อำเภอ เป็นพื้นที่มีขนาดเล็กกว่าจังหวัดมาก ทั้งยังมีหน่วยเศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครองที่หลากหลายและครบครัน มีภาคส่วนทางเศรษฐกิจครอบคลุมการเกษตร อุตสาหกรรม หัตกรรม ท่องเที่ยวชุมชนและการบริการแบบสมัยใหม่
ดังเช่นที่อำเภอดอยสะเก็ด ที่นั่นมี "เชียงใหม่ศิลาดล"เป็นตัวอย่างของภาคธุรกิจเอกชนที่ผลิตและจำหน่ายสินค้าอันเป็นศิลปะหัตถกรรมจากภูมิปัญญาโบราณผสมผสานกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
ส่วนเมืองลวงข่วงไทลื้อเป็นตัวอย่างการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ใช้งานวิจัยและการจัดการความรู้มาเป็นเครื่องมือการขับเคลื่อน เชียงใหม่ศิลาดล
"ห้างหุ้นส่วนจำกัดเชียงใหม่ศิลาดล"(๒๐๑๕) เป็นตัวอย่างของ SME ท้องถิ่น ผู้บุกเบิกพัฒนาการผลิตและจำหน่ายเครื่องเคลือบศิลาดล ภายใต้แบรนด์ Chiangmai Celadon จนกลายเป็นศูนย์หัตถอุตสาหกรรมที่มีชื่อเสียง เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวและลูกค้า ทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศ
"ศิลาดล" มาจากคำว่า Celadon หรือเครื่องสังคโลกตามภาษาฝรั่งเศส ในสมัยสุโขทัย (พ.ศ. ๑๕๐๓ – ๑๘๒๒) ที่นั่นเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาประเภทสโตนแวร์(Stoneware) เคลือบสีเขียวไข่กา ซึ่งนิยมเรียกว่า “เครื่องสังค โลก” เรียกชื่อตามแหล่งเตาเผาที่ผลิต ซึ่งมีอยู่มากที่อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย
เครื่องถ้วยเซลาดอนนี้มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน สุโขทัยเป็นแหล่งผลิตเครื่องสังคโลกของไทยมาต่อเนื่องนานกว่า ๒๐๐ ปี ดังได้พบซากเตาเผาเก่าที่ ตำบลบ้านเกาะน้อย และ ตำบลป่ายาง จำนวนหลายร้อยเตา ผลิตเป็นสินค้าส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ เป็นรูปแบบของอุตสาหกรรมในยุคโบราณ พบชิ้นงานเครื่องเคลือบเซลาดอนชิ้นงามที่มีความสมบูรณ์ตามเส้นทางการเดินเรือติดต่อค้าขาย ที่อินโดนีเซีย ชวา สุมาตรา มะละกา ฟิลิปปินส์และญี่ปุ่น สมัยอยุธยา(พ.ศ. ๒๑๐๐ – ๒๓๑๐) มีการสั่งผลิตภัณฑ์พอร์ตสเลน (Porcelain) จากจีนเข้ามาใช้ในราชสำนักจำนวนมาก เป็นเครื่องปั้นดินเผา เนื้อขาวกึ่งแก้ว ทำมาจากมณฑลเจียงซี ไทยเรียกว่าเครื่องกังไสหรือเครื่องลายคราม
เซลาดอนในจังหวัดเชียงใหม่ แต่เดิมมีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาอุณหภูมิต่ำเป็นผลิตภัณฑ์ดินแดง (Terra Cotta) ไม่เคลือบ ต่อมาชาวไทยใหญ่จากรัฐฉานอพยพมาตั้งถิ่นฐาน มีการตั้งเตาฟืนหลายเตาที่บริเวณตลาดประตูช้างเผือก ใช้เทคนิคเคลือบขี้เถ้าไม้ เผาที่อุณหภูมิสูง ผลิตหม้อแช่ข้าวนึ่ง กระถาง ขารอง ตู้กับข้าว เป็นสินค้าที่ใช้ในท้องถิ่น และผลิตเป็นเนื้อดินสโตนแวร์เคลือบสีเขียวเซลาดอน
