยู่ทั่วไปในช่วงเวลานี้ มีโปรโมชันและการเชิญชวนให้ซื้อมากๆ เช่น การลดราคาหรือการแถมแบบ ซื้อ 1 กล่องแถม 1 กล่อง เป็นต้น อีกทั้งยังมีวางจำหน่ายไปทั่ว ทั้งในห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ ร้านสะดวกซื้อ รถเร่ แผงข้างทางและร้านค้าออนไลน์ ซึ่งผู้บริโภคส่วนหนึ่งกังวลว่าจะมีความเสี่ยงในเรื่องของสารพิษตกค้างหรือไม่ ฉลาดซื้อจึงชวนเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) มาร่วมกันตรวจสารพิษตกค้างในองุ่นไชน์มัสแคท”
“การเก็บตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคทครั้งนี้เราเก็บองุ่นไชน์มัสแคททั้งหมด 24 ตัวอย่าง จาก 15 สถานที่จำหน่ายในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ดังนี้ 1.บิ๊กซี สาขาบางปะกอก ( ยี่ห้อรูปพวงองุ่นมีอักษรภาษาญี่ปุ่น ) 2.ท็อปส์ สาขาเซ็นจูรี่ พลาซ่า อนุสาวรีชัยสมรภูมิ (ยี่ห้อ FRESH NATURAL ) 3.โลตัส สาขาบางปะกอก ( ยี่ห้อ Fresh Buddy และ Only at Lotus’s ) 4.แม็คโคร สาขาตลาดรุ่งโรจน์ คลอง4 ( ยี่ห้อ Rose Aroma ) 5.วิลล่ามาร์เก็ท สาขาอารีย์ ( ยี่ห้อ Fresh Fruit ) 6.แม็กซ์แวลู เกทเวย์ เอกมัย ( เก็บมาทั้งหมด 4 ยี่ห้อ ได้แก่ Lara, Sunshine Rose พวงองุ่นเขียว, เจมี่ฮิลล์, SUNSHINE ROSE รูปใบไม้ ) 7.GOURMET MARKET สยามพารากอน (รวม 3 ตัวอย่างได้แก่ ยี่ห้อ R-Rao ปลาสีทอง, เพนกวินฟาร์ม, ซูเปอร์เกรฟ ) 8.GO WHOLESALE สาขารังสิต ( 2 ตัวอย่าง คือ ยี่ห้อรูปพวงองุ่นมีอักษรภาษาญี่ปุ่น , YO ) 9.ร้านผลไม้ ย่านอนุสาวรีชัยสมรภูมิ ( ยี่ห้อ Califresh ) 10.ร้านผลไม้ ตลาดสี่มุมเมือง ( ไม่ติดยี่ห้อ ) 11.ร้านผลไม้ ตลาดไท ( 2 ตัวอย่างได้แก่ ยี่ห้อ R-Rao, ยี่ห้อรูปใบไม้ ) 12.ร้านผลไม้ ตลาดไอยรา ( 2 ตัวอย่าง ได้แก่ ยี่ห้อบูติกเกรฟ, ซันไชน์โรด FTL หัวกวาง ) 13.ร้านผลไม้ ตลาด อตก. ( ยี่ห้อซันไชน์โรด FTL หัวกวาง )
และร้านขายผลไม้ออนไลน์ 2 แห่ง ได้แก่ เพจ Freshket และ Fruitage ทั้งสองตัวอย่างไม่ติดยี่ห้อ เก็บตัวอย่างในวันที่ 2 และ 3 ตุลาคม อาสาสมัครเก็บตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคทจากสถานที่จำหน่ายตามแผนการเก็บตัวอย่าง โดยเลือกซื้อทั้งแบบแพกเกจที่มีการระบุยี่ห้อ (ฉลากระบุผู้นำเข้า ผู้จัดจำหน่าย) และแบบวางขายในชั้นวางของแหล่งจำหน่ายโดยไม่ได้ระบุยี่ห้อ ซึ่งมีราคาตั้งแต่กิโลกรัมละ 100 ถึง 699 บาท ดังนั้นบางตัวอย่างอาจพบว่า เป็นยี่ห้อที่ซ้ำกัน แต่ก็มาจากแหล่งจำหน่ายต่างสถานที่กัน”
ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) อธิบายถึงกระบวนการวิเคราะห์และแปลผลว่า เราได้ส่งตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคททั้ง 24 ตัวอย่าง ไปยังห้องปฏิบัติการ BVAQ ซึ่งได้การรับรอง ISO 17025 เพื่อวิเคราะห์หาสารพิษตกค้างจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยมีขอบเขตการวิเคราะห์สารพิษตกค้าง 419 รายการ และแปลผลการวิเคราะห์โดยอ้างอิงพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 387 , 393, 419 และ 449) เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง ซึ่งกำหนดให้อาหารที่มีสารพิษตกค้างต้องมีมาตรฐาน โดยตรวจไม่พบวัตถุอันตรายทางการเกษตร ชนิดที่ 4 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย เว้นแต่วัตถุอันตรายทางการเกษตรชนิดอื่นให้เป็น ดังนี้
1) ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit; MRL)
2) ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดโดย Codex Alimentarius Commission (Codex MRL) โดยใช้เกณฑ์การจำแนกกลุ่มสินค้าเกษตรตามมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ. 9045-2559 การจัดกลุ่มสินค้าเกษตร: พืช
3) ค่าดีฟอลต์ลิมิต (default limit)
และ 4) ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดที่ปนเปื้อนจากสาเหตุที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ (Extraneous Maximum Residue Limit; EMRL)
ข้อค้นพบสำคัญของการเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในองุ่นไชน์มัสแคท ได้แก่
1. ประเทศผู้ผลิตองุ่นไชน์มัสแคท 24 ตัวอย่าง ที่สุ่มซื้อมาจากการสั่งออนไลน์ 2 ตัวอย่าง มาจากร้านค้าและตลาด 7 ตัวอย่าง และจากโมเดิร์นเทรด 15 ตัวอย่าง สามารถระบุได้เพียง 9 ตัวอย่างว่ามาจากประเทศจีน อีก 15 ตัวอย่างไม่สามารถระบุแหล่งที่มาได้
2. 95.8% ของตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคทหรือ 23 จาก 24 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่าที่กฎหมายกำหนด แบ่งเป็น 2 กรณี 1) องุ่น 1 ตัวอย่าง พบสารคลอร์ไพริฟอสซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ทั้งนี้ตามกฎหมายต้องตรวจไม่พบเนื่องจากยกเลิกค่า MRL แล้ว 2) องุ่นอีก 22 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้าง 14 ชนิด เกินค่าดีฟอลต์ลิมิต (สารพิษตกค้างที่ไม่มีค่า MRL ตามกฎหมายกำหนดให้พบได้ไม่เกินค่าดีฟอลต์ลิมิต 0.01 mg/kg) ซึ่งสารเหล่านี้อาจยังไม่มีการประเมินความปลอดภัย ได้แก่ Procymidone, Imazalil, Thiamethoxam, Tetraconazole, Chlorfenapyr, Flonicamid, Ethirimol, Pyriproxyfen, Lufenuron, Bupirimate, Prochloraz, Hexaconazole, Bromacil และ Isopyrazam
3. พบสารพิษตกค้างทั้งหมด 50 ชนิด พบว่าเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 จำนวน 26 ชนิด เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ยกเลิกการใช้ในประเทศไทย) จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ Chlorpyrifos และ Endrin aldehyde และเป็นสารที่อยู่นอกบัญชีวัตถุอันตรายมากถึง 22 ชนิด ซึ่งเป็นสารที่ยังไม่มีการประเมินใดๆภายใต้กฎหมายไทย ได้แก่ Triasulfuron, Cyflumetofen, Chlorantraniliprole, Flonicamid, Etoxazole, Spirotetramat, Bifenazate, Dinotefuran, Fluopyram, Boscalid, Fluopicolide, Pyrimethanil, Ametoctradin, Tetraconazole, Ethirimol, Metrafenone, Fludioxonil, Bupirimate, Isopyrazam, Oxathiapiprolin, Biphenyl และCyazofamid
4. จากสารพิษตกค้าง 50 ชนิด มีสารประเภทดูดซึม (Systemic pesticide) 37 ชนิด หรือคิดเป็น 74% ของสารพิษตกค้าง โดยสารกลุ่มนี้มีโอกาสตกค้างอยู่ในเนื้อเยื่อขององุ่น ซึ่งการล้างสารกลุ่มนี้ออกจากเนื้อเยื่อพืชคงไม่ใช่เรื่องที่ทำได้โดยง่าย
5. องุ่นไชน์มัสแคทแต่ละตัวอย่างพบสารพิษตกค้างระหว่าง 7-18 ชนิด โดยจำนวน 23 จาก 24 ตัวอย่างพบสารพิษตกค้างเกินค่าที่กฎหมายกำหนด 1-6 ชนิด
ข้อเสนอต่อเอกชน
