svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

ทำความรู้จัก ‘หญ้าทะเล’ พืชเก่าแก่ ฮีโร่ช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล

‘หญ้าทะเล’ เป็นพืชที่มีความสำคัญกับระบบนิเวศทางทะเล ทั้งเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ทะเล อย่าง เต่าทะเลหรือพะยูน และยังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ อีกทั้งช่วยลดความรุนแรงของกระแสน้ำที่พัดเข้าฝั่งและช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำและป้องกันการพังทลายของหน้าดิน

รู้ไหมว่า หญ้าทะเ เป็นพืชที่วิวัฒนาการจากการเป็นพืชบกลงไปอยู่ในทะเลอย่างสมบูรณ์ หญ้าทะเลจมน้ำเกือบตลอดเวลา จะโผล่พ้นน้ำในเวลาที่น้ำลงเท่านั้น และขึ้นอยู่กับความลึกของน้ำทะเลในบริเวณนั้นๆ หญ้าทะเลจะชอบอยู่ในบริเวณที่ที่มีแสงแดดส่องถึงเพื่อใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสง คลื่นลมค่อนข้างสงบ ความเค็มของน้ำค่อนข้างคงที่ และความลึกของน้ำไม่เกิน 30 เมตร

หญ้าทะเลมีลักษณะโครงสร้างภายนอกคล้ายคลึงกับหญ้าที่เจริญอยู่บนบกซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนคือ

1. ราก เป็นส่วนที่ใช้ในการดูดซึมสารอาหารและแร่ราตุจากในดิน ทั้งยังช่วยในการยึดเกาะกับพื้นดินทำให้หญ้าทะเลมีความมั่นคง
2. เหง้า เป็นส่วนของลำต้นที่เจริญคืบคลานไปใต้พื้นผิวดิน
3. ใบ เป็นส่วนที่ใช้ในการสังเคราะห์ด้วยแสงเพื่อสร้างอาหาร มีรูปร่างแตกต่างกันตามแต่ชนิดของหญ้าทะเล มีทั้งชนิดที่ใบมีลักษณะเป็นแผ่นแบนและชนิดที่เป็นท่อกลม ใบของหญ้าทะเลถูกนำมาใช้เป็นลักษณะสำคัญในการจำแนกชนิดของหญ้าทะเล

ในประเทศไทยมีหญ้าทั้งหมด 13 ชนิด ประกอบด้วย กลุ่มที่มีใบแบน หรือ ใบกลมยาว ได้แก่ หญ้าคาทะเล, หญ้าต้นหอมทะเล, หญ้ากุยช่ายทะเล, หญ้ากุยช่ายเข็ม, หญ้าตะกานน้ำเค็ม, หญ้าชะเงาใบมน, หญ้าชะเงาใบฟันเลื่อย และหญ้าชะเงาเต่า และกลุ่มที่มีใบแบนสั้นรูปรี ได้แก่ หญ้าเงา หรือหญ้าใบมะกรูด หรือหญ้าอำพัน, หญ้าเงาใบเล็ก, หญ้าเงาใบใหญ่, หญ้าเงาใส และหญ้าเงาแคระ

อุปสรรคสำคัญในการเติบโตของหญ้าทะเลคือ ตะกอน ซึ่งเกิดจากฤดูกาลและกิจกรรมตามชายฝั่งของมนุษย์ ปัจจุบันหญ้าทะเลถูกให้ความสนใจและช่วยกันดูแลมากขึ้น ซึ่งการที่เราจะฟื้นฟูหญ้าทะเลในพื้นที่นั้นๆ ให้มีการเจริญเติบโตได้ดี ควรให้ความสำคัญกับปัจจัยต่อไปนี้

-สถานที่ในการฟื้นฟูหญ้าทะเล ควรเลือกพื้นที่ที่เป็นอ่าวหลบลม เพราะเมื่อหญ้าลงดินจะฟื้นตัวได้ และจะค่อยๆ แผ่ขยายตัวออกไปเอง เช่นเดียวกับการปลูกต้นไม้ หากไม่ยึดดินบวกกับคลื่นลมแรง หญ้าก็จะหลุดลอยไปได้ เพราะฉะนั้นการเลือกพื้นที่เป็นสิ่งสำคัญในการปลูกหญ้าทะเล
-ชนิดของหญ้าทะเลกับพื้นที่ที่ปลูก เราควรดูว่าหญ้าทะเลเดิมในพื้นที่นั้นเป็นหญ้าชนิดไหนที่สามารถเติบโตได้ อย่างเช่น โซนจังหวัดระยองเป็นหญ้ากุยช่ายทะเล 

หญ้าทะเลอีกชนิดที่น่าสนใจในการปลูกคือ หญ้าคาทะเล ซึ่งมีลักษณะใบใหญ่ปลูกง่าย และค่อนข้างมีอัตรารอดที่ ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ที่เป็นเลนนิดหน่อย อย่าง อ่าวคุ้งกระเบน จ.จันทบุรี และที่อ่าวธรรมชาติ จ.ตราด

ขอขอบคุณที่มา : ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ / ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตะวันออก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตะวันออก