svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

E-WASTE ขยะอิเล็กทรอนิกส์ทิ้งอย่างไรไม่ให้เป็นภาระโลก

E-WASTE ปัญหาขยะที่เป็นภาระสิ่งแวดล้อม ล่าสุด กทม.ร่วมมือภาคเอกชน ส่งเสริมการแยกทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ลงถัง E-WASTE ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

เริ่มแล้วสำหรับ "ถัง E-WASTE" หรือ "ถังขยะอิเล็กทรอนิกส์" จากภาคเอกชนจำนวน 52 ถัง ที่จัดทำขึ้นเพื่อรับและรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อนำไปจัดการอย่างถูกวิธี โดยจุดนำร่อง 52 จุดทั่วกรุงเทพมหานครในบริเวณสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต และที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า และศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง ซึ่งจะมีผู้ประกอบการภาคเอกชนเป็นผู้ดำเนินการจัดเก็บรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์และนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีตามหลักวิชาการ นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำ QR Code เพื่อเป็นจุดสแกนผ่านแอปพลิเคชัน ECOLIFE เมื่อมีการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ตามจุดที่กำหนดไว้ โดยสามารถสะสมแต้มและนำไปแลกสิทธิประโยชน์ในแอปพลิเคชัน ECOLIFE ได้อีกด้วย

E-WASTE ขยะอิเล็กทรอนิกส์ทิ้งอย่างไรไม่ให้เป็นภาระโลก

โดยประชาชนสามารถนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปใส่ถังขยะอิเล็กทรอนิกส์ตามจุดรับ ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สำหรับประเภทขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่รับ ณ จุดทิ้งขยะ ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด ลิเธียมแบตเตอรี่ที่ใช้ในโทรศัพท์มือถือ แล็ปท็อป ตู้เย็น คอมพิวเตอร์ รถยนต์ไฟฟ้า และตลับหมึกเครื่องพิมพ์

ส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่รับ ได้แก่ จอมอนิเตอร์รุ่นเก่า หรือจอซีอาร์ทีที่มีหลอดไอโอโดส ถ่านอัลคาไลน์ และหลอดไฟ  

E-WASTE ขยะอิเล็กทรอนิกส์ทิ้งอย่างไรไม่ให้เป็นภาระโลก

โดยการรวบรวม e-Waste ครั้งนี้เป็นการสนับสนุนนโยบายส่งเสริมการแยกทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นขยะอันตรายจากชุมชน และซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับนำไปรีไซเคิล หรือกำจัดอย่างถูกวิธี ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม กับบริษัท โทเทิล เอนไวโรเมนทอล โซลูชั่นส์ จำกัด และบริษัท คิดคิด จำกัด ที่เป็นผู้ดำเนินการจัดเก็บรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ และนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี

E-Waste ปัญหาขยะที่เป็น "ภาระสิ่งแวดล้อม"

เราอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกใช้แล้วทิ้ง ทั้งที่ชำรุดเสียหาย และไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้วก็จะกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ หากทิ้งไม่ถูกที่และกำจัดไม่ถูกวิธี จะกลายเป็นขยะที่อันตราย ไม่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ และมีสารประกอบที่เป็นพิษ

จากรายงาน UN’s Global E-Waste Monitor 2020 พบว่า ในปี 2019 ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกสูงถึง 53.6 ล้านเมตริกตัน เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 21 ในเวลาเพียง 5 ปีเท่านั้น อีกทั้งจากขยะอิเล็กทรอนิกส์หลายล้านเมตริกตันที่เกิดขึ้น มีขยะเพียงร้อยละ 17.4 เท่านั้นที่ถูกรวมรวม เพื่อส่งต่อไปยังสถานีรีไซเคิลอย่างเหมาะสม ทำให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันมีปริมาณเกือบเทียบเท่าบรรจุภัณฑ์พลาสติก 

