สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติโอบอุ้มทุกชีวิตบนโลก มีค่าเพียงไหนเราต่างรู้ดี ในทุกๆ ปี เราจึงมีวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) เพื่อให้ทุกคนตระหนักและเห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อม โดยจุดเริ่มต้นของวันสิ่งแวดล้อมโลก เกิดขึ้นเพราะความตื่นตัวในด้านวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมขึ้นทั่วโลก โดยที่ประชุมสหประชาชาติ ระหว่างวันที่ 5-16 มิถุนายน ในปี พ.ศ. 2515 ครั้งที่รัฐบาลของสวีเดนเป็นเจ้าภาพ ได้มีการกำหนดวันสำคัญดังกล่าวนี้ขึ้น ซึ่งเรียกการประชุมนี้ว่า การประชุมสหประชาชาติเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ หรือ UN Conference on the Human Environment มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 1,200 คน จาก 113 ประเทศ รวมถึงมีผู้สังเกตการณ์อีกกว่า 1,500 คนจากหน่วยงานของรัฐ องค์การสหประชาชาติ และสื่อมวลชนแขนงต่างๆ
ผลจากการประชุมครั้งนั้นได้มีข้อตกลงร่วมกันหลายประเด็น อาทิ การจัดตั้งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP : United Nations Environment Programme) ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา และรัฐบาลประเทศต่างๆ ก็ได้รับข้อตกลงจากการประชุมคราวนั้นไปจัดตั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในประเทศของตน ดังนั้น เพื่อเป็นการระลึกถึงจุดเริ่มต้นของการร่วมมือจากหลากหลายชาติในด้านสิ่งแวดล้อม องค์การสหประชาชาติจึงได้ประกาศให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) พร้อมจัดให้มีคําขวัญ และหัวข้อเพื่อการรณรงค์แต่ละปีต่างๆ กัน
สำหรับปีนี้ธีมวันสิ่งแวดล้อมโลกปี 2023 โฟกัสหลักของ UN ก็คือการหาวิธีแก้ไขปัญหามลพิษพลาสติก (Plastic Pollution) ภายใต้แคมเปญ #BeatPlasticPollution ซึ่งประเทศโกตดิวัวร์ หรือไอวอรีโคสต์ เป็นเจ้าภาพจัดงานวันสิ่งแวดล้อมโลก 2566 (World Environment Day 2023) ด้วยความร่วมมือจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ปีนี้ยังถือเป็นโอกาสครบรอบ 50 ปีของวันสิ่งแวดล้อมโลกอีกด้วยซึ่งเป็นการเตือนใจว่าการกระทำของผู้คนเกี่ยวกับพลาสติกนั้นกำลังค่อยๆ ซึมลงสู่มหาสมุทร ดิน และป่าไม้ของเรา และก่อให้เกิดความเสียหายที่ไม่อาจแก้ไขได้
วันสิ่งแวดล้อมโลกในปีนี้ โลกคงอยู่ในช่วงเวลาที่ระดับอุณหภูมิสูงกว่าที่เคยเป็น พายุและไซโคลนผิดปกติ และกลายเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นซึ่งเตือนเราทุกวันเกี่ยวกับความเสียหายที่ไม่อาจแก้ไขได้ วันสิ่งแวดล้อมโลกจึงให้ความหวังและโอกาสแก่เราทุกคนในการทำความดี เพื่อการปกป้องสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่ดีของโลกมากขึ้น
สถานการณ์สิ่งแวดล้อมในปีนี้ หลายประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องขยะพลาสติกต่อเนื่องมากจากปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับสถานการณ์สภาพอากาศ โดยเฉพาะในประเทศไทยซึ่งปีนี้มีอุณหภูมิสูงขึ้นในหลายพื้นที่ และยังมีรายงานว่าสถานการณ์อุณหภูมิในเดือนเมษายนที่ผ่านมาของหลายประเทศในทวีปเอเชีย จัดว่าทำลายสถิติสูงสุดเท่าที่เคยมีการบันทึกกันมา สำหรับประเทศไทยหน้าร้อนที่ผ่านมานี้เราเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดทะลุ 40 องศาเซลเซียสในหลายจังหวัดอันเป็นผลกระทบจากหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมประเทศไทยในระดับท้องถิ่น อีกทั้งในปีนี้เรายังคุ้นเคยกับโรคที่มากับความร้อนอย่าง”ฮีทสโตรก” หรือโรคลมแดด ที่คร่าชีวิตคนมีชื่อเสียงไป ซึ่งโรคนี้เกิดจากภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงมากจนทำให้เกิดภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ และมีอุณหภูมิกายมากกว่า 40 องศาเซลเซียส ร่วมกับภาวะที่มีความรู้สึกตัวที่ผิดปกติไป เช่น อาจจะหมดสติหรือมีภาวะชักได้
นอกจากประกฏการณ์เรื่องความร้อนและคลื่นความร้อนแล้ว ในปีนี้หลายหน่วยยังจับตาปรากฏการณ์เอลนีโญที่ส่งสัญญาณว่าประเทศไทยในปีนี้อาจจะเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งมากขึ้น ประกอบกับ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่า สถานการณ์ดังกล่าว อาจส่งผลให้เกิดฝนตกน้อยกว่าปกติ และกรมชลประทาน ได้เตรียมแผนรับมือ สั่งเร่งเก็บกักน้ำทั่วประเทศ ควบคู่ไปกับการเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง ข้อมูลจากกรมชลประทาน ระบุว่า คาดการณ์ได้ว่าปรากฎการณ์เอลนีโญ ในช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายนนี้ จะส่งผลให้ทั้งประเทศไทยเกิดฝนตกน้อยกว่าปกติ นั่นทำให้กรมชลประทาน จึงได้เตรียมแผนรับมือตั้งแต่ช่วงฤดูฝนปี 2566 นี้เป็นต้นไป เพื่อลดผลกระทบต่อสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ เฝ้าระวัง ติดตาม และประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ ที่สำคัญให้เร่งเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำที่กรมชลประทานได้ปรับปฏิทินเพาะปลูกให้เกษตรกรได้เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึง
“รักษ์โลก ลดพลาสติก”
ธีมในปีนี้ที่เน้นสร้างความตระหนักถึงปัญหาใหญ่ "ขยะพลาสติก" ซึ่งใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 450 ปี ถ้ามองให้เห็นภาพ ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 1 กิโลกรัม จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 8.3 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบได้กับขนาดลูกบอล 1 ลูก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เมตร
เป้าหมายประเทศไทยในแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติกระยะที่ 2 (พ.ศ.2566-2570)
ซึ่งทุกฝ่ายหวังว่าทุกความร่วมมือจะก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงต่อสิ่งแวดล้อม