จากการประเมินของ International Centre for Integrated Mountain Development: ICIMOD (ศูนย์พัฒนาเทือกเขาแบบบูรณาการระหว่างประเทศ) ในกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล เผยว่า ตั้งแต่ปี 2010 การละลายของธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยเกิดขึ้นเร็วกว่าในช่วง 10 ปีก่อนหน้าถึง 65%
รายงานระบุว่า ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยฮินดูกูชละลายเร็วกว่าปกติ ซึ่งเทือกเขาลูกนี้ทอดยาวถึง 3,500 กิโลเมตร กินพื้นที่หลายประเทศ ทั้งบังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เนปาล ปากีสถาน อัฟกานิสถาน จีน และเมียนมาร์ ยังมีการคาดการณ์ว่าหากโลกร้อนขึ้น 1.5 - 2 องศาเซลเซียส ธารน้ำแข็งจะสูญเสียมวลธารน้ำแข็งไป 30-50% ภายในปี 2100
และแน่นอนว่าธารน้ำแข็งที่มีอาณาบริเวณใหญ่ขนาดนี้ หากละลายเร็วกว่าที่เคยเป็นและมีทีท่าว่าจะละลายเร็วขึ้นอีก จะส่งผลกระทบรุนแรงอย่างคาดไม่ถึง ไม่ว่าจะน้ำท่วมฉับพลันหรือหิมะถล่ม ล้วนส่งผลเสียกับชุมชนที่อยู่ท้ายน้ำ โดยภูมิภาคนี้มีแม่น้ำอยู่ 12 สาย ทั้งแม่น้ำคงคา แม่น้ำสินธุ รวมถึงแม่น้ำโขงด้วย ผู้คนกว่า 1.6 พันล้านคน ที่อาศัยยู่บริเวณนี้จะได้รับกระทบเป็นอย่างมาก
ย้อนไปในปี 2021 เคยมีเหตุการณ์ที่เป็นสัญญาณเตือนของภาวะโลกร้อนคือ ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยถล่มลงมาจนกลายเป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่ เกิดน้ำทะลักซัดเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ 2 แห่งในอินเดีย ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 20 ราย สูญหายอย่างน้อย 200 ราย และอีกสัญญาณเตือนจากโลกร้อนที่เราเคยได้ยินข่าวจามรีล้มตายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากหิมะตกเร็วเกินไปทำให้ทุ่งหญ้าที่เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ชนิดนี้ถูกคลุมไปด้วยหิมะ ไม่มีหญ้าให้พวกมันกินจนทำให้ต้องอดตาย
นักวิทยาศาสตร์เผยความน่ากังวลเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน ซึ่งอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศโลกสูงขึ้น ทำให้หิมะละลายเร็ว บวกกับหิมะตกน้อยลงเป็นตัวเร่งให้ธารน้ำแข็งละลายจนทำให้น้ำในทะเลสาบสูงขึ้นจนอยู่ระดับอันตราย
ขอขอบคุณที่มา : Reuters