ในขณะที่ประเทศไทยมีขยะอิเล็กทรอนิกส์จากชุมชนกว่า 380,000 ตันต่อปี แต่ขยะเหล่านี้กลับถูกรวบรวมเพื่อส่งต่อไปสถานีรีไซเคิลอย่างถูกวิธีเพียงร้อยละ 7.1 ขณะที่ส่วนที่เหลือถูกนำไปกองรวมกับขยะมูลฝอยอื่นๆ รอการฝังกลบ หรือมีบางส่วนถูกกระจายไปยังร้านรับซื้อของเก่า เพื่อนำไปคัดแยกและรวบรวมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่า 

ทำความเข้าใจวิธีจัดการ E-WASTE

กุญแจสำคัญในการลดปริมาณ E-WASTE  คือการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้เต็มประสิทธิภาพมากที่สุดจนหมดอายุการใช้งาน จากนั้นทำความเข้าใจวิธีจัดการ E-WASTE  เช่น การแยกส่วนประกอบเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่และรีไซเคิล โดยแสวงหาบริษัทที่มีความโปร่งใสในการจัดการที่เหมาะสมอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวงจรที่ทำลายสุขภาพแรงงานและสิ่งแวดล้อม

E-WASTE ขยะอิเล็กทรอนิกส์ทิ้งอย่างไรไม่ให้เป็นภาระโลก

ทั้งนี้ ตามระเบียบว่าด้วยการจัดการเศษซากเหลือทิ้งจากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หรือ WEEE (Waste from Electronic and Electronic Equipment) ที่เกิดขึ้นจากข้อตกลงของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ได้จำแนกขยะอิเล็กทรอนิกส์ ออกเป็น 10 ประเภท ดังนี้ 

  1. เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ภายในครัวเรือน เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า เครื่องล้างจาน
  2. เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กภายในครัวเรือน เช่น เครื่องดูดฝุ่น เตารีด เครื่องปิ้งขนมปัง เครื่องเป่าผม มีดโกนไฟฟ้า
  3. อุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก เครื่องสแกนเอกสาร โทรสาร โทรศัพท์ โทรศัพท์มือถือ
  4. เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคภายในบ้าน เช่น วิทยุ โทรทัศน์ กล้องถ่ายภาพ เครื่องเล่นดนตรีไฟฟ้า
  5. อุปกรณ์ให้แสงสว่าง เช่น หลอดไฟประเภทต่าง ๆ
  6. เครื่องมือไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น สว่านไฟฟ้า เลื่อยไฟฟ้า จักรเย็บผ้าไฟฟ้า
  7. ของเล่นหรืออุปกรณ์กีฬาที่ใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องเล่นเกมส์ ลู่วิ่งไฟฟ้า
  8. อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ 
  9. เครื่องมือตรวจวัดและควบคุมสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่น เครื่องตรวจจับควัน เครื่องควบคุมอุณหภูมิ แผงควบคุมต่างๆ
  10. เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ เช่น ตู้ ATM เครื่องจำหน่ายเครื่องดื่ม

จากผลกระทบต่างๆ ทำให้ทั่วโลกให้ความสำคัญและหาวิธีการในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เหมาะสม รวมถึงประเทศไทยด้วย ที่หลายหน่วยงานหลายบริษัทห้างร้านออกมาหาวิธีการจัดการ โดยตั้งจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ตามจุดต่างๆ ในชุมชน รวมถึงบริการฝากทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ของไปรษณีย์ไทยที่ให้บริการรับฝากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ใช้แล้วโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อส่งต่อไปยังสถานที่จัดการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเหมาะสมปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม โดยวิธีการจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ในเบื้องต้นจะนำไปแยกส่วนประกอบและวัตถุที่มีค่าภายใน เช่น โลหะ เงิน ทองคำขาว และทองแดง ออกมา แล้วนำไปรีไซเคิล อีกทั้งยังแยกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ต้องการแต่ยังสามารถใช้งานได้กลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง โดยจะนำมาซ่อมแซม และบริจาคให้กับผู้ที่ขาดแคลนต่อไป นับได้ว่าเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

จะเห็นได้ว่า หากเราแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ออกจากขยะประเภทอื่นๆ และส่งต่อไปยังหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะแล้ว จะทำให้ลดอันตรายจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งต่อตัวเราเอง และไม่เป็นภาระสิ่งแวดล้อมอีกด้วย