มีชาวต่างชาติเป็นเจ้าของโรงงานหลายแห่ง ออกแบบหลากหลาย ส่วนใหญ่ยังผลิตแบบดั้งเดิมโดยใช้ฝีมือแรงงาน น้ำเคลือบใช้สูตรโบราณจากขี้เถ้าไม้ยืนต้นจากไม้ก่อและไม้รกฟ้า เชียงใหม่จึงเป็นแหล่งผลิตเซลาดอนแบบดั้งเดิมที่อนุรักษ์ความงามของศิลปะสมัยสุโขทัยไว้
"คิดถึงศิลาดลคิดถึงจังหวัดเชียงใหม่" ปัจจุบันมีการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(GI) ได้รับรางวัลและมาตรฐานมากมาย คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและพัฒนาเชียงใหม่ศิลาดลในทุกด้าน ตั้งแต่กระบวนการผลิตสินค้าไปจนถึงการบริการที่พักและอาหาร มีรายได้ ความภาคภูมิใจ ความสุขในการทำงาน เยาวชนนำสื่อ Social Media สนับสนุนการตลาด เมืองลวงข่วงไทลื้อ
ชุมชนไทลื้อบ้านลวงเหนือ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพมาจากสิบสองปันนา ทางตอนใต้ของมณฑลยูนาน ประเทศจีน เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๓๒ ในช่วงสมัยของพระเจ้าแสนเมือง กษัตริย์ของราชวงศ์มังรายแห่งอาณาจักรล้านนา ลงหลักปักฐานสร้างชุมชนบริเวณ "เมืองลวงเหนือ" หมายถึง ถิ่นที่อยู่ที่มีพญาลวงอันเป็นสัตว์ประเสริฐตามจินตนาการของคนไทลื้อ ออกมาเล่นฟ้า(เมฆ)เพื่ออำนวยอวยพรให้ผู้คนอยู่ดีมีสุข
"วัดศรีมุงเมือง" ที่เป็นแหล่งรวมจิตใจของคนในชุมชน สร้างในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน กษัตริย์ล้านนาองค์ที่ ๘ (พ.ศ. ๑๙๔๕ – ๑๙๘๔) หลักฐานที่จารึก ชื่อ วัน เดือน ปี ที่สร้างหมู่บ้าน คำเล่าขานของบรรพบุรุษ ประกอบกับตำนานการสร้างวัดศรีมุงเมือง และเอกสารการวิจัย สันนิษฐานได้ว่าคนไทลื้อเมืองลวงเหนือ อพยพเข้ามาในหลายช่วงเวลา ด้วยเหตุลี้ภัยสงคราม ตามเสด็จพระเจ้าแสนเมือง ตามหาญาติพี่น้อง และแสวงหาที่ทำกินที่อุดมสมบูรณ์
คนไทลื้อใช้ชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ด้วยความภาคภูมิใจและต้องการเผยแพร่วิถีวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ ชุมชนจึงพร้อมใจกันทำวิจัย “แนวทางการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทลื้อ”โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ได้ข้อมูล เอกสารและตำราต่าง ๆ จากชุมชน จัดเก็บไว้เป็นระบบ และชุมชนมีความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมของตนอย่างชัดเจน จนได้มาซึ่งโปรแกรมการท่องเที่ยวโดยชุมชน "เมืองลวงข่วงไทลื้อ" ปรากฏอยู่ในแอปพลิเคชัน CBT JOURNEY
จุดเด่นชุมชน ได้แก่ วิถีชีวิตเกษตรกรรม ภาษาเหนือในการสื่อสาร ผู้หญิงนิยมสวมเสื้อปัด ผู้ชายสวมเตี่ยวสะดอ และจะมีผ้าสี่แจ่ง (ผ้าสี่มุม) หรือ ผ้าเคียนหัวสีขาวโพกอยู่บนหัวเวลาออกไปทำงานกลางแจ้ง อาหารไทลื้อ ศิลปะ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาไทลื้อถือเป็นทรัพยากรทางการท่องเที่ยว