1.ห้างโมเดิร์นเทรดและผู้จำหน่ายองุ่นไชน์มัสแคทล็อตที่มีการสุ่มตัวอย่างและพบสารพิษตกค้างเกินค่าที่กฎหมายกำหนด ควรแสดงความรับผิดชอบ หากยังมีองุ่นล็อตดังกล่าวเหลืออยู่ควรจัดเก็บออกจากชั้นวาง หากจำหน่ายองุ่นล็อตดังกล่าวไปหมดแล้วควรแถลงมาตรการที่ชัดเจนกับซัพพลายเออร์และแหล่งผลิตที่มีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน เช่น ผู้ประกอบการต้องยกเลิกการนำเข้าจากซัพพลายเออร์และแหล่งผลิตนั้นเมื่อมีการกระทำผิดซ้ำอีก
2. ผู้ประกอบการนำเข้า ห้างโมเดิร์นเทรดและผู้จำหน่ายต้องระบุแหล่งที่มา/ประเทศต้นทางของสินค้านำเข้า เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้เมื่อเกิดปัญหา
ข้อเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข
1. กรณีอาหารนำเข้า เช่น องุ่นและสินค้าอื่นที่มีความเสี่ยงพบสารพิษตกค้างสูง ดำเนินการให้ใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎระเบียบและกฎหมายที่มีอยู่กำหนดผู้นำเข้าและผู้จัดจำหน่ายต้องติดฉลากแสดงที่มา/ประเทศต้นทาง และเพิ่มมาตรการในการรับประกันคุณภาพความปลอดภัย เช่น สินค้านำเข้าต้องมี GAP (เช่นเดียวกับที่ประเทศต้นทางดำเนินการกับสินค้าเกษตรที่ประเทศไทยส่งออก)
2. สร้างระบบ Rapid Alert System ที่ตอบสนองต่อสถานการณ์แบบนี้อย่างรวดเร็ว โดยเป็นระบบที่เผยแพร่ผลการวิเคราะห์สารพิษตกค้างที่เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาการจากหน่วยงานภาคีทุกภาคส่วนอย่างเร่งด่วน และมีมาตรการในการจัดการปัญหาตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่ประเทศต้นทาง ผู้นำเข้า ซัพพลายเออร์ ผู้จัดจำหน่าย รวมถึงผู้บริโภคแล้ว เช่น การแจ้งให้ทราบ การเรียกคืน การทำลายสินค้า ทันทีที่ตรวจพบ รวมทั้งการเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจวิเคราะห์จากประเทศต้นทางหรือแหล่งผลิตที่พบว่ามีความเสี่ยงสูง
3. พิจารณาแนวทางในการควบคุมหรือกำหนดมาตรฐานสารพิษตกค้างในอาหาร สำหรับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่อยู่นอกบัญชีวัตถุอันตรายของประเทศไทย
ข้อเสนอระยะ 3- 5 ปีต่อรัฐบาล
1. กำหนดเป้าหมายความปลอดภัยของผักผลไม้ โดยในปี 2573 ผักผลไม้ที่จำหน่ายในประเทศไทย มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ไม่เกิน 5%
2. กำหนดเป้าหมายและงบประมาณในการพัฒนาระบบเฝ้าระวังเพื่อยกระดับความปลอดภัยทางอาหาร โดยในปี 2571 ประเทศไทยมีระบบ Rapid Alert System เพื่อให้เกิดการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนเร่งด่วนที่มีประสิทธิภาพ เท่าทันต่อสถานการณ์ และมีกลไกการเชื่อมต่อข้อมูลและติดตามการจัดการปัญหาตลอดห่วงโซ่
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟที ว็อทช์ ) กล่าวว่า “ขณะนี้ ไทยกำลังเจรจา FTA กับหลายประเทศ ประชาชนต้องช่วยกันติดตามตรวจสอบให้ผู้เจรจาและรัฐบาลรักษาสิทธิในการตรวจสอบสินค้าต่างๆอย่างเข้มข้น อย่าให้อำนาจการค้ากดดัน จนเกรงใจประเทศคู่ค้า แล้วไม่ตรวจเพราะกลัวกระทบสินค้าส่งออกของไทยที่ส่งไป หรือแม้แต่ถูกมัดมือเพราะเกรงจะถูกคู่ค้าฟ้องกลับด้วยกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (ISDS) ซึ่งจะทำลายพื้นที่นโยบายสาธารณะที่ไว้ดูแลประชาชนและผลประโยชน์ผู้บริโภค”
