สถาบันวิจัยสภาพภูมิอากาศ CICERO ในนอร์เวย์เผย โลกกำลังพลาดเป้าแก้โลกร้อน หลังจากพบว่าอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกในปีนี้เพิ่มสูงขึ้น 1.5% สวนทางกับแนวทางสู่เป้าหมายความตกลงปารีสที่ในปีนี้เราควรจะต้องลดอัตราการปล่อยคาร์บอนลง 5%
โลกเดินสวนทางแก้วิกฤตโลกเดือด
ผลตรวจการบ้านด้านการแก้ไขวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศออกแล้ว และผลประเมินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอัน เป็นต้นเหตุของสภาวะโลกร้อนในปีนี้ มนุษยชาติสอบตก เพราะแทนที่โลกจะเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และลดการปลดปล่อยคาร์บอนลงตามเป้าหมาย 5% แต่กลับพบว่า อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกลับสูงขึ้นถึง 1.5% และคาดว่าระดับการปล่อยคาร์บอนจะขึ้นสู่ระดับสูงสุดตลอดกาลภายในสิ้นปี 2566 นี้
Glen Peters ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของสถาบันวิจัยสภาพภูมิอากาศ CICERO ในนอร์เวย์ กล่าวว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของความตกลงปารีสในการจำกัดภาวะโลกร้อนและหลีกเลี่ยงผลกระทบวิกฤตภูมิอากาศ โลกจำเป็นที่จะต้องลดการปล่อยคาร์บอนลงครึ่งหนึ่งภายในทศวรรษนี้ ดังนั้นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกในปี 2566 ควรจะต้องลดลงประมาณ 5%
อย่างไรก็ตาม จากผลการประเมินโดยทีมวิจัย กลับพบว่า
โลกยังคงอัตราการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าปีนี้ เราจะเห็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นระหว่าง 0.5% - 1.5%
“มีความเป็นไปได้ยากอย่างยิ่งที่เราจะเห็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะลดลงในปี 2566” Peters กล่าว
เขาระบุว่า ผลการประเมินขั้นสุดท้ายจะเปิดเผยระหว่างการประชุมโลกร้อนประจำปี COP28 ที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ช่วงปลายปีนี้ เพื่อเป็นเครื่องย้ำเตือนให้ประชาคมต้องเร่งเจรจากรอบการแก้ไขปัญหาโลกร้อนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เร็วที่สุด ก่อนที่เราจะพลาดเป้าหมายในการป้องกันวิกฤตสภาพภูมิอากาศตลอดกาล
ทำไมเราต้องรีบลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเร็ว
ก๊าซเรือนกระจกอย่าง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ รวมถึงก๊าซพิษอื่นๆ อันเกิดจากกิจกรรมมนุษย์ ถือเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดปรากฎการณ์สภาวะโลกร้อน เพราะก๊าซเหล่านี้พอสะสมตัวมากเข้าในชั้นบรรยากาศ จะทำหน้าที่กักเก็บความร้อนที่โลกได้รับจากดวงอาทิตย์ ไม่ให้กระจายออกสู่อวกาศ ส่งผลให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
จากการประชุมความตกลงโลกร้อน COP21 ที่กรุงปารีส ประชาคมโลกได้ตกลงกันว่า เราจะต้องควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้พุ่งเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิเฉลี่ยโลกช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม เพราะนักวิทยาศาสตร์เตือนว่าอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นจนเกินเกณฑ์ดังกล่าว อาจก่อให้เกิดจุดเปลี่ยนอันตรายต่อระบบภูมิอากาศโลก นำไปสู่ภัยธรรมชาติร้ายแรงจนอารยธรรมมนุษย์ไม่อาจรับมือไหว
อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงทะลุเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส ภายในศตวรรษนี้ กำลังน้อยลงเรื่อยๆ จากการที่โลกยังคงปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นๆ ดังนั้นผลการประเมินชิ้นนี้ จึงอาจเป็น final call ก่อนที่มนุษยชาติจะพลาดเป้าหมายลดโลกร้อน และต้องเผชิญกับพิษการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสุดขั้วในอนาคตอันใกล้