จาก ภาวะโลกร้อน ที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ประไทยจึงได้การจัดตั้ง "กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม" เพื่อรับมือกับสภาวะโลกร้อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนชื่อ “กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม” เป็น “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” โดยมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ปัจจุบัน ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก กำลังเป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนที่ทั่วโลกต่างกำลังเร่งสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเมื่อเลขาธิการสหประชาชาติได้ออกมาเผยว่า อุณหภูมิของพื้นผิวโลก และอุณหภูมิของมหาสมุทรในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาในปีนี้ อยู่ในระดับสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เป็นสัญญาณเตือนว่าเรากำลังเริ่มต้นสิ้นสุดยุคของ “ภาวะโลกร้อน” (Global Warming) และกำลังเข้าสู่ยุค “ภาวะโลกเดือด” (Global Boiling) แล้ว
การตั้ง "กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม" หรือ "กรม Climate Change" ในครั้งนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ประเทศไทยมีหน่วยงานรองรับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมโดยตรง ซึ่งอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมคนแรก คือนายสมศักดิ์ สรรพโกศลกุล ซึ่งจะทำหน้าที่ต่อเนื่องจากหน้าที่อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง >>
บทบาทและหน้าที่ของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
คือการจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการเกี่ยวกับการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ ลดก๊าซเรือนกระจก ประเมินความเสี่ยง และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดำเนินการ และเสนอแนวทางตามพันธกรณีของอนุสัญญา พิธีสาร และความตกลงระหว่างประเทศ รวมถึงการประสานความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชน และองค์กรในประเทศและต่างประเทศ เพื่อดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ นอกจากนี้ยังวิจัย พัฒนา ถ่ายทอด และส่งเสริมเทคโนโลยีการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม