ด้วยสภาวะของทะเลที่ยังคงเขียว จนได้ดึงดูดความสนใจของสำนักข่าวต่างประเทศให้เข้ามาช่วยประเทศไทยส่งเสียงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยังคงสร้างผลกระทบต่อเนื่องต่อชุมชนประมงท้องถิ่นและระบบนิเวศทางทะเล
สำนักข่าว Reuters รายงานวิกฤตแพลงก์ตอนบลูมในประเทศไทยว่า แพลงก์ตอนบลูมในทะเลไทยกำลังกระจายอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดภาวะทะเลตาย (Dead Zone) บริเวณทะเลนอกภาคตะวันออกของประเทศไทย หรือก็คือจังหวัดชลบุรี โดยแพลงก์ตอนบลูมมีปริมาณหนาแน่นมากจนผิดปกติ คุกคามการดำรงชีวิตของชาวประมงท้องถิ่น
นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลไทย เผยว่า บางพื้นที่ในอ่าวไทยมีปริมาณแพลงก์ตอนบลูมมากกว่าปกติถึง 10 เท่า ทำให้น้ำเปลี่ยนกลายเป็นสีเขียวอย่างกว้างขวาง คร่าชีวิตสัตว์ทะเลจำนวนมากกว่าพันชีวิต
แพลงก์ตอนบลูมมักจะเกิดขึ้นปีละ 1-2 ครั้ง ซึ่งปกติมันจะหายไปเองในช่วง 2-3 วัน ในช่วงที่พวกมันพองตัวกระจายทั่วน้ำ จะทำหน้าที่ผลิตสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม หรือทำลายสิ่งมีชีวิตในทะเลด้วยการบดบังแสงอาทิตย์และลดปริมาณออกซิเจนในแหล่งน้ำ
แต่การคาดหวังของเราไม่เป็นผล เมื่อแพลงก์ตอนบลูมชุดนี้อยู่นานกว่าที่คิด กระทบฟาร์มหอยแมลงภู่ มากกว่า 80% ของเกือบ ๆ 300 แปลงในพื้นที่ โดยหนึ่งในเจ้าของฟาร์มหอยบอกกับสำนักข่าวว่า ปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูมทำให้เขาขาดทุนมากกว่า 500,000 บาท และยังคงสร้างความสูญเสียที่ไม่อาจคาดเดาได้ต่อไปเรื่อย ๆ จนเขาต้องหยุดกิจการนี้ไปก่อน
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แพลงก์ตอนบลูมไม่เพียงแค่เปลี่ยนน้ำทะเลให้กลายเป็นสีเขียวเท่านั้น สัตว์น้ำที่เคยแหวกว่ายและสัตว์ที่อาศัยอยู่ในทรายชายฝั่งกลับหายไปจนเกลี้ยง เพราะไม่มีออกซิเจนให้ได้หายใจ
สาเหตุการอยู่ยาวของแพลงก์ตอนบลูมชุดนี้ ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าเกิดขึ้นเพราะปัจจัยใดกันแน่ แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า สภาพอากาศที่ร้อนจัดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และปรากฎการณ์เอลนีโญมีผลต่อแพลงก์ตอนบลูมชุดนี้ แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง บางคนก็เชื่อว่า ข่าวน้ำมันดิบรั่วกลางทะเลศรีราชาก็อาจมีเอี่ยวในวิกฤตนี้
นั่นหมายความว่า คลื่นความร้อน และเอลนีโญ ส่งผลกระทบต่อทะเลทั่วโลก และเป็นสิ่งที่เราควรกังวลกันมากขึ้นถึงมาตรการการป้องกันและการลดผลกระทบระยะยาว หลังตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีสัตว์น้ำตายมากกว่าล้านตัวแล้วทั่วโลก อันเป็นผลพวงมาจากความผิดปกติของสิ่งแวดล้อม