หากเจาะประเด็นเรื่องเพศสภาพที่มีจิตใจรักษ์โลกมากที่สุด ต้องย้อนกลับไปในปี 2018 มีบริษัทที่รับทำวิจัยทางการตลาดชื่อ Mintel เปิดเผยข้อมูลว่า ผลิตภัณฑ์รักษ์โลกพุ่งเป้าไปที่ผู้บริโภคที่เป็น “ผู้หญิง” เพราะผู้หญิงรับผิดชอบดูแลงานบ้าน ซื้อของเข้าบ้าน ทำอาหาร ไปจนถึงคัดแยกขยะ ต่อเนื่องด้วยการสำรวจสถิติในสหราชอาณาจักร พบว่าผู้หญิง 71% ใส่ใจการอนุรักษ์ธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อม ในขณะที่มีผู้ชายเพียง 59% ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ทว่า นั่นอาจเป็นภาพรวมในอดีตและครอบคลุมสินค้ารักษ์โลก หรือผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ณ ขณะนั้น
ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นมากมาย ในขณะที่หลายคนหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมเพราะเริ่มเห็นผลกระทบที่จะเกิดกับโลกมากขึ้น จึงตระหนักถึงการเลือกซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกวัตถุดิบไปจนถึงการบรรจุลงหีบห่อ วิธีการจัดส่ง หรือเลือกแบรนด์ที่มีธรรมาภิบาลด้านความยั่งยืน
ในสหรัฐ นอกจากผู้หญิงแล้ว กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) ก็อินกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ทั้งการดำเนินชีวิตประจำวัน ไปจนถึงการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้กับพรรคการเมืองที่มีนโยบายก้าวหน้าและชัดเจนต่อการจัดการและบริหารสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ชาว LGBTQIA+ ยังแทรกประเด็นดังกล่าวในงาน Pride อย่างที่ Gilbert Baker ศิลปินชาวอเมริกันผู้ออกแบบธง Pride ก็ตั้งใจใช้แถบ “สีเขียว” ให้อยู่ถึ่งกลาง เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทน “ความเป็นธรรมชาติ” แม้ว่าการรักเพศเดียวกันจะเคยถูกตีตราว่าผิดธรรมชาติ แต่การเลือกให้สีเขียวอยู่ตรงกลางธง แสดงถึงความพยายามที่จะสร้างกระบวนความคิดของคนในสังคมใหม่ว่า LGBTQIA+ คือความสวยงามที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ
ข้อมูลจากสมาคมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโลก (World Travel & Tourism Council – WTTC) เปิดเผยข้อมูลกลุ่ม LGBTQIA+ ที่ชื่นชอบการเดินทางมีสัดส่วนมากกว่า 10% ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก และคิดเป็น 16% ของค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวทั้งหมด หรือมากกว่า 195 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และมีการคาดการณ์ว่ามูลค่าการใช้จ่ายเพื่อท่องเที่ยวของกลุ่ม LGBTQIA+ จะสูงถึง 568.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 19.70 ล้านล้านบาท ภายในปี 2573
นางสาวมรกต กุลดิลก นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก กล่าวว่า เมืองพัทยาพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQIA+ เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และเดินทางท่องเที่ยวบ่อยซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหารในเมืองพัทยาให้เติบโตขึ้นได้ และด้วยเสน่ห์ของนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQIA+ หากมีความพึงพอใจในการให้บริการก็จะกลับมาใช้บริการซ้ำ
ดังนั้น การให้บริการด้านการท่องเที่ยวที่ยอดเยี่ยมจะเป็นการสร้างความประทับใจและดึงดูดให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มาใช้บริการมากขึ้น สำหรับการสื่อสารด้านการตลาดเมืองพัทยามีการทำงานร่วมกับสมาคม องค์กรต่างๆ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQIA+ โดยเฉพาะการแสดงความเป็นมิตร และการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม รวมถึงทัศนคติของคนในท้องถิ่นต่อนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นสิ่งที่เมืองพัทยาให้ความสำคัญและจะช่วยสร้างความมั่นใจรวมถึงการตัดสินใจในการเดินทางของนักท่องเที่ยวได้
จากการสำรวจยังพบอีกว่า LGBTQIA+ เป็นกลุ่มที่กำลังซื้อสูง ชื่นชอบพักโรงแรมหรูระดับ 7,000 -8,000 บาทต่อวัน นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ พร้อมจ่ายเนื่องจากมีรายได้สูง ไม่มีภาระ หารายได้เก่ง มีเงินเก็บออมจำนวนมาก ที่สำคัญชื่นชอบแบรนด์ที่รักษ์โลกเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะโรงแรม ห้องพัก ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะตัดสินใจเลือกใช้บริการ
“กลุ่มลูกค้า LGBTQIA+ให้ความสำคัญโรงแรม ห้องพักรักษ์โลกมากขึ้น ชอบการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกลุ่มยุโรป และอเมริกา นักท่องเที่ยวมีการสำรวจว่ามีโรงแรมไหน ปล่อยน้ำเสียลงทะเล หรือไม่ โรงแรมไหนไม่รักสิ่งแวดล้อม มีการใช้พลาสติกในห้องหรือไม่ นักท่องเที่ยวจะมีสอบถามเข้ามาบ้าง เช่น การซักผ้าก็จะลดการซักผ้า ไม่จำเป็นก็ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หากโรงแรมไหนทำได้ก็จะเลือกเข้าพัก”
อย่างไรก็ตาม โรงแรมต่างๆ ได้มีการปรับตัวเองให้เป็นมิตรกับสิ่ง ด้วยการบริหารจัดการขยะได้ดีขึ้น การนำขยะมาเป็นปุ๋ย การรีไซเคิล จัดการขยะที่ถูกต้อง ลดขยะพลาสติก ลดปริมาณการซักผ้าที่ไม่จำเป็น เพื่อลดการทำลายสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันโรงแรมมีการตื่นตัวมากขึ้น ผลักดันโรงแรมสู่กรีนโฮเทล
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า LGBTQIA+ มีความสำคัญกับภาคธุรกิจ จึงทำให้มีการรณรงค์ให้เกิดความเท่าเทียม อย่างล่าสุด เคทีซีเปิดเวทีเสวนาสานต่อความเท่าเทียมทางเพศจากพัทยาสู่สากล ตอกย้ำองค์กรแห่งความเท่าเทียม ระดมความเห็นจาก หอการค้า สมาคมโรงแรมไทย และผู้ประกอบการภาคเอกชน ผลักดันพื้นที่พัทยาเป็นหนึ่งในเป้าหมายการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายทางเพศ ตั้งเป้าให้การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจไทยพร้อมวางกลยุทธ์สร้างความเท่าเทียมในสังคมเทียบเท่าเวทีโลก
ทางด้าน นางประณยา นิถานานนท์ ผู้บริหารสูงสุด สายงานการตลาดบัตรเครดิต “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เคทีซีให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคมและบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) โดยเฉพาะการให้โอกาสและความเท่าเทียมในสังคม รวมทั้งความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality) ทั้งในเรื่องการจ้างงาน การปฏิบัติต่อบุคลากรในองค์กรอย่างเท่าเทียม
ในขณะเดียวกันเคทีซีพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลกที่ต้องมาพร้อมความเท่าเทียมซึ่งพื้นที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ถือเป็นหนึ่งจุดหมายสำคัญด้านการท่องเที่ยวและรองรับนักท่องเที่ยวทุกเพศ ทุกวัย รวมถึงเป็นจังหวัดที่เคทีซีมีฐานสมาชิกและยอดรวมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมากเป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเคทีซีที่จังหวัดชลบุรีสุงสุด ได้แก่ หมวดน้ำมัน หมวดร้านอาหาร และหมวดท่องเที่ยว
นอกจากนี้ เคทีซียังให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรมการตลาดร่วมกับพันธมิตร (Partnership Marketing) ที่ตอบโจทย์สมาชิกทุกกลุ่ม โดยช่วงเดือนแห่งการเฉลิมฉลองความเท่าเทียมทางเพศ (Pride Month) เคทีซีได้ร่วมกับพันธมิตรชั้นนำทั่วประเทศมอบสิทธิพิเศษส่วนลดสูงสุด 40% และแลกรับเครดิตเงินคืนสูงสุด 18% ให้กับสมาชิกครอบคลุม 8 หมวดไลฟ์สไตล์ ได้แก่ ร้านอาหาร ท่องเที่ยว ช้อปปิ้ง แฟชั่น สุขภาพและความงาม หนังสือ กีฬา และสัตว์เลี้ยง ตลอดเดือนมิถุนายน 2567 เพื่อร่วมฉลอง Pride Month เดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