เรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) เริ่มส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยเมื่อต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ World Meteorological Organization (WMO) ได้ออกรายงานใหม่ ระบุว่านี่จะเป็นครั้งแรกที่อุณหภูมิโลกมีโอกาสทะลุ 1.5 องศาเซลเซียส อันเนื่องมาจากสาเหตุใหญ่คือ "เอลนีโญ" ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้
“นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีแนวโน้มว่าโลกเราจะร้อนเกิน 1.5 องศาเซลเซียส” Adam Scaife หัวหน้าฝ่ายคาดการณ์ระยะยาวของ WMO กล่าว
ทั้งนี้ การที่อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นทะลุ 1.5 องศาเซลเซียส แม้เพียงปีเดียวก็เป็นสัญญาณที่น่ากังวลว่า "ภาวะโลกร้อน" กำลังเร่งตัวขึ้น โดยการประเมินก่อนหน้านี้ในปี 2017 - 2021 ความคิดที่นักวิทยาศาสตร์คิดว่าโลกจะร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส มีเพียง 10% แต่ปรากฏว่าในปี 2022 นักวิทยาศาสตร์ต่างบอกว่ามีโอกาสที่จะเกิดเพิ่มขึ้นถึง 50-50
จากความกังวลในเรื่องดังกล่าว ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์เปิดตัวคู่มือประชาชนรับมืออากาศร้อนจัดจากเอลนีโญ โดย เกรซ ฟู รัฐมนตรีกระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมสิงคโปร์ กล่าวว่า คู่มือนี้จะเผยแพร่ให้ชาวสิงคโปร์ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า โดยในคำแนะนำจะระบุถึงการวางแผนกิจกรรมและมาตรการป้องกันที่ต้องดำเนินการ หรือแม้แต่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่จะสวมใส่สำหรับกิจกรรมกลางแจ้งภายใต้สภาพอากาศอันร้อนระอุ
“เราคาดว่าจะมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากความร้อนและสภาพอากาศที่แปรปรวน” รัฐมนตรีกระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมสิงคโปร์ กล่าว
ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาสิงคโปร์ ระบุว่ามีโอกาสประมาณ 70% ที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญในปีนี้ ซึ่งจะทำให้สภาพอากาศทั่วโลกร้อนและแห้งแล้งมากขึ้น โดยในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา สิงโปร์มีอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์วัดได้ 37 องศาเซลเซียสในรอบ 40 ปี เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียที่ประสบกับคลื่นความร้อนและอุณหภูมิที่พุ่งสูงที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ อย่างเช่น จีน ลาว ไทย และเวียดนาม
นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังแสดงท่าทีเผยความกังวลจากปัญหาอุณหภูมิที่สูงขึ้น ว่าจะเพิ่มความถี่ของการขาดแคลนพลังงานและน้ำด้วย
“สิ่งนี้จะรบกวนกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจของเรา และนำไปสู่วงจรอุบาทว์ของความต้องการพลังงานที่สูงขึ้น เนื่องจากการใช้เครื่องปรับอากาศและอุปกรณ์บำบัดน้ำที่มากขึ้น”
source : straitstimes/singapore