ดร.วัฒนศักดิ์ ศรรุ่ง ผู้อำนวยการกองด่านอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย. ได้ตรวจสอบการนำเข้าองุ่นไชน์มัสแคทในปี 2567 พบว่ามีการนำเข้า 264 ตัน มูลค่า 72 ล้านบาท และตรวจพบสารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง ไม่ผ่านมาตรฐาน 4 ตัวอย่าง ซึ่ง อย. ดำเนินการตามกฎหมายแล้ว และยังตรวจสอบองุ่นนำเข้าทางรถไฟจากจีนพบว่าผ่านมาตรฐาน สำหรับในปี 2568 อย. ได้พัฒนามาตรการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพผักผลไม้นำเข้าเชิงรุก ตามมาตรการ Hold, Test and Release และ 1daan/1lab/1day โดยเมื่อมีการนำเข้าผักและผลไม้จะเก็บตัวอย่างผักผลไม้กลุ่มเสี่ยงสูงกว่า 2,200 ตัวอย่าง ส่งตรวจวิเคราะห์สารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง ทราบผลภายใน 24 ชั่วโมง และไม่อนุญาตให้นำเข้ามาจำหน่ายในท้องตลาดจนกว่าจะพบว่าผลการทดสอบผ่านมาตรฐาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการเฝ้าระวังและกำกับดูแลการนำเข้าผักและผลไม้ และยังมีการทำ MOU ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร และกรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ เพื่อพัฒนาการตรวจวิเคราะห์ ณ ด่านอาหารและยาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เภสัชกรหญิงสุภาวดี ธีระวัฒน์สกุล ผู้อำนวยการกองอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูกาลที่มีองุ่นนำเข้ามาขายในประเทศ อย. และ Thai- PAN ได้ประสานความร่วมมือในการเฝ้าระวังผัก ผลไม้ มาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งได้มีการกำหนดแนวทางการดำเนินงานเฝ้าระวังผัก ผลไม้ร่วมกัน จากผลการตรวจวิเคราะห์องุ่นในครั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าสารตกค้างที่พบส่วนใหญ่เป็นสารที่ไม่มีกำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุข หรือ CODEX ทำให้ไม่มีปริมาณสูงสุดที่ยอมรับได้ หรือค่า MRL จึงต้องไปใช้ค่า default limit แทน ซึ่งกำหนดค่าไม่เกิน 0.01 ppm ทำให้ตกมาตรฐาน โดยที่สารเหล่านี้ไม่มีข้อมูลการประเมินความปลอดภัยของปริมาณสารตกค้างสูงสุดที่ยอมรับได้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ อย. ต้องนำมาใช้วิเคราะห์หามาตรการเฝ้าระวังความปลอดภัยให้ผู้บริโภคต่อไป ซึ่ง Thai-PAN ได้ส่งต่อข้อมูลดังกล่าวให้ อย.แล้ว
ทั้งนี้ อย.ได้ยกระดับการเฝ้าระวังผัก ผลไม้ นอกจากการดำเนินการที่ด่านอาหารและยาแล้ว กรณีพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบการกระทำความผิด นอกจากดำเนินคดี และไม่สามารถนำเข้าผัก ผลไม้ที่ตรวจพบสารตกค้างเกินมาตรฐานแล้ว ถ้าตรวจพบสารตกค้างผิดมาตรฐาน 3 ครั้งใน 1 ปี โดยเป็นหรืออาหารชนิดเดียวกันจากผู้นำเข้าเดียวกัน หรือตรวจพบวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 เช่น chlorpyrifos 2 ครั้งใน 1 ปี โดยเป็นอาหารชนิดเดียวกันผู้นำเข้าเดียวกัน ผู้นำเข้าจะถูกพักใช้ใบอนุญาตนำเข้าไม่เกิน 120 วัน และในปีงบประมาณ 2568 นี้ อย. ยังมีแผนร่วมกับ Thai-PAN เก็บตัวอย่างผักและผลไม้ 19 ชนิด จำนวน 300 ตัวอย่าง จากสถานที่จำหน่ายส่งตรวจวิเคราะห์ ในพื้นที่ 12 จังหวัด ที่เป็นตัวแทน 4 ภาค และนำข้อมูลผลวิเคราะห์ไปใช้ในการวางแนวทางการแก้ไขปัญหาเชิงระบบ นอกจากนี้ อย. ยังมีแผนร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในการตรวจโรงคัดบรรจุผักและผลไม้ทั่วประเทศ และเก็บตัวอย่างผัก ผลไม้ ส่งตรวจวิเคราะห์หาสารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง จำนวน 1,530 ตัวอย่าง เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคอีกด้วย