svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

วิกฤตสภาพภูมิอากาศอาจทำทั่วโลกเข้าสู่วิกฤตความมั่นคงทางอาหาร

ลำดับหายนะของมวลมนุษย์ โลกร้อน > โลกรวน > โลกเดือด > ความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางอาหาร ภยันตรายที่ต้องเตรียมปรับตัวและรับมือ

ล่าสุด การประชุมว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทรายของ UN เตือนโลกอาจเจอกับวิกฤตขาดแคลนอาหาร ก่อนที่โลกอุณหภูมิเฉลี่ยโลกจะทะลุ 1.5 องศาเซลเซียส เพราะโลกกำลังเผชิญปัญหาทั้งจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศและปัญหาการขาดแคลนน้ำและการทำฟาร์มอย่างไม่มีประสิทธิภาพ

วิกฤตสภาพภูมิอากาศอาจทำทั่วโลกเข้าสู่วิกฤตความมั่นคงทางอาหาร

Alain-Richard Donwahi อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้นำการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย สมัยที่ 15 (UN Convention to Combat Desertification) เผยผลกระทบจากภัยแล้งสร้างปัญหามากกว่าที่คิด!

“ในขณะที่ทุกคนกำลังกังวลเรื่องเกณฑ์อุณหภูมิเฉลี่ย 1.5 องศาเซลเซียส แต่ความเป็นจริงแล้วมีหลายสิ่งที่เลวร้าย ทั้งการเสื่อมสภาพของดิน การขาดแคลนน้ำ และการกลายสภาพเป็นทะเลทราย ที่อาจเกิดขึ้นก่อนที่อุณหภูมิโลกจะสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียสก็เป็นได้ รวมทั้งอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น คลื่นความร้อน และภัยแล้งหรือน้ำท่วมที่หนัก จะทำให้เกิดวิกฤตการขาดแคลนอาหาร”

Climate Change ทำทั่วโลกเสี่ยงวิกฤตความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง

เพราะ "อาหาร" เป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ แม้ขณะนี้การขาดแคลนอาหารจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและอาจรุนแรงถึงชีวิตเพียงบางพื้นที่บนโลกใบนี้ แต่แนวโน้มที่มนุษย์อาจต้องเผชิญต่อความอดอยากและขาดแคลนอาหารนั้นจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ในปัจจุบัน ความมั่นคงด้านอาหาร (Food Security) กลายเป็นปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ที่หลายประเทศให้ความสำคัญ และสร้างมาตรการในการรับมือกับความท้าทายเพื่อความอยู่รอดของประชากน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของโลกจากการกระทำของมนุษย์ ทำให้ขีดความสามารถในการผลิตอาหารลดลง และส่งผลกระทบต่อราคาอาหารให้สูงขึ้น จนกระทั่งประชากรที่ยากจนไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้

วิกฤตสภาพภูมิอากาศอาจทำทั่วโลกเข้าสู่วิกฤตความมั่นคงทางอาหาร

ก่อนหน้านี้มีการเปิดเผยดัชนีความมั่นคงทางอาหาร (global food security index) ของ 113 ประเทศทั่วโลก พบว่า ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้คะแนนรวม 60.1คะแนน อันดับรวมอยู่ที่ 64 ของโลก ซึ่งปรับลดลงจากปี 2564 ที่เคยอยู่ลำดับที่ 51 

ซึ่งส่งผลให้อันดับความมั่นคงทางอาหารของไทยอยู่ในอันดับ 5 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยพบว่า ประเทศไทยได้คะแนนในเรื่อง "คุณภาพและความปลอดภัยด้านอาหาร" ต่ำสุด ซึ่งได้รับเพียง 45.3 คะแนนเท่านั้น

4 มิติความมั่นคงทางอาหาร (Food Security)

สำหรับความมั่นคงทางอาหาร องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations:  FAO) ให้นิยามหมายถึง สภาวะที่คนทุกคนและทุกขณะเวลามีความสามารถทั้งทางกายภาพและทางเศรษฐกิจที่สามารถเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อตอบสนองความต้องการและความพึงพอใจด้านอาหารเพื่อให้เกิดชีวิตที่มีพลังและมีสุขภาพ โดยได้แบ่งความหมายด้านความมั่นคงอาหารออกเป็น 4 มิติ ดังนี้

  1. การมีอาหารเพียงพอ Food Availability : อาหารมีคุณภาพที่เหมาะสมในปริมาณที่เพียงพอ ต่อความต้องการ ซึ่งอาจได้มาจากการผลิตภายในประเทศ หรือการนำเข้า
  2. การเข้าถึงอาหาร Food Access : ทุกคนเข้าถึงทรัพยากรภายใต้กฎหมาย การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศนั้น ให้ได้มาซึ่งอาหารที่มีคุณภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการ
  3. การใช้ประโยชน์จากอาหาร Food Utilization : การบริโภคอาหารเพื่อตอบสนองต่อความต้องการบริโภคของคน เน้นการมีสุขภาพและสุขอนามัยที่ดี อาหารในแง่นี้รวมถึงการมีน้ำดื่มที่สะอาดถูกสุขลักษณะอนามัยด้วย
  4. การมีเสถียรภาพด้านอาหาร Food Stability : ‘การมี’ และ ‘การเข้าถึง’ คือทุกคนเข้าถึงอาหารได้ตลอดเวลา ไม่มีความเสี่ยงเรื่องอาหารขาดแคลนจากวิกฤติใด ๆ ไม่ว่าจะทางเศรษฐกิจ วัฏจักรตามฤดูกาล หรือเพราะสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ ความไม่มั่นคงทางอาหาร สามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่กระทบต่อระบบนิเวศน์ สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารในระดับโลก เนื่องจากการเป็นประเทศที่ส่งออกวัตถุดิบและผลผลิตทางการเกษตรรายสำคัญของโลก การเพิ่มขึ้นของประชากรที่อาจทำให้เกิดการขาดแคลนทรัพยากรจากปริมาณความต้องการในการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น และพื้นที่ใช้สอยสำหรับการเกษตรลดลง

สำหรับปัจจัยที่น่าเป็นห่วงและต้องการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนคือ การสั่นคลอนความมั่นคงทางอาหารที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ Climate Change หรือภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลง และมีผลกระทบมาสู่อุตสาหกรรมอาหาร

วิกฤตสภาพภูมิอากาศอาจทำทั่วโลกเข้าสู่วิกฤตความมั่นคงทางอาหาร

โลกร้อน >โลกรวน>โลกเดือด>ความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางอาหาร

ในปี 2565 คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจนำไปสู่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงสุดขั้วและรุนแรงมากขึ้น เช่น คลื่นความร้อน ภัยแล้ง แผ่นดินไหว และน้ำท่วม ซึ่งหากระบบนิเวศและมนุษย์ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้ อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมและความมั่นคงทางอาหารตามมา

หากอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้นเกิน 1.5°C  หรือมากกว่านี้ จะนำไปสู่ความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางอาหารที่รุนแรงยิ่งขึ้น ประชากรจะพบกับความลำบากในการผลิตอาหารและการเข้าถึงแหล่งอาหาร พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเปราะบางและสามารถปรับตัวได้น้อยสุด ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงทางอาหารเป็นวงกว้างและรุนแรงยิ่งขึ้น

“เมื่อภาวะโลกร้อนยังคงเพิ่มขึ้นระดับอุณหภูมิ 2°C หรือมากกว่านี้ ความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางอาหารจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ภาวะโภชนาการไม่เพียงพอและเกิดการขาดสารอาหารระดับจุลภาคตามมา ซึ่งอาจกระจุกตัวอยู่ในภูมิภาคทะเลทรายซาฮารา เอเชียใต้ อเมริกากลางและใต้ รวมถึงหมู่เกาะน้อยใหญ่ ภาวะโลกร้อนจะทำให้สุขภาพของดินและระบบนิเวศอ่อนแอลงเรื่อยๆ เช่น การผสมเกสรโดยผึ้ง การลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ทะเลซึ่งเป็นการทำลายผลผลิตอาหารในหลายภูมิภาคทั้งบนบกและในมหาสมุทร” คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบุ

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอาจสร้างความเสียหายต่อระบบผลิตอาหารและห่วงโซ่อาหาร ทั้งด้านพืชผล ปศุสัตว์ และประมง สิ่งมีชีวิตอาจไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศได้ หรือระบบนิเวศน์ถูกทำลายหลังจากเกิดภัยพิบัติธรรมชาติ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพนี้เป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อความมั่นคงทางอาหาร เช่น การลดลงของแมลงผสมเกสรซึ่งอาจนำไปสู่ความล้มเหลวในการเพาะปลูกและความเสียหายต่อภาคอุตสาหกรรมเกษตร